วันที่ 13 ส.ค. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศกฎหมายลูกของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2564 ลงราชกิจจานุเบกษา มีข้อกำหนดเพิ่มเติมหลายเรื่อง และแบ่งแยกประเภทผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ๆ อย่าง Clubhouse และ Telegram ด้วย
ประกาศฉบับนี้เป็นการอัปเดตจากประกาศฉบับเดิมเมื่อปี 2007 ที่ออกตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแรก
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุให้ผู้ให้บริการต้องเก็บล็อกที่สามารถระบุรายละเอียดผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคลได้ (Identification and Authentication) เช่น ลักษณะการใช้บริการ Proxy Server, Network Address Translation (NAT) หรือ Proxy Cache หรือ Cache Engine หรือบริการ Free Internet หรือ Wi-Fi Hotspot มาแต่แรก แต่ประกาศฉบับใหม่นี้เพิ่ม มาตรฐานการเก็บข้อมูลจราจรเข้ามาในภาคผนวก ข. มีเงื่อนไขหลายประการเพิ่มเติม เช่น รายละเอียดการใช้บริการในระบบคอมพิวเตอร์, ข้อมูลตัวอุปกรณ์ที่เข้าใช้งาน (system ID), รายงานการล็อกอินต้องระบุถึงการล็อกอินที่ไม่สำเร็จ, ไปจนถึงรายละเอียดธุรกรรมที่กำลังใช้งาน
ประกาศฉบับนี้ยังเพิ่มหมวดหมู่ผู้ใ้หบริการเพิ่มเติมเข้ามาอีกสองหมวด ได้แก่ บริการสื่อสารและแอปสโตร์ ที่รวมถึง เช่น App Store, Google Play, Clubhouse และ Telegram โดยเรียกว่า "ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, แอปพลิเคชัน ที่ให้บุคคลทั่วไปสามารถติดต่อสื่อสารข้อมูลถึงกันได้ (Online Application Store)" ในขณะที่แพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook, YouTube, WhatsApp, LINE, Instagram ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ "ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์รวมถึงผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางในการรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะมีระบบบอกรับสมาชิกหรือไม่ก็ตาม"
สำหรับกรณีที่เป็นผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ตก็ต้องจัดเก็บข้อมูล จะต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดและบันทึกรายละเอียดการเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการหรือลูกค้าในร้านของตนที่สามารถระบุตัวตนได้ และทำบันทึกที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้บริการของลูกค้าของตนในแต่ละวันเพื่อให้ใช้เป็นหลักฐานที่ตรวจสอบได้ในภายหลัง
ที่มา - ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ไทยรัฐพลัส