ผลทดสอบ Intel 12th Gen Alder Lake ชนะ AMD แล้วทั้งซิงเกิล-มัลติคอร์ แต่ร้อนกว่าเดิม

by mk
5 November 2021 - 09:08

วันนี้สื่อหลายเจ้าเผยแพร่รีวิว Intel Core 12th Gen Alder Lake ที่เริ่มวางขาย ผลออกมาค่อนข้างตรงกันว่า Core i9-12900K ซีพียูรุ่นท็อปสุด (8+8 คอร์, ราคาขายปลีก 650 ดอลลาร์) สามารถเอาชนะคู่แข่ง Ryzen 9 5950X (16 คอร์, ราคาขายปลีก 799 ดอลลาร์) ได้ทั้งแบบซิงเกิลคอร์และมัลติคอร์ เป็นสัญญาณว่าอินเทลกลับมาแล้ว (สักที)

สถาปัตยกรรมใหม่ การทดสอบจึงซับซ้อนขึ้น

อย่างไรก็ตาม Alder Lake ถือเป็นการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ของอินเทลในรอบหลายปี ทำให้มีปัจจัยหลายอย่างในการทดสอบที่ซับซ้อนกว่าเดิมมาก

  • การผสมผสานคอร์ 2 ขนาดคือ P-core และ E-core ทำให้การวัดผลเบนช์มาร์คซับซ้อนขึ้น
  • คอร์ไฮบริดต้องมีตัวช่วย Intel Thread Director ที่ระดับฮาร์ดแวร์ แต่ Windows 10 และ Windows 11 รองรับไม่เท่ากัน
  • Alder Lake รองรับทั้งแรม DDR5-4800 และ DDR4-3200 ในขณะที่คู่แข่งยังรองรับเฉพาะ DDR4

การทดสอบบางของสำนัก เช่น AnandTech จึงต้องแบ่งซีนาริโอในการทดสอบ เช่น คอร์ใหญ่อย่างเดียว vs คอร์เล็กอย่างเดียว vs เปิดใช้ทั้งสองคอร์, วัดผล Windows 10 vs Windows 11, DDR5 vs DDR4 เป็นต้น

ผลการทดสอบเบนช์มาร์ค

ผลการทดสอบที่สำคัญมีดังนี้

  • การทดสอบเบนช์มาร์คแบบซิงเกลคอร์ 12900K เอาชนะ Ryzen 5950X ได้ในทุกการทดสอบ ที่ราว 6-16% และถ้าเทียบกับซีพียูอินเทลรุ่นก่อนคือ 11900K (Rocket Lake) เอาชนะได้แบบทิ้งห่าง 18-20%
  • การทดสอบเบนช์มาร์คแบบมัลติคอร์ 12900K เอาชนะ Ryzen 5950X ได้ในการทดสอบส่วนใหญ่ แต่มีข้อแม้ว่า 12900K ต้องใช้กับแรม DDR5 ด้วย ถ้าเป็น DDR4 เท่ากัน Ryzen ยังเหนือกว่า
  • การทำงานของ P-core ที่ใช้สถาปัตยกรรม Golden Cove ดีขึ้นกว่าสถาปัตยกรรม Cypress Cove (11th Gen)
  • การทำงานของ E-core ที่ใช้สถาปัตยกรรม Gracemont ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ 6th Gen Skylake แล้ว โดยใช้พลังงานต่ำกว่ามาก ถึงแม้รากเหง้ามาจากสาย Atom แต่ประสิทธิภาพไม่ได้แย่เลย
  • ระบบปฏิบัติการ Windows 10 vs Windows 11 ไม่ต่างกันมากนัก ในทางทฤษฎี ประสิทธิภาพสูงสุดของทั้งสองระบบปฏิบัติการเท่ากัน แต่ Windows 11 จัดการคอร์ที่รันงานได้ดีกว่าเล็กน้อย
  • แรม DDR5 ให้ผลลัพธ์ดีกว่า DDR4 อย่างเห็นได้ชัดในการรันเบนช์มาร์ค แต่ในการเล่นเกมแทบไม่ต่างกัน

พลังงาน = ร้อนกว่าเดิม

ในประเด็นเรื่องพลังงาน การมีคอร์ 2 แบบทำให้การวัดค่าพลังงานยากขึ้นมาก

  • เปิดเฉพาะคอร์เล็ก E-core อย่างเดียว 8 คอร์ ใช้พลังงาน 48 วัตต์
  • เปิดเฉพาะคอร์ใหญ่ P-core อย่างเดียว 8 คอร์ ใช้พลังงาน 239 วัตต์
  • เปิดคอร์ทุกตัว 8+8 คอร์ ใช้พลังงาน 259 วัตต์ (โหลดจริงสูงสุดที่ 272 วัตต์)

เมื่อเทียบกับ Ryzen 9 5950X (16 คอร์เท่ากัน) ใช้พลังงาน 141 วัตต์ เท่ากับอินเทลใช้พลังงานเยอะกว่ามาก (แต่ 12900K ไม่ได้เยอะกว่า 11900K รุ่นก่อนหน้ามากนัก ใช้ 241 วัตต์)

ประเด็นอื่นๆ

  • อินเทลบอกว่าปิดชุดคำสั่งเวกเตอร์ AVX-512 ใน P-core เพราะ E-core ไม่มี กลัวระบบปฏิบัติการสับสน แต่ AnandTech พบว่าปิดไม่จริง ยังสั่งเปิดใช้ที่ระดับ BIOS ได้
  • ยังไม่รองรับการทำงานบนลินุกซ์อย่างเต็มที่ จากปัจจัยเรื่อง Thread Director
  • บังคับต้องเปลี่ยนบอร์ดใหม่ยกชุด (แถมต้องซื้อแรม DDR5 ด้วยถ้าต้องการประสิทธิภาพสูงสุด)

ที่มา - AnandTech, Ars Technica, PC Gamer

Blognone Jobs Premium