กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นออกเอกสารเผยแพร่การป้องกันญี่ปุ่นในปี 2021 โดยระบุภัยที่ต้องรับมือในด้านต่างๆ ทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เช่น เกาหลีเหนือที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หรือจีนที่พยายามรุกน่านน้ำ แต่ในแนวทางส่วนที่ 3 ระบุถึงภัยด้านเทคโนโลยีที่กลาโหมกำลังเตรียมรับมือ ได้แก่ ด้านอวกาศ, ด้านภัยไซเบอร์, และด้านคลื่นความถี่
ด้านอวกาศนั้นเอกสารระบุข้อมูลจากดาวเทียมมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการเก็บข้อมูลทั่วไป เช่นสภาพอากาศ, การสื่อสารภายในกองทัพและสื่อสารกับพันธมิตร, ไปจนถึงการสอดแนมต่างๆ แต่ทุกวันนี้ดาวเทียมก็มีความเสี่ยงจากขยะอวกาศและอาวุธต่อต้านดาวเทียม
ด้านภัยไซเบอร์นั้น ระบบไอทีของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นอาจจะตกเป็นเป้าการโจมตีไซเบอร์ โดยเฉพาะการโจมตีเช่นนี้ใช้ต้นทุนไม่สูงนัก แต่สามารถทำลายการสั่งการกองกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือฝ่ายตรงข้ามอาจจะใช้มัลแวร์เก็บข้อมูลการทำงานของกองกำลังป้องกันตนเอง
ด้านคลื่นความถี่เป็นผลจากการที่ยุทโธปกรณ์ยุคใหม่ต้องการการเชื่อมต่อระหว่างกันอย่างมาก เช่น โดรนบินที่ต้องอาศัยคลื่นความถี่ควบคุม อาวุธยุคใหม่หลายชิ้นเป็นการรบกวนคลื่นความถี่ที่ฝ่ายตรงข้ามใช้งานเพื่อตัดการสื่อสาร
รายงานพูดถึงการเตรียมการรับมือด้านต่างๆ ของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ที่มีศูนย์มอนิเตอร์วัตถุในอวกาศ, พัฒนาบุคคลากรด้านไซเบอร์, ตลอดจนตั้งหน่วยรบด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟและเลเซอร์กำลังสูง
ที่มา - mod.go.jp
ภาพธงกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น โดย Rikujojieitai Boueisho