ไมโครซอฟท์เปิดตัว Windows 11 SE ระบบปฏิบัติการรุ่นพิเศษที่จับตลาดการศึกษาโดยเฉพาะ สิ่งที่แตกต่างจาก Windows 11 รุ่นปกติมีด้วยกัน 2 เรื่องใหญ่ๆ
อย่างแรกคือการปรับแต่งมาเพื่อพีซีสเปกต่ำ ราคาถูกระดับ 249 ดอลลาร์ เพื่อแข่งขันกับ Chromebook โดยมีบริษัทพีซีหลายเจ้าประกาศออกสินค้าที่เป็น Windows 11 SE เช่น Acer, ASUS, Dell, Dynabook, Fujitsu, HP, JP-IK, Lenovo, Positivo รวมถึง Surface Laptop SE ของไมโครซอฟท์เอง
อย่างที่สองคือ เน้นการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์เป็นหลัก (ซึ่งงานส่วนใหญ่ของโรงเรียนใช้ผ่านเว็บอยู่แล้ว) นักเรียนไม่สามารถลงแอพใดๆ เพิ่มได้เองเลย และแอดมินของโรงเรียนสามารถติดตั้งแอพเฉพาะที่ไมโครซอฟท์อนุญาตเท่านั้น
แนวทางนี้ต่างจากในอดีตที่ไมโครซอฟท์เคยพยายามทำ Windows 10 S ที่มี S Mode รันได้เฉพาะแอพจาก Microsoft Store เท่านั้น (ซึ่งล้มเหลว) การกลับมารอบนี้ ไมโครซอฟท์ไม่มี Microsoft Store มาให้ แต่อนุญาตให้ติดตั้งแอพแบบเนทีฟ x86 ที่อยู่นอก Microsoft Store ได้ด้วย แต่เฉพาะใน 6 หมวดที่กำหนด ได้แก่
ตอนนี้ยังไม่มีรายชื่อแอพเป็นรายตัว แต่แอพที่ไมโครซอฟท์ระบุชื่อแล้วว่าทำได้แน่ๆ คือ Chrome และ Zoom (และยังมี Microsoft Office ติดตั้งมาให้แต่แรก) เพราะมองว่าเป็นแอพที่จำเป็นสำหรับการใช้งานในห้องเรียน กระบวนการติดตั้งแอพและจัดการเครื่องจะต้องทำผ่าน Microsoft Intune for Education (ไมโครซอฟท์ระบุว่าถ้าอยากได้ฟีเจอร์ติดตั้งแอพตามปกติ ก็มี Windows 11 Pro Education ให้อยู่แล้ว)
การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ คือ รองรับการเปิดแอพแบบเต็มหน้าจอ, ไม่มีฟีเจอร์ widget ของ Windows 11 มาให้ด้วย, Microsoft Edge รองรับส่วนขยายของ Chrome (ซึ่งโรงเรียนนิยมใช้กัน) เป็นค่าดีฟอลต์, เปิดใช้การเก็บไฟล์บน OneDrive โดยจะซิงก์ไฟล์ในเครื่องให้ทำงานออฟไลน์ได้
Windows 11 SE เน้นขายตลาดภาคการศึกษา ไม่ขายปลีกสำหรับผู้ใช้ทั่วไป และไม่สามารถอัพเกรดจาก Windows 10 หรือ Windows 11 รุ่นปกติได้