EU เตรียมออกกฎ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องอัพเดตแพตช์-อะไหล่นาน 5 ปี เยอรมนีอาจกำหนด 7 ปี

by mk
6 September 2021 - 06:51

Heise สื่อเยอรมันรายงานข่าวว่า คณะกรรมการยุโรป (European Commission) กำลังจะออกกฎให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องซัพพอร์ตสินค้านาน 5 ปี ทั้งในแง่การออกแพตช์ความปลอดภัยและการจัดหาอะไหล่เพื่อซ่อมแซม แต่รัฐบาลเยอรมันอาจไปไกลกว่านั้น โดยขยายระยะเวลานานถึง 7 ปี

แนวคิดของคณะกรรมการยุโรปเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มองว่าสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมีระยะเวลาใช้งานเฉลี่ย 2.5-3.5 ปี สั้นกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น จึงร่างกฎที่จะบังคับใช้ในปี 2023 คือ

  • การันตีระยะเวลาออกแพตช์ความปลอดภัยอย่างน้อย 5 ปี และอัพเดตความสามารถ OS อย่างน้อย 3 ปี
  • แบตเตอรี่ต้องมีความจุเหลืออย่างน้อย 80% หลังจากชาร์จไปแล้ว 500 รอบ และสามารถเปลี่ยนแบตโดยผู้ใช้ได้ หรือถ้าแบตเปลี่ยนไม่ได้ ต้องชาร์จได้อย่างน้อย 1,000 รอบ
  • ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องจัดหาอะไหล่ของชิ้นส่วนต่างๆ เช่น กล้อง แบตเตอรี่ ไมโครโฟน ฯลฯ​ ให้กับร้านซ่อมอิสระ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีหลังวางขาย (ถ้าเป็นแท็บเล็ตต้อง 6 ปี เพราะอายุการใช้งานยาวนานกว่า)
  • ราคาอะไหล่ต้องประกาศต่อสาธารณะ และไม่สามารถขึ้นราคาได้ในภายหลัง คู่มือการซ่อมเครื่องต้องหาซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม
  • สมาร์ทโฟนจะต้องทนทานต่อการตก 1 เมตร 100 ครั้งแล้วยังไม่พัง และต้องกันน้ำกระเด็นใส่

Heise ยังรายงานว่ารัฐบาลเยอรมันต้องการไปไกลกว่านั้น โดยขยายระยะเวลาอัพเดตแพตช์และจัดหาอะไหล่เป็น 7 ปี

ข้อเสนอนี้ถูกคัดค้านโดยสมาคม DigitalEurope ซึ่งมีบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ 87 แห่งเป็นสมาชิก (รวมถึงผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ของโลกเกือบทุกราย เช่น Apple, Huawei, Samsung, Xiaomi, Oppo) ที่มองว่าควรการันตีอัพเดต OS แค่ 2 ปี และอัพเดตแพตช์ 3 ปี ส่วนเรื่องอะไหล่ควรมีแค่แบตเตอรี่และจอภาพเท่านั้น รวมถึงมองว่าการกำหนดแบตเตอรี่ชาร์จ 1,000 รอบเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ

ภาพจาก Samsung

ที่มา - Heise (1), Heise (2)

Blognone Jobs Premium