ทีมดีไซน์ของไมโครซอฟท์ เขียนบล็อกเล่าเบื้องหลังและแนวคิดการออกแบบ Windows 11 ว่าเริ่มทำในยุค COVID-19 ที่โลกเปลี่ยนไปจากเดิม กระบวนการวิจัยผู้ใช้จึงพบข้อมูลใหม่หลายอย่าง
- หลักการสำคัญที่สุดคือ calmness (ความสงบ) ซึ่งเป็นสิ่งที่คนต้องการในโลกยุคที่วุ่นวาย การออกแบบจึงอิงอยู่บนความคุ้นเคยเดิม แต่ปรับดีไซน์ให้อ่อนโยนขึ้น (soften) และเน้นอารมณ์ความรู้สึก (emotional connection) มากกว่าเดิม
- หลักการอีกข้อคือ พีซีกลับมาเป็นศูนย์กลางอีกครั้ง หลังถูกอุปกรณ์พกพาบดบังไปนาน จุดเด่นของพีซีคือความยืดหยุ่น (flexibility) ที่ช่วยให้ทำงานได้จากทุกแห่ง
- หลักการข้อสุดท้ายคือ การเรียนรู้และการปรับตัวของผู้คนกับสิ่งใหม่ๆ เช่น การทำงานไฮบริด การเรียนออนไลน์ การหาความบันเทิงภายใต้ข้อจำกัดในบ้าน ในแง่การออกแบบจึงต้องพยายามให้คนโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ได้ง่ายขึ้น
ไมโครซอฟท์หยิบเคส Start Menu ตัวใหม่มาพูดถึงแนวคิดการออกแบบว่า
- ปรับหน้าตาให้สะอาด เรียบง่ายขึ้น มีสิ่งรบกวนน้อยลง (lesser noise) จึงโฟกัสที่แอพที่ใช้บ่อย และเอกสารที่ต้องใช้
- ปรับหน้าตาให้เหมาะกับอุปกรณ์ทุกแบบ ทุกขนาดหน้าจอ ตั้งแต่ Surface Go ไปจนถึงจอ ultrawide
- ปรับโลโก้ Windows ใหม่ให้สอดคล้องกับภาษาออกแบบยุคใหม่ ใส่แอนิเมชันเพื่อแสดงถึงความมั่นใจในการกดปุ่ม (confidence to interaction)
- ภาพพื้นหลังของ Windows ถูกเลือกมาให้เหมาะกับตำแหน่ง Start Menu อยู่ตรงกลางมากขึ้น
ภาพรวมของระบบปฏิบัติการเอง จะเคารพในงานที่เราทำอยู่มากขึ้น จะจดจำว่าเรากำลังทำอะไรค้างไว้ โดยไม่มาขัดจังหวะของเรา
- หลักการคือมองว่า เดสก์ท็อปดิจิทัลเหมือนกับโต๊ะทำงานจริงๆ (digital equivalent of your work desk)
- ระบบจัดการหน้าต่างแบบ snap จะจำวิธีจัดการหน้าต่างแบบที่เราชอบ
- ระบบ widget แบบใหม่ ออกแบบมาให้เคารพ flow การทำงานของเรา
ระบบปฏิบัติการยังมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น
- ขอบโค้งมนกว่าเดิม ใช้สีโทนอุ่นมากขึ้น
- ให้ตั้งชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนติดตั้ง แทนการตั้งชื่อแบบสุ่มมาให้เปลี่ยนทีหลัง
ที่มา - Microsoft