ศาลเกาหลียืนยันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีสิทธิ์เก็บค่าเชื่อมต่อจากสตรีมมิ่งเพิ่มเติม Netflix โดนเต็มๆ

by sunnywalker
29 June 2021 - 03:56

เป็นอีกข่าวสารที่ต้องจับตามอง เมื่อศาลเกาหลีใต้ยกฟ้องคำฟ้องของ Netflix ที่กล่าวหา SK Broadband ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่าต้องการเก็บค่าบริการซ้อน (double billing) หลังจาก SK Broadband พยายามเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจาก Netflix

เรื่องราวเริ่มต้นจาก SK Broadband ยื่นฟ้องไปยังคณะกรรมการการสื่อสารแห่งเกาหลีในเดือนพฤศจิกายน 2019 เนื่องจาก Netflix เป็นบริการใหญ่ ใช้แบนด์วิธมาก จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ผู้ให้บริการเครือข่ายบ้าง และ Netflix ก็ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือนเมษายน 2020 บอกว่าตนไม่มีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนี้ และถือว่า SK Broadband เรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน เพราะผู้ใช้งานได้จ่ายค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์ม OTT แยกจากค่าสมัครสมาชิกอยู่แล้ว

จนกระทั่งล่าสุด ศาลแขวงในกรุงโซล ปัดตกคำร้องของ Netflix โดยระบุว่า เป็นการเจรจาระหว่างคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือไม่

ด้าน SK Broadband ก็ออกมาบอกว่า Netflix จ่ายค่าธรรมเนียมใช้เน็ตในประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐฯอยู่แล้ว จำเป็นต้องจ่ายในเกาหลีใต้ด้วย

อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตเกาหลีมีแนวทางเรียกเก็บค่าบริการเน็ตเวิร์คจากผู้ให้บริการคอนเทนต์รายใหญ่เป็นเรื่องปกติ ก่อนหน้านี้โซเชียลใหญ่ในเกาหลีอย่าง Naver และ Kakao ก็จ่ายค่าธรรมเนียมให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว 7 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 2,000 ล้านบาท) และ 3 หมื่นล้านวอน (850 ล้านบาท) ต่อปีตามลำดับ ซึ่งจากการคาดการณ์ Netflix จะต้องจ่ายค่าบริการเน็ตเวิร์คให้บรรดาค่ายรวมแล้ว 1 แสนล้านวอน

Netflix ระบุว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศอื่นๆ เป็นการจ่ายค่าบริการเพื่อติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ CDN ที่ Netflix เรียกว่า Open Connect Appliance เท่านั้น ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในการใช้เน็ตเวิร์คแต่อย่างใด

คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้สตรีมมิ่งอื่นที่จะเข้ามาในตลาดเกาหลีใต้ด้วย เช่น Disney+, Apple TV Plus, Amazon Prime และ HBO Max

ในสหรัฐฯ และอีกหลายชาติ หน่วยงานกำกับดูแลมักยึดหลักความเสมอภาคทางเน็ต หรือ Net Neutrality หรือแนวคิดในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ใดได้ใช้ช่องทางด่วนพิเศษ และห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกีดกันบริการใดบริการหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีการบังคับใช้หลักความเสมอภาคทางเน็ต ผู้ให้บริการเครือข่ายหรือ ISP จะสามารถควบคุมความเร็วและคุณภาพของเนื้อหาที่เราบริโภคผ่านอินเทอร์เน็ตได้

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ยังเป็นที่ถกเถียงมายาวนานและมีความซับซ้อน ภูมิภาคที่มีความจริงจังเรื่องความเสมอภาคทางเน็ตคือยุโรป ส่วนในสหรัฐฯ FCC หน่วยงานจัดการการสื่อสารและคลื่นความถี่ของสหรัฐอเมริกา เคยพยายามกำกับดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามแนวทางนี้ แต่เปลี่ยนนโยบายไปในรัฐบาลทรัมป์ อย่างไรก็ดีสหรัฐฯ ยังมีกฎหมายของแต่ละรัฐในสหรัฐฯ ที่บังคับแนวทาง Net Neutrality อยู่

ที่มา - Korea Herald, Korea Economic Daily

Blognone Jobs Premium