Vitalik Buterin ผู้ร่วมให้กำเนิดเทคโนโลยีบล็อกเชนระบบ Ethereum ระบุไว้ในโปรไฟล์ของเขาใน about.me ว่าสาเหตุที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจระบบธุรกรรมแบบ decentralized เป็นเพราะ Blizzard เนิร์ฟ (ลดความเก่ง) ตัวละครอาชีพ Warlock ที่เขาเล่นบน World of Warcraft ในปี 2010 โดยการแก้ให้สกิล Siphon Life ไม่สร้างความเสียหายให้กับศัตรู (แต่ปัจจุบัน Siphon Life กลับมาสร้างความเสียหายแล้ว)
Vitalik เล่าว่าในคืนที่อัพเดตนี้ออก เขาถึงกับนอนร้องไห้จนหลับไป และมองเห็นถึงความน่ากลัวของระบบ centralized หรือระบบที่มีตัวกลางควบคุม จนเลิกเล่น WoW แล้วไปทำงานเขียนเนื้อหาให้กับบล็อกชื่อ Bitcoin Weekly ได้ค่าแรง 1.5 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ก่อนจะร่วมก่อตั้ง Bitcoin Magazine และลาออกจากมหาวิทยาลัยมาทุ่มให้กับงานด้านคริปโต จนเห็นถึงความไม่เข้าท่าของระบบคริปโตในตอนนั้น และร่วมสร้าง Ethereum ขึ้นมา
ปัจจุบันนอกจากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมของ Ethereum หรือที่เรียกว่าค่า GAS จะแพงขึ้นมากจากช่วงเริ่มต้นแล้ว ตัวระบบก็กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักในด้านการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง
โดยเฉพาะเมื่อมีกระแส NFT ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นของเล่นของคนรวย ที่แค่ต้องการอะไรบางอย่างที่จะมาแสดงความเป็น “ของแท้” ของงานศิลปะที่ตัวเองมี แต่กลับต้องใช้พลังงานมหาศาลในการทำธุรกรรมเพื่อสร้างโทเค่นยืนยันความเป็นของแท้นั้น และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
แต่ Ethereum เองก็มีแผนยกเครื่องระบบใหม่เป็น Ethereum 2.0 มาตั้งแต่ปี 2017 โดยเปลี่ยนการใช้ระบบ proof of work ที่ต้องให้เครื่องในเครือข่ายแข่งกันแก้สมการของบล็อกเชนซึ่งกินพลังงานมาก มาเป็นระบบ proof of stake ที่ใช้การวางเงิน (staking) เพื่อเป็นการยืนยันการสร้างบล็อกใหม่ และกินพลังงานน้อยกว่าแทน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีกำหนดการแน่นอนว่าจะเริ่มใช้เมื่อไร ซึ่งก็ต้องติดตามต่อว่าจะเป็นอย่างไร
ที่มา - PC Gamer