รีวิว Google Pixel 6 การกลับมาที่ยิ่งใหญ่ของหนึ่งในมือถือ Android ที่ดีที่สุด

by BlackMiracle
3 January 2022 - 11:20

หลังจากดูซบเซาและไร้เสน่ห์มาหลายรุ่น ตอนนี้ Google Pixel กลับมาแล้วด้วย Pixel 6 และ Pixel 6 Pro เพราะคิดใหม่ทำใหม่ อัพเกรดฮาร์ดแวร์ขึ้นในทุกด้านจากรุ่นที่แล้ว พร้อมชิป Tensor ที่กูเกิลออกแบบเอง กล้องอัพเกรดใหม่หมด เสริมด้วย Computational Photography ที่สร้างชื่อมายาวนาน พ่วง AI เข้ามาอยู่ในทุกจุดของการใช้งาน

จุดเริ่มต้นของมือถือ Pixel มาจากมือถือ Nexus ในอดีตที่กูเกิลพยายามจะทำตัวเป็น "ไกด์" ให้ผู้ผลิตมือถือในยุค 10 ปีก่อนเห็นว่ากูเกิลอยากให้สมาร์ทโฟน Android มีแนวทางอย่างไร (คล้ายแนวคิดที่ Microsoft ทำ Surface) ใช้วิธีจับมือกับผู้ผลิตหลายยี่ห้อ เช่น HTC, LG, Samsung และ Huawei ก่อนจะออกรุ่นสุดท้ายคือ Nexus 6P ในปี 2015 และประกาศปิดโครงการ

LG Nexus 5X

ในปี 2016 ก็เปิดตัวมือถือ Google Pixel ถือเป็นมือถือรุ่นแรกที่ใช้แบรนด์กูเกิลทำตลาด สร้างความฮือฮาอย่างมากเพราะภาพถ่ายจากกล้องนั้นสวยกว่ามือถือใดๆ ในยุคเดียวกัน (ปีนั้นฝั่งแอปเปิลเป็น iPhone 7) อีกทั้งยังเริ่มใช้ศัพท์ที่ฟังดูเท่ๆ อย่าง Computational Photography เพราะกูเกิลมีทีมที่ทำวิจัยเรื่องภาพถ่ายแล้วนำซอฟท์แวร์มาช่วยปรับแต่งภาพหลังถ่ายเสร็จให้ดูสวยงามและเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังตั้งมาตรฐานการออกอัพเดตเวอร์ชันใหญ่ให้นาน 2 ปีและปล่อยอัพเดตความปลอดภัยทุกเดือน

ต่อมาในปี 2017 ก็ออก Pixel 2 ที่อัพเกรดกล้องและแก้ปัญหาของ Pixel 1 จนทุกอย่างเริ่มเข้าที่ ซึ่งก็ยังสร้างชื่อต่ออีกเพราะคว้าแชมป์กล้องมือถือที่ดีที่สุดจาก DxOMark ไปครองเป็นปีที่สอง นอกจากนี้ยังเป็น Pixel ที่แทบจะไม่มีปัญหาเลย (ผู้เขียนใช้ตั้งแต่มันออกจนถึงต้นปี 2021 แบบสบายๆ)

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตมือถือเจ้าอื่นเริ่มตามทันหลังจากนั้น และเป็นกูเกิลเองที่ไม่ยอมอัพเกรดเซ็นเซอร์กล้องอีกเลย เชื่อมั่นในพลังของซอฟท์แวร์ว่าจะใช้ได้อีกนาน ลากใช้เซ็นเซอร์กล้อง Sony IMX362/363 ตั้งแต่ Pixel 2 ยาวจนถึง Pixel 5 อีกทั้งสเปกอื่นๆ ของ Pixel ก็สู้เจ้าอื่นไม่ได้ (จุดที่โดนวิจารณ์มากที่สุดคือมักจะให้แบตเตอรี่ขนาดเล็กมาตลอด) ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ความนิยมของ Pixel ค่อยๆ ถดถอยลงไปตั้งแต่รุ่น 3 หรือ 3a เป็นต้นมา และซ้ำร้ายในรุ่น Pixel 5 ที่ตัดสินใจไม่ใช้ชิปตัวท็อปของปีอีก กลายเป็นมือถือที่ไม่มีจุดเด่นอีกต่อไป

มาปี 2021 กูเกิลคงจะรู้ตัวแล้วกลับมาตั้งใจทำมือถือให้สู้เจ้าอื่นได้ ประจวบเหมาะกับที่โครงการพัฒนาชิปของตนเองเสร็จพอดี จึงเปิดตัวชิปใหม่ในชื่อ Google Tensor ที่คุยว่ารันโมเดล AI ในระดับศูนย์ข้อมูลได้ นำมาใส่ใน Pixel 6 และ Pixel 6 Pro เป็นรุ่นแรก เมื่อมาเจอกับ Computational Photography การถ่ายภาพและวิดีโอก็ได้ความสามารถใหม่ๆ เพิ่มอีก เช่นทำ HDR ได้กับวิดีโอทุกเฟรมที่ความละเอียด 4K 60 fps ไปถึงการปรับภาพหน้าคนไม่ให้เบลอ และการลบคนออกจากภาพถ่าย

สเปกด้านอื่นก็อัพเกรดขึ้นอย่างมาก เช่นกล้องหลักก็เปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์ ISOCELL GN1 จาก Samsung รวมถึงกล้องอัลตราไวด์ก็อัพเดตใหม่และยังเป็นครั้งแรกที่ Pixel มีกล้องหลัง 3 ตัว โดยรวมกล้องซูม 20X เข้ามาด้วย (เฉพาะ Pixel 6 Pro) อีกทั้งกล้องหน้าก็อัพเกรดใหม่เช่นกัน ด้านแบตเตอรี่ก็ให้มาแบบเริ่มสู้คนอื่นได้ แบตจุ 4614 mAh ใน Pixel 6 และ 5000 mAh ใน Pixel 6 Pro

ภาพด้านหลังของ Pixel 6 Pro ที่มีกล้อง 3 ตัว (Pixel 6 ที่รีวิวนี้ไม่มีกล้องเทเลโฟโต้)

ขณะนี้ผมใช้งาน Pixel 6 มาได้เดือนกว่าแล้ว เลยนำมาเขียนรีวิวชิ้นนี้ครับ

ภายในกล่องของ Pixel 6 เวอร์ชันอเมริกา มีเพียงตัวเครื่อง, เข็มจิ้มซิม, สายชาร์จ USB-C to USB-C ยาว 1 เมตร, หัวแปลง USB-A to USB-C และเอกสารเล็กน้อย ไม่มีอะแดปเตอร์ชาร์จไฟมาให้อีกต่อไป

ในการใช้งานทั่วไป Pixel 6 ย่อมไม่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ ผมไม่รู้สึกถึงความช้าใดๆ ตลอดการใช้งาน ทั้งนี้ ผมไม่เล่นเกมบนมือถือและไม่ได้ใช้งานแอพหนักๆ เช่นตัดต่อวิดีโออยู่แล้ว จึงอาจรีวิวการใช้งานหนักไม่ได้มากนัก แต่ขอแนบผลการรันเบนช์มาร์คจาก Geekbench มาให้ดูกัน (ลิงค์คะแนนอย่างละเอียด)

กล้อง

ข้ามมาที่จุดเด่นที่สุดของ Pixel เลยก็คือกล้อง อย่างที่กล่าวไปตอนแรกว่า Pixel 6 ใช้เซ็นเซอร์ GN1 ความละเอียด 50 ล้านพิกเซลจาก Samsung ที่มีความสามารถรวม 4 พิกเซลกลายเป็น 1 ทำให้ขนาดเม็ดพิกเซลขยายจาก 1.2 เป็น 2.4 ไมโครเมตร หมายความว่าภาพที่ได้จะสว่างขึ้นนั่นเอง

โทนภาพที่ได้จากกล้องหลักค่อนข้างตรงกับสีจริงของวัตถุและสิ่งแวดล้อมจริงซึ่งเป็นจุดเด่นของกล้อง Pixel มาโดยตลอดอยู่แล้ว และในรุ่นนี้ก็ปรับปรุงขึ้นไปมากกว่าเดิมด้วยฟีเจอร์ Real Tone ให้ถ่ายภาพบุคคลที่มีสีผิวเข้มโดยที่โทนของสีผิวเหมือนบุคคลนั้นจริงๆ ไม่กลายเป็นเทาหรือผิดเพี้ยนไปเหมือนมือถือรุ่นอื่นๆ เพราะกล้องนึกว่าถ่ายภาพที่มืดเลยพยายามเร่งความสว่าง

ภาพโดยกูเกิล

อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าในบางสถานการณ์ซอฟท์แวร์กล้องพยายามประมวลผล HDR จัดเกินไป ทำให้ภาพดูมีคอนทราสต์สูงจนไม่เป็นธรรมชาติ ตรงกับที่หลายสำนักรีวิวของต่างประเทศก็พูดถึงกัน อันนี้คงต้องรอดูว่ากูเกิลจะอัพเดตซอฟท์แวร์มาปรับปรุงได้มากน้อยเพียงใด

ตัวอย่างเช่นภาพด้านล่างนี้ ถ่ายที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2021 (ตั้งแต่แรกๆ ที่ Pixel 6 วางจำหน่าย ยังไม่ได้รับอัพเดตอะไรมากนัก) ถ่ายช่วงเช้าเวลา 6:30 น. จะเห็นว่าสีของทั้งภาพค่อนข้างซีด (washed out) สีผิวดูซีดกว่าความเป็นจริง และ noise ค่อนข้างเยอะ ทั้งที่บรรยากาศตอนนั้นแสงก็ไม่ได้น้อยจนมองอะไรไม่เห็นเพียงแต่หมอกเยอะเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีภาพอื่นที่ถ่ายติดๆ กันในจุดเดียวกันนี้และสีผิวดูซีดกว่าตัวจริงไปมาก (แย่กว่าภาพนี้) แต่ด้วยความเป็นส่วนตัวของบุคคลจึงไม่สามารถลงภาพให้ได้เห็นกันครับ และเป็นที่น่าเสียดายที่ผมไม่ได้ลองใช้มือถือรุ่นอื่นถ่ายมาเทียบว่าต่างกันเพียงใด

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์อื่นๆ แทบจะ 100% ผมคิดว่ากล้องของ Pixel 6 ทำได้น่าประทับใจ เรียกว่าถ่ายมาแล้วสวย ใช้งานได้แน่นอน เช่นภาพถ่ายใบเฟินนี้ เก็บรายละเอียดได้ดีอย่างยิ่ง รวมถึง depth-of-field ก็สวยงามใช้ได้ (คำบรรยายอยู่ใต้ภาพ)

รูปนี้ไม่ได้ใช้โหมด Portrait แต่ใช้ซูม 2 เท่า ก็ยังเห็นรายละเอียดได้เยอะอยู่

รูปนี้ซูม 2 เท่า + แต่งสีในแอพ Google Photos เล็กน้อย

ช่วงโพล้เพล้ ณ อำเภอเชียงคาน

นอกจากนี้ยังมีภาพเทียบระหว่างกล้องอัลตราไวด์ (0.7x) กล้องหลัก (1x) และซูมเข้าเรื่อยๆ จนสุดที่ 7x โดยถ่ายจากจุดเดียวกัน ซึ่ง Pixel มีฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Super Res Zoom ที่ช่วยให้ภาพที่ผ่านการออปติคัลซูมมีรายละเอียดดียิ่งขึ้น (มีมาตั้งแต่ Pixel 3 แล้ว)

มาถึงอีกหนึ่งจุดแข็งของ Pixel กันบ้าง นั่นก็คือ "ภาพถ่ายเวลากลางคืน" เพราะจะได้ใช้งานฟีเจอร์ Night Sight ที่กูเกิลภูมิใจหนักหนา พัฒนามายาวนาน

ช่วงเวลาโพล้เพล้ ณ เขื่อนศรีนครินทร์

สุดทางของการถ่ายภาพกลางคืนก็คือการถ่ายภาพดาว ซึ่ง Pixel ก็ได้เพิ่มโหมด Astrophotography เข้ามาตั้งแต่ Pixel 4 แต่อัพเดตให้ Pixel 3 และ 3a ด้วย โดยจากการลองใน Pixel 6 ก็ทำออกมาได้น่าพอใจ ดาวชัดกำลังดี ไม่ยืด ซึ่งการใช้งานโหมดนี้จะลำบากสักหน่อย เพราะผู้ใช้ไม่สามารถกดเข้าโหมดถ่ายดาวเองได้ มือถือจะตัดสินใจเอง สิ่งแวดล้อมต้องมืดมากพอ และมือถือต้องนิ่งพอ (ต้องติดกับขาตั้งหรือพิงไว้เฉยๆ ไม่มีทางที่จะใช้มือได้) แล้วมันจะตัดเข้าโหมดถ่ายดาวให้เอง

ภาพด้านล่างนี้แทบจะมืดสนิทเพราะอยู่ในแพริมเขื่อนศรีนครินทร์ มีเพียงแสงจุดๆ จากแพลำอื่นไกลๆ และบ้านบนเขาเท่านั้น หลังกดถ่ายแล้วหน้าจอจะขึ้นนาฬิกานับถอยหลัง ของผมใช้เวลาราว 4 นาทีเต็มจึงถ่ายเสร็จ

สุดท้ายยังมีโหมดที่เป็นของใหม่ใน Pixel 6 คือ Long Exposure (ลากชัดเตอร์ยาว) กับ Action Pan (ถ่ายภาพเคลื่อนไหวเร็วๆ)

สำหรับโหมด Long Exposure ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นการเลียนแบบการเปิดหน้าชัตเตอร์ยาวในกล้อง DSLR, mirrorless โดยมือถือบางรุ่นก็มีกันมานานหลายปีแล้ว หลักๆ ก็ใช้ถ่ายภาพไฟลากสวยๆ ตอนกลางคืน

ส่วนโหมด Action Pan ใช้ถ่ายวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวเร็วๆ แล้วเราขยับกล้องตามวัตถุนั้นๆ เพื่อให้วัตถุนั้นชัดแต่ฉากหลังเบลอๆ ภาพที่ได้จะให้ความรู้สึกมีความเคลื่อนไหว นิยมใช้ในการถ่ายภาพกีฬาหรือรถแข่ง ซึ่งวิธีการใช้ใน Pixel 6 ก็ต้องทำเหมือนกล้อง DSLR จริงๆ คือเมื่อวัตถุเคลื่อนที่เข้ามาก็กดชัตเตอร์แล้วลากกล้องตามวัตถุนั้น

สำหรับโหมด Portrait จะได้ประมาณนี้ (ภาพไม่ได้ distort แต่แจกันเบี้ยวอยู่แล้ว)

อีกฟีเจอร์ใหญ่เกี่ยวกับภาพถ่ายคือ Magic Eraser ที่ลบคนหรือวัตถุที่ไม่ต้องการออกได้ เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้แล้ว อ่านได้ที่นี่

สำหรับจุดที่ไม่ชอบหรือใช้แล้วรำคาญก็มีไม่มากนัก อย่างเช่นการสแกนนิ้วบนหน้าจอก็ช้ากว่าแบบรุ่นเก่าที่เป็นเซ็นเซอร์บนฝาหลังอย่างชัดเจน รวมถึงต้องกดปุ่มพาวเวอร์หรือแตะหน้าจอให้ติดก่อน (ผมไม่ได้ใช้ always-on display) แต่ปัญหาสแกนนิ้วไม่ติดผมกลับไม่รู้สึกว่าแย่มากอย่างที่เป็นข่าว คิดว่าเพราะตอน enroll ลายนิ้วมือต้องตั้งใจทำ พยายามแปะนิ้วลงไปเต็มๆ หลายๆ มุม ให้มันเรียนรู้ลายนิ้วมือเราได้ดีๆ ก็จะลดปัญหาไปได้มาก (ผมไม่ได้ใช้ฟิล์มกันรอยด้วย) และหลังจากอัพเดตแพตช์เดือนธันวาคมก็รู้สึกว่าดีขึ้นอีกนิดหน่อย

นอกจากนี้ด้วยความที่ใช้ Pixel มาตลอด (Nexus 5X > Pixel 1 > Pixel 2 > Pixel 5 > Pixel 6) ทำให้ผมชินกับมือถือขนาดไม่ใหญ่มาก พอมาใช้ Pixel 6 ต้องปรับตัวพอสมควร อีกทั้งน้ำหนักก็หนักกว่า Pixel 5 มากๆ และเป็นประเด็นที่มีคนบ่นกันไม่น้อย รู้สึกว่าเมื่อยมือหากใช้งานนานๆ

ส่วนแบตเตอรี่ที่สำนักรีวิวหลายเจ้าเสียงแตกกัน บางเจ้าก็บอกว่าแบตอยู่ได้นานมาก บ้างก็ว่าอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมง ของผมในช่วงแรกๆ เรียกว่าเข้าขั้นแย่มากๆ ใช้งานทั่วไปอยู่ได้ไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง (ตัวเลข screen-on time จากแอพ AccuBattery Pro) แต่หลังจากใช้ไปพักใหญ่ๆ (หลักเดือน) พบว่าแบตเตอรี่อยู่ได้นานขึ้น คาดว่าน่าจะเพราะฟีเจอร์ Adaptive Battery เรียนรู้ลักษณะการใช้งานของเราได้แล้ว โดยล่าสุดตอนนี้จากแบต 100% ใช้งานถึง 5% อยู่ได้ 24 ชั่วโมง 51 นาที และ screen-on time อยู่ที่ 6 ชั่วโมง 4 นาที ทั้งนี้โดยรวมผมว่า Pixel 6 ก็ยังไม่ใช่มือถือที่เรียกได้เต็มปากว่า "แบตอึด"

ฟีเจอร์อื่นๆ ที่กูเกิลโฆษณาไว้เยอะในกลุ่ม AI ว่าจะใช้พลังของชิป Tensor ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น เช่น Live Caption ที่เครื่องจะฟังเสียงมีเดียที่เล่นอยู่แล้วแปลงคำพูดออกมาเป็นตัวหนังสือบนจอก็ใช้งานได้ดี แต่ผมไม่เห็นความแตกต่างจากใน Pixel 5 มากนัก ความเร็วก็เหมือนจะเท่าเดิม คือไม่ได้ขึ้นข้อความตามปากทันที แต่จะหน่วงประมาณ 1-2 วินาที ส่วนที่ทำได้ดีคือการเติมเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ เช่น ปรัศนี (?), จุลภาค (,) และมหัพภาค (.) โดยผมสังเกตดูพบว่าเติมเครื่องหมายได้ถูกต้องตามบริบทของคำพูดในวิดีโอราว 60-70% ส่วนการแปลงคำพูดเป็นตัวหนังสือก็ถูกต้องราว 70-85%

สิ่งที่ต้องทำใจยอมรับสำหรับการใช้ Pixel ทุกรุ่นในประเทศไทยคือการที่ไม่สามารถใช้งาน VoLTE, 5G รวมถึง Wi-Fi Calling ได้ แม้ฮาร์ดแวร์เครื่องจะรองรับก็ตาม เนื่องจากฟีเจอร์เหล่านี้ต้องผ่านการรับรองที่เครือข่ายมือถือก่อนจึงจะใช้งานได้ ทำให้ Pixel ที่ไม่มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยก็ไม่ได้ถูกนำมา certify กับเครือข่ายนั่นเอง แม้กลุ่มผู้ใช้ในไทยจะเริ่มใหญ่ขึ้นแต่ก็ไม่มีท่าทีว่ากูเกิลจะเพิ่มประเทศที่ทำตลาดมากขึ้นไปกว่านี้ ผมไม่คิดว่าจะเห็น Pixel ถูกนำมาจำหน่ายและมีศูนย์บริการอย่างเป็นทางการในไทยในอนาคตเลย อย่างไรก็ดี หากกูเกิลประเทศไทยขยับสักหน่อยและเจรจากับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในไทยเพื่อเปิดฟีเจอร์ข้างต้นให้ก็คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย

สรุป

Pixel 6 ถือว่าเป็นมือถือที่ดีรุ่นหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาหยุมหยิมที่ต้องดูว่าจะออกอัพเดตมาแก้ไขได้เพียงใด กล้องที่เป็นตัวชูโรงก็ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะได้ภาพที่ดีมากในแทบจะทุกสถานการณ์ รวมถึงเมื่อพิจารณาว่าราคาเริ่มต้นเพียง 599 ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ถึง 20,000 บาท (ไม่รวมภาษีในแต่ละรัฐ) แต่ได้มือถือสเปกเรือธงที่พอฟัดเหวี่ยงกับเรือธงยี่ห้ออื่นได้ก็จัดว่าคุ้มค่ามากทีเดียว

Blognone Jobs Premium