การใช้งานภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์มีมานาน 54 ปีแล้ว แต่ในยุคแรกเริ่มเป็นต่างคนต่างทำ ข้อมูลภาษาไทย (คำในแง่เทคนิคคือ รหัสอักขระภาษาไทย) ในคอมพิวเตอร์แต่ละระบบไม่สามารถอ่านข้ามกันได้ง่ายนัก
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์เล่าเบื้องหลังการแก้ปัญหาข้างต้น และวางมาตรฐานภาษาไทยเป็นมาตรฐานกลางให้ทุกฝ่ายใช้งานร่วมกันได้
งานเรื่องการพัฒนามาตรฐานอักขระภาษาไทยเริ่มในปี 2527 โดย ดร.ทวีศักดิ์ สำรวจรหัสอักขระที่ใช้กันในสมัยนั้น และพบว่ามีรหัสอักขระถึง 35 แบบ ทำให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานกลาง (แบบไม่บังคับให้ใช้) ขึ้นมาในปี 2529
หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี ผู้ขายคอมพิวเตอร์ในไทยก็รองรับมาตรฐานของ สมอ. แต่ยังขาดมาตรฐานเรื่องแป้นพิมพ์ หรือวิธีการแก้ไขข้อความบนจอ ฯลฯ ทำให้กลุ่มผู้ขายคอมพิวเตอร์ภาคเอกชน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ก่อตั้งกลุ่ม Thai Application Programming Interface หรือ TAPIC (Thai API Consortium) ขึ้นมา
ผลงานของกลุ่ม TAPIC คือข้อกำหนด วทท. 2.0 “อักขรวิธีสำหรับภาษาไทยสำหรับคอมพิวเตอร์” ที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม 2534 (วทท ย่อมาจาก "วิ่งทุกที่") ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานกลางที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นำไปใช้งานจนถึงปัจจุบัน (เริ่มใช้ใน MS-DOS 6.0 เป็นต้นมา)
ตัวเอกสาร วทท. 2.0 ฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้จากหน้าเว็บของ สวทช.