อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจของ Steam Deck คือ SteamOS 3.0 ระบบปฏิบัติการ ที่มี Arch Linux + KDE เป็นเบื้องหลัง แต่เกมส่วนใหญ่บน Steam นั้นรองรับเฉพาะ Windows
Steam มีระบบ Steam Play ช่วยให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกม Windows บน Linux ได้ ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Proton ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ Valve ใช้เพื่อรันเกม Windows บน Steam Deck
Proton เป็นการ “fork” (หยิบซอร์สโค้ดจากโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมาพัฒนาต่อ) มาจาก Wine (ย่อจาก Wine Is Not an Emulator) อีกที แนวทางของ Wine ไม่ได้เป็นอีมูเลเตอร์ตามชื่อ แต่ทำงานโดยแปลงการเรียก Windows API ไปเป็นการเรียก POSIX ของยูนิกซ์แทน ทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพน้อยกว่าการนำโปรแกรมไปรันบนอีมูเลเตอร์
ปัจจุบัน Valve พัฒนา Proton จนมีเกมที่รองรับเพิ่มมากขึ้น (เทียบกับช่วงเปิดตัวในปี 2018) ถ้าใช้ตัวเลขอ้างอิงจาก ProtonDB เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกม Steam ที่เล่นผ่าน Proton มีเกมกว่า 15,000 เกม จาก 19,000 ที่มีผลการทดสอบ สามารถเล่นบน Linux ผ่าน Proton ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เกมยอดนิยม 10 อันดับแรกบน Steam กลับยังไม่สามารถเล่นผ่าน Proton ได้ถึง 4 เกม มีเพียง 3 เกม คือ CS:GO, DOTA 2 และ Team Fortress 2 ที่เล่นได้ในระดับ Native หรือเทียบเท่ากับการรันบนวินโดวส์ (และทั้งหมดคือเกมของ Valve เอง) ส่วนเกมอื่นเล่นได้ในระดับที่ลดหลั่นกันไป เช่น Grand Theft Auto V ได้ระดับ Gold, Rust ได้ระดับ Silver
ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้เกมเล่นบน Proton ไม่ได้ มาจากระบบป้้องกันการโกง (Anti-Cheat) หลายระบบในเกมออนไลน์ เช่น BattleEye (PUBG) และ Easy Anti-Cheat (Apex Legends) ยังทำงานกับ Proton ไม่ได้ ทำให้เกมออนไลน์ซึ่งเป็นเกมยอดนิยมในยุคนี้อาจมีปัญหากับ Proton ได้ ซึ่ง Steam ก็ทราบปัญหานี้ และระบุไว้ใน FAQ ของ Steam Deck ว่ากำลังเร่งประสานกับผู้พัฒนาเกมเหล่านี้เพื่อให้ใช้งานได้ก่อนเครื่องวางจำหน่าย
คงต้องมาติดตามในวันที่ Steam Deck วางจำหน่ายจริงอีกครั้ง ว่าประสิทธิภาพของเกมที่รันผ่าน Proton จะเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนปัจจุบัน เกมดังๆ ที่ยังเล่นผ่าน Proton ไม่ได้ มีทั้ง
เกมเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขทันเวลาหรือเปล่า และเกมที่ใช้ระบบ Anti-Cheat อื่น จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ความเข้ากันได้นี้ อาจเป็นอีกเรื่องที่ชี้เป็นชี้ตายอนาคตของ Steam Deck ได้เลยทีเดียว
ที่มา - PC World