หนึ่งในเรื่องน่าปวดหัวของการใช้คลาวด์คือ "ค่านำข้อมูลออก" หรือ egress fee ที่ผู้ให้บริการคลาวด์แต่ละเจ้าเก็บเงินตรงนี้ และหลายองค์กรที่ใช้คลาวด์จริงจังพบว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงเกินจะรับไหว ล่าสุด Cloudflare ได้เปิดตัว R2 Storage บริการเก็บข้อมูลที่ไม่มีค่านำข้อมูลออก
Cloudflare เป็นผู้ให้บริการ CDN และ DNS ที่ต่อต้านการเก็บเงินค่านำข้อมูลออกมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ได้ก่อตั้ง Bandwidth Alliance ขึ้นมาเพื่อให้ลดค่าแบนด์วิดท์ระหว่างคลาวด์ลง แต่ AWS ไม่ยอมเข้าร่วม ทำให้ Matthew Prince ผู้ร่วมก่อตั้ง Cloudflare วิจารณ์ AWS ว่าทำกำไรจากค่าแบนด์วิดท์เป็นสิบเท่าจากต้นทุน
ด้วยความที่ AWS เป็นผู้ให้บริการคลาวด์อันดับหนึ่งของโลก และ S3 ก็เป็นบริการเก็บข้อมูลที่แทบทุกคนที่ใช้ AWS ต้องใช้งาน ค่านำข้อมูลออกจึงสร้างรายได้ให้ AWS อย่างมาก ทำให้ Cloudflare เปิดตัวบริการลักษณะเดียวกันขึ้นมาแข่งในชื่อ R2 Storage
Cloudflare ระบุว่า R2 เป็น object storage (บางครั้งเรียกว่า blob storage) ที่จะไม่เก็บค่าแบนด์วิดท์ขาออก คิดเฉพาะค่าเก็บข้อมูลที่ 0.015 ดอลลาร์สหรัฐ/GB (ราว 50 สตางค์/GB) และค่าเขียน/อ่านออบเจ็กต์บนสตอเรจ (storage operations) โดยหากเขียน/อ่านไม่บ่อย (จำนวนรีเควสไม่ถึง 10 ครั้งต่อวินาที) จะไม่คิดค่าเขียน/อ่านเลย แต่หากเกินกว่านั้นก็จะคิดราคาที่ถูกกว่าผู้ให้บริการรายอื่นอย่างมาก
จุดแข็งสำคัญของ R2 คือมันรองรับ S3 API เต็มรูปแบบ แปลว่าแอพและเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้งานกับ Amazon S3 Storage สามารถใช้กับ R2 ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้าที่สนใจย้ายจาก S3 ไป R2 สามารถใช้เครื่องมือไมเกรตที่ Cloudflare มีให้ได้เลย เพียงแค่เลือก bucket ที่จะย้ายแล้วเครื่องมือจะจัดการให้อัตโนมัติ
Cloudflare บอกว่า R2 มีความคงทน (durability) ของออบเจกต์อยู่ที่ 99.999999999% เทียบเท่า AWS และคลาวด์เจ้าอื่นๆ (เก็บออบเจ็กต์ 1 ล้านอัน จะหาย 1 อันทุก 1 แสนปี)
นอกจากนี้ R2 ยังทำงานร่วมกับ Cloudflare Workers ได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้นักพัฒนาสามารถเขียนโค้ดเข้า Workers เพื่อจัดการกับออบเจ็กต์ใน R2 ได้ง่ายมาก หรือใช้เป็น CDN ที่ควบคุมอายุแคชได้มากกว่าการใช้ Cloudflare CDN ตามปกติ โดยทีมงานระบุว่าช่วงแรกที่เปิดให้บริการจะต้องใช้งานผ่าน Workers ก่อน และหลังจากนั้นถึงจะเปิดเป็น endpoint ให้ใช้งานแทน S3 ได้ ซึ่งดูแล้วน่าจะไม่ใช่เร็วๆ นี้
ขณะนี้ R2 ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอยู่ และยังไม่ระบุว่าจะให้ใช้งานได้เมื่อใด แต่ผู้ที่สนใจสามารถกรอกแบบฟอร์มขอเป็น waitlist ได้แล้ว
ที่มา - Cloudflare Blog
ภาพโดย Cloudflare