รีวิว Windows 11 เมื่อวินโดวส์ต้องปรับตัวตามกระแส OS ฝั่งมือถือ ควรอัพเกรดหรือยัง?

by mk
10 October 2021 - 04:11

Windows 11 เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2021 ชาว Blognone หลายคนอาจติดตั้งและใช้งานกันแล้ว บางคนอาจลองใช้มาตั้งแต่ยุค Insider ในขณะที่อีกหลายคนไม่สามารถอัพเกรดได้เพราะถูกทิ้งไว้กลางทาง

รีวิวนี้น่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า ควรจะเอาอย่างไรกับ Windows 11 ดี อัพเกรดเลยวันนี้ รอไปก่อนค่อยอัพเกรด หรือหยุดอยู่กับ Windows 10

เมื่อ Windows 10 ไม่ใช่วินโดวส์เวอร์ชันสุดท้าย

Windows 10 เปิดตัวในปี 2015 โดยเปลี่ยนมาใช้แนวทาง Windows as a Service ออกฟีเจอร์ใหม่เรื่อยๆ ปีละสองครั้ง พลิกแนวทางของระบบปฏิบัติการตระกูลวินโดวส์ที่ออกอัพเดตใหญ่เวอร์ชันใหม่ทุกประมาณ​ 3 ปี (Vista-7-8 ออกห่างกัน 3 ปี)

ก่อนหน้านี้ทุกคนเชื่อกันว่า Windows 10 จะเป็นวินโดวส์เวอร์ชันสุดท้าย เพราะไมโครซอฟท์จะออกอัพเดตย่อยไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายเราก็ได้พบกับ Windows 11 แบบเหนือความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงภายในที่ไม่เยอะนัก (ยกเว้น UI) เราอาจมองว่า Windows 11 เปรียบเสมือนอัพเดตใหญ่ (Feature Release)​ อีกตัวหนึ่งของ Windows 10 ที่มีของใหม่เยอะหน่อย หรือถ้านับเป็นเลขเวอร์ชัน ก็อาจเป็น Windows 10.5 ก็ได้เช่นกัน

หากธีมหลักของ Windows 10 คือ "การกลับสู่เดสก์ท็อป" หลังจากไปหลงทางในโลกแท็บเล็ตกับ Windows 8 อยู่หลายปี

ธีมหลักของ Windows 11 สามารถนิยามได้สั้นๆ ว่าไมโครซอฟท์ได้รับอิทธิพลจาก OS ใหม่ๆ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ทำให้ต้องปรับหน้าตาของ Windows 11 ไปในทิศทางดังกล่าว เพื่อจับกลุ่มผู้ใช้งานรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับยุคสมาร์ทโฟนให้มากขึ้น

แต่นั่นเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงภายนอกเท่านั้น เพราะตัวแกนหลักของ Windows 11 ยังเป็นแกนเดียวกับ Windows 10 เหมือนเดิม ยังให้ความรู้สึกแบบเดิมๆ ไม่ต่างอะไรจาก Windows 10 มากนัก

Hardware & Upgrading Process

ดราม่าสเปกขั้นต่ำของ Windows 11

ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดของ Windows 11 และได้รับความสนใจยิ่งกว่าตัวระบบปฏิบัติการเองเสียอีก คือ ข้อกำหนดสเปกฮาร์ดแวร์ขั้นต่ำที่สร้างการถกเถียงอย่างมาก (สเปกละเอียด)

Blognone เคยลงข่าวเรื่องสเปกขั้นต่ำของ Windows 11 ไปแล้วหลายครั้ง ถ้าให้สรุปแบบสั้นๆ จุดที่เป็นประเด็นมากๆ มีอยู่ 2 เรื่องคือ

สเปกทั้งสองข้อนี้ทำให้มีพีซีจำนวนมากที่ไม่สามารถไปต่อกับ Windows 11 ได้ (อย่างเป็นทางการ) และการที่พีซีเหล่านี้มีอายุไม่มากนัก (ผมมีโน้ตบุ๊กที่เป็น Core i7-7700HQ อายุ 4 ปีกว่าๆ ก็ไม่ได้ไปต่อ แม้มีชิป TPM 2.0 ก็ตาม) จึงไม่น่าแปลกใจที่รอบนี้ไมโครซอฟท์ถูกผู้ใช้วิจารณ์อย่างหนัก เพราะถือเป็นการฉีกธรรมเนียมเดิมๆ ของไมโครซอฟท์ในฐานะ "เจ้าพ่อแห่งความเข้ากันได้" ที่ลากยาวพีซีเก่าๆ มาได้ตลอดมาหลายสิบปี

แต่ถูกถล่มหนักแค่ไหน ไมโครซอฟท์ดูแน่วแน่ไม่เปลี่ยนใจในเรื่องนี้ ไม่ยอมผ่อนปรนเรื่องซีพียูหรือ TPM ดังนั้น ทางออกของคนที่ใช้พีซีที่สเปกไม่ถึงเกณฑ์ คงมีแค่เพียงอยู่กับ Windows 10 ต่อไป ซึ่งจะซัพพอร์ตนานถึงปี 2025 หรืออีก 4 ปีถัดจากนี้

การอัพเกรดที่ราบรื่น

หากเราก้าวผ่านเรื่องสเปกขั้นต่ำได้แล้ว พีซีที่ผ่านเกณฑ์สามารถอัพเกรดเป็น Windows 11 ได้แล้ววันนี้ สำหรับผู้ใช้ตามบ้าน มีวิธีอัพเกรด 2 วิธีหลักๆ คือ รอให้ไมโครซอฟท์ปล่อยอัพเดตผ่าน Windows Update ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร รอกันไปเรื่อยๆ กับการอัพเกรดเองแบบแมนนวล ที่มีอีก 2 วิธีย่อยคือ ดาวน์โหลดโปรแกรม Installation Assistant มาติดตั้งบน Windows 10 แล้วอัพเกรดตรงๆ หรือดาวน์โหลดไฟล์ ISO มาติดตั้งผ่านแฟลชไดรฟ์ (ดาวน์โหลดได้จากหน้า Windows 11 Download)

ผมเลือกใช้วิธีแรกคือดาวน์โหลด Installation Assistant มาติดตั้งบนโน้ตบุ๊ก Lenovo ThinkPad Nano ที่ซีพียูเป็น Intel Gen 11 ซึ่งอัพเกรดได้ผ่านฉลุย

อย่างที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่าไส้ในของ Windows 11 ก็คือ Windows 10 นั่นเอง ดังนั้นกระบวนการอัพเกรดเครื่องจึงแทบไม่ต่างอะไรจากการอัพเดตใหญ่ (Feature Release) ของ Windows 10 ที่ออกปีละสองรอบอยู่แล้ว นั่นคือเปิดแอพช่วยอัพเกรด รอดาวน์โหลดและติดตั้งไฟล์เล็กน้อย รีสตาร์ตเครื่องสองรอบก็ได้เจอกับ Windows 11 ที่ยังมีข้อมูลเดิมของเราอยู่อย่างครบถ้วน

หน้าตาใหม่ของ Windows 11

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของ Windows 11 คือการเปลี่ยนส่วนติดต่อผู้ใช้ (ในที่นี้คือ shell) ของ Windows 10 ให้ทันสมัยขึ้น

เท่าที่ลองใช้มา ธีมการออกแบบ Windows 11 ของไมโครซอฟท์มีอยู่ 2 แนวทางควบคู่กันไป ได้แก่ ออกแบบให้หน้าตาสวยขึ้น (beautified) และออกแบบให้การใช้งานเรียบง่ายขึ้น (simplified)

คำว่าหน้าตาสวยขึ้น ต้องย้อนไปถึงแนวทาง Fluent Design ที่ไมโครซอฟท์เริ่มทำมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว มันคือการอัพเกรดระบบการออกแบบ (design system) ครั้งใหญ่ของไมโครซอฟท์นับตั้งแต่ Windows 8 (2012) ที่ใช้แนวทาง Metro ไอคอนแบนราบบนพื้นสีเดียว ก่อนที่ทยอยมาเป็น Fluet Design ที่เน้นแสงเงามากขึ้นใน Windows 10 รุ่นหลังๆ และโตเต็มวัยใน Windows 11 (2021) กระบวนการทั้งหมดกินเวลานาน 9 ปี การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีผลแค่วินโดวส์ แต่ยังรวมถึงแอพอื่นของไมโครซอฟท์แทบทุกตัวด้วย

คนที่ใช้ Windows 10 ช่วงหลังๆ น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการดีไซน์อยู่แล้ว เช่น การเปลี่ยนไอคอนในช่วงหลัง พอมาถึง Windows 11 ต้องเรียกว่านี่คือภาพฝันของไมโครซอฟท์ที่เป็นจริง เราเห็นระบบปฏิบัติการที่ขอบโค้งมน เน้นแสงเงา พื้นหลังโปร่งแสงมากขึ้น ซึ่งกลับไปคล้ายยุค Windows Vista/7 แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว

เมนูคลิกขวาของ Windows 11 ขอบมน และโปร่งแสง

สิ่งที่สัมผัสได้คือ Windows 11 ใช้ดีไซน์ออกแนว "การ์ตูน" ที่ไอคอนสีสันสดใส มีแอนิเมชันและภาพเคลื่อนไหวมากกว่าสไตล์ของ Vista/7 ที่เน้นความสมจริง (ของบางอย่างดูในรูปนิ่งๆ อาจดูไม่ออกนัก ต้องไปลองใช้ ลองสัมผัสดูจริงๆ)

คลิปอธิบายการออกแบบแอนิเมชันของ Windows 11

อีกสิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำได้ดีขึ้นมากคือ Dark Mode ที่เดิมทีใส่เข้ามาแบบไม่ค่อยสมบูรณ์นักใน Windows 10 ตอนนี้ก็ทำได้ดีขึ้น มีศักดิ์ฐานะเกือบใกล้เคียงกับ Light Mode แล้ว (ฝั่งธุรกิจจะได้ Dark Mode มาเป็นดีฟอลต์ด้วยซ้ำ) จะมีข้อยกเว้นคือแอพเก่าๆ ที่สืบทอดมาจากในอดีตเท่านั้นที่ยังเป็นสีโทนสว่างอยู่เหมือนเดิม เช่น Notepad

Dark Mode ของ Windows 11

ภาพรวมเรื่องสไตล์ของ Windows 11 ต้องยอมรับว่าน่าประทับใจ เมื่อทิศทางการออกแบบชัดเจนว่าจะไปอย่างไร และไมโครซอฟท์ใช้เวลานานพอสมควรกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ผลจึงออกมาเป็นว่า Windows 11 นั้น "สวยขึ้น" จาก Windows 10 อย่างเห็นได้ชัด แต่ในแง่การใช้งานก็ยังไม่ได้แตกต่างถึงขนาดผิดแผกจนใช้ไม่ลง ยังให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับ Windows 10 อยู่พอสมควร

Start Menu & Taskbar

ธีมหลักอันที่สองของ Windows 11 คือเรียบง่ายขึ้น (simplified) ตรงนี้ชัดเจนว่าไมโครซอฟท์ได้อิทธิพลอย่างมากจากระบบปฏิบัติการใหม่ๆ โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการมือถือ (Android/iOS) และระบบปฏิบัติการเดสก์ท็อปยุคใหม่ (Chrome OS)

ผมคิดว่าปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ไมโครซอฟท์หันมาทางนี้คือ demographic ของผู้ใช้งานรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมากับสมาร์ทโฟน เกิดมาก็เจอสมาร์ทโฟนแล้ว มีวิธีคิดที่ต่างไปจาก demographic กลุ่มที่เติบโตมากับพีซี มีความคาดหวังแตกต่างกันไป

ผู้ใช้กลุ่มใหม่นี้มีความคุ้นเคยกับ OS บนมือถือที่มีไอคอน มี launcher มีแถบแจ้งเตือน มี widget แสดงผลข้อมูลโดยไม่ต้องเปิดแอพก่อน ปัจจัยเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อไมโครซอฟท์อย่างชัดเจน ในการออกแบบ Start Menu และ Taskbar แบบใหม่ที่เรียบง่ายขึ้นมากเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ แต่กลับตัดฟีเจอร์เดิมๆ ออกไปเกือบหมด (อย่างตั้งใจ) จนทำให้ฐานผู้ใช้ยุคเก่าไม่พอใจ

Start Menu

สิ่งแรกที่ผู้ใช้ Windows 11 ประสบพบเจอเมื่อบูตเครื่องมาครั้งแรกคือ Taskbar แบบใหม่ที่จัดไอคอนอยู่ตรงกลาง และ Start Menu ที่เปิดขึ้นมาอยู่ตรงกลาง ไม่ได้ชิดซ้ายเหมือนที่ทำมาตลอดหลายสิบปี น่าจะทำให้หลายๆ คนประหลาดใจหรือบางคนอาจถึงขั้นช็อคไปเลย

ไมโครซอฟท์ไม่ได้อธิบายเหตุผลเรื่องการจัดชิดกลางชัดเจนนัก แต่ถ้าย้อนดูประวัติของ Windows 11 ว่ามีส่วนที่พัฒนาเป็น Windows 10X ก่อนยกเลิกไปแล้วนำฟีเจอร์มารวมกันแทน ตัว Start Menu ของ Windows 11 เหมือนกับของ Windows 10X ที่หลุดออกมาทุกประการ ซึ่งการเกิดขึ้นของ Windows 10X ก็เพื่ออุปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ อย่างแท็บเล็ตสองจอ Surface Neo (ที่ตอนนี้ยังไม่รู้ชะตากรรม) และโน้ตบุ๊กราคาถูกที่ออกมาสู้กับ Chrome OS ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า Start Menu ของ Windows 11 ได้รับอิทธิพลมาจาก Chrome OS นั่นเอง

หน้าจอ Launcher ของ Chrome OS

Start Menu ใหม่ของ Windows 11 ถือว่าเรียบง่ายกว่าเดิมมาก ตัดฟีเจอร์เดิมในอดีตทิ้งไปเกือบหมด เมื่อเราคลิกปุ่ม Start เราจะเห็นเมนูที่ประกอบด้วย 2 ส่วนเท่านั้น คือ แอพที่ปักหมุดไว้ (Pinned) และไฟล์ล่าสุดที่ใช้งานหรือใช่บ่อย (Recommended) ที่หัวของเมนูมีช่องค้นหา (Search) และแถบล่างของเมนูมีเพียงไอคอนโพรไฟล์ของผู้ใช้กับปุ่มปิดเครื่อง

Start Menu ของ Windows 11 แบบชัดๆ

ถ้าเทียบกับ Start Menu ของ Windows 10 แล้ว สิ่งที่หายไปเลยถือรายการแอพทั้งหมดในเครื่อง (ต้องกด All Apps ก่อนหนึ่งที) รวมถึงปุ่มช็อตคัตต่างๆ เช่น เรียก Settings หรือโฟลเดอร์ Documents/Downloads ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว (ต้องกด Settings จากในรายการแอพเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับ OS มือถือ) นี่ยังไม่รวมถึงฟีเจอร์ Live Tiles ที่ชะตาขาด ถูกถอดออกไปถาวร (ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะไม่ค่อยมีคนใช้มากนักอยู่แล้ว)

Start Menu ตอนกด All Apps หน้าตาเหมือนเดิม

ผมคิดว่าโฟลว์การทำงานของผู้ใช้ Windows ส่วนใหญ่ที่มักปักไอคอนแอพที่ใช้บ่อยๆ ไว้บน Taskbar หรือปักไว้ในเมนู Start คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ผู้ใช้ที่กด Start แล้วพิมพ์ชื่อแอพเพื่อเรียกใช้งานก็คงทำงานได้เหมือนเดิม แต่คนที่ขัดใจคงเป็นคนที่เปิด Start Menu แล้วมา "ไล่หา" รายการแอพที่ต้องการจากชื่อแอพ ก็จะทำได้ยากขึ้นพอสมควร

ส่วนแถบรายการไฟล์หรือแอพที่เพิ่งติดตั้งใหม่ (Recommended) เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่ของใหม่ใน Windows 11 เพราะมีมาตั้งแต่ยุคของ Windows 95 (ส่วนของ Recent) และถูกถอดออกไปใน Start Menu ยุคหลัง การกลับมาของรายการไฟล์คงมีไว้เพื่อเอาใจผู้ใช้ยุคใหม่ๆ อีกเหมือนกัน เพราะผู้ใช้ที่เติบโตมากับยุค Mobile OS อาจไม่มีความคุ้นเคยกับการเก็บไฟล์ในระบบโฟลเดอร์ที่ซับซ้อนมากนัก ไมโครซอฟท์น่าจะพยายามหาวิธีให้เข้าถึง "ไฟล์ที่ใช้บ่อยๆ" หรือ "งานที่ทำทิ้งไว้" ได้ง่ายขึ้น

Taskbar

Taskbar คือบริเวณจุดที่โดนตัดฟีเจอร์ออกไปมากที่สุดแล้ว เราสามารถตั้งค่า Taskbar ได้เพียงจัดไอคอนชิดกลาง (แบบใหม่) หรือชิดซ้าย (แบบเก่า) และเลือกซ่อน Taskbar เพียง 2 อย่างเท่านั้น ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นย้ายตำแหน่งไปไว้ด้านบน, ปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง, เลือกแสดงไอคอนหน้าต่างแบบรวมหรือแยก (combined) ฯลฯ ฟีเจอร์ทั้งหมดที่ผู้ใช้วินโดวส์คุ้นเคยกันมานานนับสิบปี ถูกตัดออกเหี้ยน

คลิกขวาที่ Task Bar แล้วเหลือแค่นี้จริงๆ

ส่วนของ System Tray ด้านขวามือก็ถูกปรับเปลี่ยนไปพอสมควรเช่นกัน เดิมทีไอคอนใน System Tray ทุกตัวแยกจากกันอย่างอิสระ กดคลิกขวาแล้วมีเมนูของตัวเองขึ้นมาให้ดูข้อมูลหรือตั้งค่า

ใน Windows 11 ไมโครซอฟท์จัดกลุ่มไอคอนใหม่เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ แบตเตอรี่-อินเทอร์เน็ต-เสียง กลายเป็นก้อนเดียวกัน กดแล้วมีเมนูป๊อปอัพขึ้นมาจัดการอินเทอร์เน็ต ความสว่างหน้าจอ ระดับเสียง ฯลฯ เห็นทุกอย่างพร้อมกันแทน (ย้ายมาจากแถบแจ้งเตือนของ Windows 10 และปรับหน้าตาใหม่)

กลุ่มที่สองคือ นาฬิกาและการแจ้งเตือน ที่เดิมทีแยกกัน ตอนนี้ก็กลายมาเป็นส่วนเดียวกัน กดแล้วป๊อปอัพด้านขวาจะรวมปฏิทินกับการแจ้งเตือนเข้าไว้ด้วยกัน

ความน่าเศร้าของ Taskbar ใหม่คือ ไม่สามารถแสดงนาฬิกาบน Taskbar ทุกอันได้หากต่อจอมอนิเตอร์ที่สองเข้ามา ของ Windows 10 นั้นนาฬิกาจะถูกแสดงบน Taskbar ของทุกหน้าจอ แต่พอเป็น Windows 11 แสดงเฉพาะบน Taskbar ของจอหลักเท่านั้น ตั้งค่าตรงนี้ไม่ได้ด้วย

ภาพรวมของ Taskbar ใน Windows 11 เห็นได้ชัดว่าไมโครซอฟท์ตัดของออกไปเยอะมาก เป้าหมายคงเป็นเรื่องความเรียบง่าย อยากให้เหมือน Android หรือ Chrome OS แต่ก็คิดว่าตัดออกมากเกินไป (หรือทำใส่กลับคืนมาไม่ทัน) จนทำให้ความสามารถในการปรับแต่งที่เคยเป็นจุดเด่น ด้อยลงไปมากจนน่าหงุดหงิดพอสมควร ในฐานะผู้ใช้คงได้แต่หวังว่าไมโครซอฟท์จะนำบางอย่างกลับคืนมาในอัพเดตใหญ่ครั้งหน้าของ Windows 11

Widgets

ไมโครซอฟท์ไม่ใช่หน้าใหม่ของการทำ widget มาใส่ระบบปฏิบัติการ ถ้าย้อนไปไกลที่สุดน่าจะเป็น Active Desktop ในยุค Internet Explorer 4 ด้วยซ้ำ แต่ที่คนจดจำกันได้น่าจะเป็น widget ของ Windows Vista (2006) ที่อยู่ในแถบ sidebar ด้านขวามือของเดสก์ท็อป (ยุคนั้นเรียก gadget) ที่ค่อยๆ เริ่มถูกถอดออกไปในยุค Windows 7 และเปลี่ยนมาเป็นระบบ Live Tiles แทนในยุค Windows 8

พอมาถึงยุค Windows 10 ช่วงหลังๆ ระบบ widget ถูกนำกลับมาในแถบ News & Interests ที่ด้านขวามือของ Taskbar ซึ่งกลายร่างมาเป็น widget แทนใน Windows 11

Widgets ของ Windows 11 จะไม่ถูกแสดงบนเดสก์ท็อป แต่จะอยู่ในแถบ sidebar ด้านซ้ายมือ ซึ่งกดเรียกขึ้นมาได้จากปุ่ม Widgets ที่อยู่ข้างกับปุ่ม Start หรือช็อตคัตใหม่ Win+W

ปัจจุบันยังมี widget ให้เลือกไม่เยอะมากนัก ที่ไมโครซอฟท์เตรียมมาให้ได้แก่ News รวมข่าวสาร (ข่าวจะอยู่ล่างสุด ถอดออกไม่ได้), Weather สภาพอากาศ, Stock Watchlist ดูราคาหุ้น, Sports ดูผลกีฬา, Esports ดูผลกีฬาอีสปอร์ต, Entertainment แนะนำหนังใหม่, Traffic สภาพจราจรแถวบ้าน

นอกจากนี้ยังมี widget กลุ่มที่ซิงก์กับบัญชีของเราบนแอพไมโครซอฟท์เอง เช่น Photos ซิงก์จาก OneDrive, To Do ซิงก์จาก Microsoft To Do และปฏิทินที่ซิงก์จาก Outlook เป็นต้น ตอนนี้ไมโครซอฟท์ยังไม่สามารถเปิดให้นักพัฒนาสร้าง widget เองได้ แปลว่าคนที่ใช้แอพตัวอื่นๆ อย่าง Google Calendar, Google Photos ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบ widget แบบใหม่ได้

ณ ตอนนี้ยังถือว่า widget ของ Windows 11 ยังไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะจำนวน widget ยังมีน้อยและไม่หลากหลาย อีกทั้งการที่มันไม่ถูกแสดงตลอดเวลา นำมาวางไว้บนเดสก์ท็อปไม่ได้ ก็น่าจะทำให้หลายๆ คนที่ใช้ Windows 11 อาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีฟีเจอร์นี้อยู่

Desktop & Window Management

นอกจากเรื่อง Start Menu และ Taskbar แล้ว การเปลี่ยนหน้าตา (shell) ของ Windows 11 ยังครอบคลุมในส่วนเดสก์ท็อปและการจัดการหน้าต่างด้วย

Snap Layout

ที่ผ่านมา Windows มีฟีเจอร์จัดระเบียบหน้าต่างชื่อ Aero Snap มาตั้งแต่ยุค Windows 7 โดยผู้ใช้งานสามารถลากขอบไตเติลหน้าต่างชิดขอบซ้าย-บน-ขวา เพื่อจัดหน้าต่างให้เรียงกันได้ (กรณีลากขึ้นบนจะเป็นการขยายเต็มจอหรือ maximize) หรือจะใช้ปุ่มลัด Win + ลูกศรในทิศทางต่างๆ ก็ได้

แต่ผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ใช่ power users อาจไม่รู้จักฟีเจอร์ Aero Snap (ภายหลังชื่อ Snap เฉยๆ) กันมากเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลว่าต้องเห็นคนใช้งานฟีเจอร์นี้ก่อนถึงรู้ว่าทำงานอย่างไร

Windows 11 จึงพัฒนาเรื่องนี้ไปอีกขั้นด้วย Snap Layout ที่เห็นวิธีการจัดหน้าต่างชัดเจนขึ้น วิธีใช้งานง่ายมาก เพียงแค่เรานำเคอร์เซอร์ไปชี้ที่ปุ่มขยายหน้าต่าง (maximize/restore) จะเห็นเมนูป๊อปอัพให้เราจัดหน้าต่างแบบที่ต้องการโผล่ขึ้นมา เราแค่เลือกว่าจะจัดแบบไหน หน้าต่างนั้นจะถูกจัดเข้าชุดทันที และ OS จะถามว่าจะเลือกหน้าต่างไหนมาเข้าให้ครบชุด

การเลือกหน้าต่างของ Snap Layout มีทั้งแบบ 2 หน้าต่างจัดครึ่งซ้ายขวา, แบบ 3 หน้าต่าง, แบบ 4 หน้าต่าง และถ้าใช้กับจอขนาดใหญ่ๆ จะมีแบบ 3 หน้าต่างหารแบ่งจอแบบเท่ากันด้วย

Snap Layout ถือเป็นฟีเจอร์ที่ดีที่สุดของ Windows 11 ในสายตาผมแล้ว เพราะมีประโยชน์จริง ใช้ง่าย เห็นชัด ตรงไปตรงมา เวิร์คสำหรับทั้งผู้ใช้ใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก Snap มาก่อน และผู้ใช้เก่าที่คุ้นเคยกับ Snap อยู่แล้วก็สามารถใช้งานต่อได้อย่างเป็นธรรมชาติ

Task View

Windows 10 มีวิธีการสลับหน้าต่างอยู่ 2 แบบคือ Alt+Tab ของเดิมที่สืบทอดกันมานาน และ Win+Tab ของใหม่ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Task View

การเปลี่ยนแปลงใน Windows 11 คือถอดฟีเจอร์ Timeline ของ Task View ที่ใส่เข้ามาในอัพเดตปี 2018 คงเป็นด้วยเหตุผลว่าคนใช้น้อย และหันมาเน้นที่เรื่อง Virtual Desktop มากขึ้น

Virtual Desktop เป็นฟีเจอร์ที่มีตั้งแต่ Windows 10 แต่ก็ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก อาจเป็นเพราะความสามารถที่ค่อนข้างจำกัดในระดับหนึ่ง พอมาถึงยุค Windows 11 ก็เน้นตรงนี้มากขึ้น ในหน้าจอ Task View จะเห็นรายการ Virtual Desktop แบบชัดๆ (ของเดิมถ้ามีเดสก์ท็อปเดียวจะไม่โชว์รายการ) สามารถเปลี่ยนพื้นหลังของแต่ละเดสก์ท็อปให้ต่างกันได้

ส่วนหน้าจอ Alt+Tab เดิมยังหน้าตาเหมือนเดิม แต่ปรับให้พื้นหลังเบลอกว่าเดิมมาก ส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบนัก เพราะรู้สึกว่าบดบังสายตามากเกินไป ชอบแบบของ Windows 10 มากกว่า

Multi-monitor

ของใหม่อีกอย่างที่น่าสนใจคือ การจัดการหน้าต่างบนจอมอนิเตอร์หลายจอให้ดีขึ้น สามารถจดจำตำแหน่งของหน้าต่างไว้ได้แม้จอดับไป ฟีเจอร์นี้อยู่ในหน้า Settings > Display ที่สามารถตั้งค่าการทำงานแบบหลายจอได้ละเอียดขึ้น (อีกหน่อย) เช่น ให้จำตำแหน่งหน้าต่าง หรือให้ย่อหน้าต่างลงหากจอที่หน้าต่างนั้นอยู่ถูกถอดออก

Settings

สิ่งที่ผู้ใช้ Windows เจ็บปวดมานานตั้งแต่ยุค Windows 8 คือการมีโปรแกรมตั้งค่า 2 ตัว คือ Control Panel เดิม และ Settings ตัวใหม่ที่ทำไม่เสร็จสักที จึงต้องสลับไปมาระหว่างโปรแกรมตั้งค่าสองตัวนี้อยู่เรื่อยๆ

ข่าวดีของ Windows 11 คือโปรแกรม Settings พัฒนาขึ้นจากเดิมมาก เปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เฟซแบบ 2-pane ด้านซ้ายมือมีหมวดหมู่การตั้งค่าให้เลือกง่ายๆ ไม่ได้เป็นไอคอนล้วนแล้วต้องกด Back ถอยหลังเหมือนกับ Settings ของ Windows 10 อีกทั้งรองรับ Dark Mode สวยงามกว่าเดิม

อินเทอร์เฟซหลายจุดของ Settings ก็ปรับปรุงให้พัฒนาขึ้น สวยขึ้น ใช้ที่ว่างให้เป็นประโยชน์มากขึ้น การออกแบบหน้าจอ Settings ใช้วิธีแสดงทุกหมวดย่อยพร้อมกันหมด ไม่ได้แยกหน้าจอแบบของ Windows 10 อีก ใช้พื้นที่ด้านบนสุดของหน้าต่างได้มีประโยชน์มากขึ้น

แต่ข่าวร้ายคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ Settings ก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่ดี หลายอย่างก็ยังต้องทำผ่านหน้าต่างของ Control Panel เหมือนเดิมอยู่ เช่น การตั้งค่าเมาส์แบบละเอียด ที่เป็นหน้าต่างสืบทอดกันมาตั้งแต่ยุค Windows 9x และดูผิดแผกมากเมื่อต้องมาอยู่ร่วมกับธีมใหม่ของ Windows 11 โดยเฉพาะเวลาเป็น Dark Mode

Apps

นอกจากตัว OS ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในส่วนของ shell แล้ว ไมโครซอฟท์ยังอัพเดตแอพที่มาพร้อม OS อีกหลายๆ ตัวให้เข้าชุดดีไซน์ใหม่ด้วย ขอยกตัวอย่างมาเพียงบางส่วน

File Explorer

File Explorer หรือ Windows Explorer เดิม มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะปรับดีไซน์ใหม่ เลิกใช้แถบ Ribbon เปลี่ยนมาใช้แถบเครื่องมือแบบแถวเดียว เปลี่ยนไอคอนโฟลเดอร์ใหม่ที่สีสันสดใสกว่าเดิม และรองรับ Dark Mode แล้วสักที

แต่นอกจากหน้าตาแล้ว ในแง่การใช้งาน มันก็ยังเป็น File Explorer ตัวเดิมที่ฟีเจอร์เท่าเดิมทุกประการ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับฟีเจอร์หรือการใช้งาน (เช่น ระบบแท็บที่เรียกร้องกันมานาน) แต่อย่างใด

การปรับอินเทอร์เฟซใหม่ยังมี "ต้นทุน" ในแง่ของความสามารถที่ลดลงบ้าง เช่น เมนูคลิกขวาแบบใหม่สวยงามขึ้น แต่ของบางอย่างหายไป ตัวอย่างคือเราไม่สามารถคลิกขวาที่ไฟล์ฟอนต์แล้วเลือกติดตั้งฟอนต์ (Install) แบบตรงๆ ได้อีกแล้ว ต้องเลือก Show more options ครั้งหนึ่งก่อนเพื่อเปิดเมนูคลิกขวาแบบเก่ากลับคืนมา

Photos

Photos แอพดูรูปภาพ ได้รับการปรับโฉมเช่นกัน โดยเปลี่ยนทูลบาร์ด้านบนมาเป็นแบบลอยทับรูป และด้านล่างเพิ่มแถบ carousel แสดงภาพตัวอย่างในโฟลเดอร์เดียวกันเข้ามา แต่ในแง่ฟังก์ชันก็ไม่มีอะไรใหม่เช่นกัน

Paint

Paint ตัวใหม่ถูกเปลี่ยนหน้าตาครั้งแรกในรอบหลายปี แต่นอกจากปรับดีไซน์ให้โค้งมนกว่าเดิม ก็ไม่มีฟีเจอร์ใหม่

Chats

นอกจากการปรับปรุงหน้าตาของแอพเดิมๆ แล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใน Windows 11 แบบจับยัดคือฟีเจอร์การแชทผ่าน Microsoft Teams ได้จากตัวระบบปฏิบัติการเลย ฟีเจอร์นี้มาแทน Meet Now เดิมของ Windows 10 ที่เป็น Skype แสดงให้เห็นชัดว่าไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับ Teams มากๆ (แม้ยืนยันสุดตัวว่า Skype ยังไม่ตาย)

ปัญหาคือ Teams เป็นที่ยอมรับในการใช้งานภาคธุรกิจจริงๆ แต่การใช้งานฝั่งคอนซูเมอร์ยังจำกัดมากๆ (มีคอนซูเมอร์คนไหนใช้งาน Teams กันบ้างนะ) ทำให้ฟีเจอร์การแชทผ่าน Teams เป็นสิ่งที่ผมก็ไม่รู้จะทดสอบอย่างไร เนื่องจากไม่รู้จะคุยกับใครเช่นกัน (และคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นแบบเดียวกัน)

Windows Terminal

เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ทั่วไปอาจไม่ได้ใช้บ่อยนัก แต่ Windows 11 ได้ผนวกแอพ Windows Terminal ที่ก่อนหน้านี้เปิดให้ดาวน์โหลดแยกต่างหาก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัว OS

การมาถึงของ Windows Terminal ทำให้เรามีแอพเทอร์มินัลตัวใหม่ที่ทันสมัยขึ้นมาก สามารถใช้งานกับ shell ได้หลากหลาย เช่น PowerShell, Command Prompt เดิม (ซึ่งแอพตัวเดิมก็ยังอยู่) หรือแม้แต่ Azure Cloud Shell ถ้าจำเป็นต้องใช้งาน

Microsoft Store

ไมโครซอฟท์เริ่มนำแนวคิด Store มาใช้ครั้งแรกกับ Windows 8 ในปี 2012 โดยได้อิทธิพลมาจาก Windows Phone/Mobile และหวังจะให้เป็นสโตร์เดียวสำหรับทุกอย่าง

ตลอดเวลาเกือบสิบปี เราคงพูดกันได้เต็มปากว่า Microsoft Store ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะแผนการ UWP ของไมโครซอฟท์พังพินาศตาม Windows Phone ไปก่อนหน้านี้ เมื่อแอพสาย UWP เข็นไม่ขึ้น จึงไม่มีเหตุผลอะไรมากนักที่ผู้ใช้จำเป็นต้องมาใช้งาน Microsoft Store

การเปลี่ยนแปลงใน Windows 11 พยายามแก้ปัญหาข้างต้นด้วยวิธีการหลายอย่าง ตั้งแต่การปรับหน้าตาใหม่ให้สวยขึ้น ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น (ซึ่งไมโครซอฟท์ก็ทำได้จริงๆ ไม่รู้ก่อนหน้านี้ไปทำอะไรมาตั้งนาน)

สิ่งที่สองที่ไมโครซอฟท์ทำคือเปิดกว้างให้แอพสาย x86 เดิมขึ้นมาอยู่บน Microsoft Store ได้มากขึ้น ตัวอย่างแอพใหม่ๆ ที่ขึ้นมาบน Microsoft Store ของ Windows 11 ได้แก่ Disney+, Discord, TikTok, Zoom, Adobe Acrobat Reader DC, CorelDRAW หรือแม้กระทั่งเบราว์เซอร์ Opera ที่ถือเป็นคู่แข่งของ Edge (Firefox ประกาศแล้วว่ากำลังจะมา) ถือว่าไมโครซอฟท์ทำผลงานได้ดีขึ้นในแง่ความหลากหลายของแอพบน Store และต้องรอดูว่าในระยะยาวจะพัฒนาขึ้นอีกแค่ไหน จะมีแอพของฝั่งกูเกิล (เช่น YouTube หรือ Chrome) เพิ่มเข้ามาด้วยหรือไม่

ความพยายามอย่างที่สามที่สร้างเสียงฮือฮาตอนประกาศ แต่ยังไม่พร้อมเริ่มใช้งานจริงๆ คือแนวคิด "สโตร์ซ้อนสโตร์" เปิดให้ร้านขายแอพอื่นๆ มาแทรกตัวอยู่ใน Microsoft Store ได้อีกที ซึ่งต้องถือว่าไมโครซอฟท์ใจป้ำสุดๆ แล้ว ตอนนี้มีสโตร์เข้าร่วมแล้ว 2 รายคือ Amazon Appstore (Android) และ Epic Games (Games) ต้องรอดูเช่นกันว่าพอของจริงมาแล้วจะเวิร์คขนาดไหน ถ้าสองรายนี้ประสบความสำเร็จ เราอาจเห็นสโตร์อื่นๆ (เช่น GOG หรือแม้แต่ Steam) ตามมาอีกเช่นกัน

Bugs & Updates

เท่าที่ลองใช้งานมาเกือบสัปดาห์ ผมเจอบั๊กอยู่บ้างประปราย เช่น การต่อจอนอกแล้วไอคอนบน Taskbar หายไป หรือบั๊กตอนสลับภาษาไทย-อังกฤษที่มีป๊อปอัพเลือกภาษาโผล่ขึ้นมา ส่วนบั๊กที่เป็นข่าวก็มีเรื่องประสิทธิภาพกับซีพียู AMD ตรงนี้คงเป็นเรื่องปกติของระบบปฏิบัติการออกใหม่

บั๊กไอคอนบน Taskbar หายเมื่อต่อจอนอก

นอกจากบั๊กแล้ว จากการใช้งานยังเห็นความไม่สมบูรณ์ของ Windows 11 ในหลายๆ จุด โดยเฉพาะอินเทอร์เฟซใหม่ที่ยังทำไม่เสร็จ ทำไม่ทัน โดยเฉพาะการใช้งานบน Dark Mode ที่มีความบกพร่องอยู่พอสมควร (แต่ดีขึ้นจาก Windows 10) พวกนี้คงต้องรอการแก้ไขจากไมโครซอฟท์ในลำดับต่อไป

ในยุคของ Windows 10 เราคุ้นเคยกับการออกรุ่นใหญ่ (Feature Update) ปีละสองครั้ง แต่พอมาเป็น Windows 11 ไมโครซอฟท์เปลี่ยนนโยบายมาเป็นปีละครั้งแทน โดยจะออกช่วงครึ่งหลังของทุกปี (เราคงพอประมาณได้คร่าวๆ ว่าทุกเดือนตุลาคม) เท่ากับว่าอัพเดตแรกของ Windows 11 จะมาในช่วงเดือนตุลาคม 2022 อีกประมาณหนึ่งปีถัดจากนี้

บทสรุป: ควรต้องอัพเกรดหรือยัง

ประสบการณ์ใช้งาน Windows 11 โดยรวมต้องถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ ไม่มีอะไรแย่จนรับไม่ได้ ระบบปฏิบัติการเป็นแกนเดียวกับ Windows 10 ไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพและความเข้ากันได้กับแอพเดิมๆ (ถ้าฮาร์ดแวร์ผ่านเกณฑ์และสามารถติดตั้งได้)

แต่ Windows 11 ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ว้าวมากจนรู้สึกว่าต้องอัพเกรดทันทีเช่นกัน เพราะของใหม่เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องส่วนติดต่อผู้ใช้ล้วนๆ มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าไมโครซอฟท์กำลังต้องการก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ ที่ได้อิทธิพลจาก OS ของอุปกรณ์พกพามากขึ้น

Windows 11 รุ่นแรกยังเป็นก้าวแรกในทิศทางใหม่ที่ว่านี้ แถมยังเป็นก้าวที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เต็มที่นัก ยังมีจุดที่ยังขาดๆ อีกหลายจุด ดังนั้นถ้าไม่ได้เป็นคนที่สนใจของใหม่ที่สุดเสมอ แนะนำให้รออัพเกรดในปีหน้า 2022 เมื่อออกอัพเดตใหญ่ตัวแรกแล้วน่าจะดีที่สุดครับ

Blognone Jobs Premium