ในงาน CES 2022 นอกจาก Alder Lake สำหรับโน้ตบุ๊ก อินเทลยังเปิดตัวซีพียู Alder Lake สำหรับเดสก์ท็อปเพิ่มเติม จากรอบแรกที่เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2021
Alder Lake สำหรับเดสก์ท็อปรอบแรกเปิดตัวมา 6 รุ่นย่อย (i5, i7, i9) เป็นซีรีส์ K/KF ที่ไม่ล็อคสัญญาณนาฬิกา เน้นตลาดลูกค้ากลุ่ม enthusiast นำไปประกอบเครื่องและโอเวอร์คล็อคเป็นหลัก
การเปิดตัวชุดที่สองนี้เป็นชุดใหญ่ 22 รุ่นย่อย เน้นลูกค้า mainstream ใช้งานทั่วไป มีตั้งแต่ระดับบน i9 ไล่ไปจนถึง Pentium/Celeron ซึ่งอินเทลบอกว่าเป็นการเปิดตัว Core 12th Gen เดสก์ท็อปครบทั้งไลน์แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือคอร์ประหยัดพลังงาน E-core มีเฉพาะใน Core i7 ขึ้นไปเท่านั้น ถ้าเป็น Core i5 ลงไปมีแต่ P-core อย่างเดียว เท่ากับว่าได้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมใหม่ของ P-core (Golden Cove) ที่แรงขึ้นกว่าคอร์ Willow Cove เดิมเท่านั้น แต่ไม่ได้ประโยชน์จากการเพิ่ม E-core เข้ามาช่วยประมวลผลด้วย
Core 12th Gen ที่เปิดตัวรอบนี้ มีทั้ง S-series สายมาตรฐาน 65 วัตต์ และ T-series สายประหยัดพลังงาน 35 วัตต์ รุ่นท็อปสุดคือ Core i9-12900 (16 คอร์ 24 เธร็ด, 8P+8E) ไปจนถึงรุ่นล่างสุด Celeron G6900 (2 คอร์ 2 เธร็ด, 2P+0E)
ซีพียูที่อินเทลนำมาโชว์เยอะหน่อยคือ Core i5-12600 ซึ่งถือเป็นรุ่นสูงสุดที่ไม่มี E-core (6P+0E) โดยโฆษณาว่าแรงกว่า Ryzen 7 5700G ที่เป็นซีรีส์สูงกว่าด้วยซ้ำ ต้องรอดูกันว่า Ryzen 7000 สำหรับเดสก์ท็อปที่จะเปิดตัวช่วงครึ่งหลังของปี จะสามารถชิงตำแหน่งคืนมาได้หรือไม่
นอกจากนี้ อินเทลยังเปิดตัวพัดลมใหม่ Laminar Coolers ที่แถมมาในกล่องกับซีพียูกลุ่ม 65 วัตต์ แยกเป็น 3 รุ่นย่อยตามเกรดคือ RH1 (i9), RM1 (i7, i5, i3), RS1 (Pentium, Celeron)
สุดท้ายคือการเปิดตัวชิปเซ็ต 600 Series รุ่นรองลงมาอีก 3 ตัวคือ H670, B660, H610 เพิ่มเติมจากรุ่นท็อป Z690 ที่เปิดตัวไปแล้วพร้อม Alder Lake ชุดแรก
ชิปเซ็ตแต่ละตัวมีความสามารถลดหลั่นกันไปตามตาราง เช่น รุ่นล่างสุด H610 ไม่รองรับ PCIe 4.0 เลยด้วยซ้ำ ในขณะที่รุ่นรองท็อป H670 มีความสามารถลดลงจาก Z690 เล็กน้อยในเรื่องโอเวอร์คล็อค
ที่มา - Intel, Intel (PDF)