โดนอเมริกาแบนแล้วไง หน่วยวิจัยจีนหันมาทำซีพียู RISC-V ตั้งเป้าออกรุ่นใหม่ทุก 6 เดือน

by mk
13 December 2021 - 06:04

Chinese Academy of Sciences หน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีน หันมาทำซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรมเปิด RISC-V โดยประกาศว่าจะออกดีไซน์ซีพียูรุ่นใหม่ทุก 6 เดือน ตามรอบการปรับสเปกของ RISC-V Foundation ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่ดูแลมาตรฐานชุดคำสั่งของ RISC-V

ก่อนหน้านี้ CAS เคยพัฒนาซีพียูจีน Loongson มาตั้งแต่ปี 2010 โดยใช้สถาปัตยกรรม MIPS แต่เมื่อภายหลัง CAS เป็นหนึ่งในหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีนที่โดนสหรัฐอเมริกาแบนการทำการค้าด้วย ทำให้ CAS ต้องหันมาพัฒนาซีพียูบนสถาปัตยกรรมเปิดอย่าง RISC-V ที่ใครก็มาใช้งานได้

ซีพียูของ CAS ใช้ชื่อเรียกว่า XiangShan (สเปกและข้อมูลอยู่บน GitHub) ตอนนี้ออกมาแล้วหนึ่งรุ่นคือ Yanqihu เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ส่วนซีพียูรุ่นที่สอง Nanhu เปิดตัวแล้วในงาน RISC-V Summit สัปดาห์ที่ผ่านมา และจะออกตัวจริงช่วงต้นปี 2022

ข้อมูลจาก CAS ระบุว่า Yanqihu มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ SiFive P550 และใกล้เคียงกับ Arm Cortex-A76 โดยออกแบบมาสำหรับการผลิตที่ 28 นาโนเมตร

ส่วน Nanhu เป็นชิป 64 บิต เร็วกว่าเดิม 2 เท่า เป็นชิปดูอัลคอร์ รันที่คล็อค 2.0GHz และออกแบบมาผลิตที่ 14 นาโนเมตร โดยโรงงาน SMIC บริษัทชิปของประเทศจีน

เบื้องต้น CAS ยังออกแบบซีพียูเพื่อการวิจัยเท่านั้น ยังไม่มีแผนจะออกเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ปิดกั้นหากจะมีบริษัทจีนมาทำผลิตภัณฑ์ขาย ทีมออกแบบซีพียูของ CAS มีประมาณ 30 คน โดยแบ่งเป็นวิศวกร 5 คน และนักศึกษาอีก 25 คน ฟีเจอร์บางอย่างดึงมาจากซีพียูของ SiFive ที่เปิดพิมพ์เขียวเป็นโอเพนซอร์สอยู่แล้ว

นอกจาก CAS แล้ว จีนยังมีบริษัท StarFive ที่ทำซีพียู RISC-V รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ก็พัฒนาซีพียู RISC-V และเปิดเป็นโอเพนซอร์สเช่นกัน

ผู้สนใจสามารถดู เอกสารนำเสนอของ XiangShan

ที่มา - The Register, The Register

Blognone Jobs Premium