นักวิจัยปรับปรุงแบตเตอรีซัลเฟอร์สำเร็จ เก็บพลังงานได้ 2-5 เท่า ชาร์จได้ถึง 2,000 ไซเคิล

by mheevariety
2 March 2022 - 06:31

นักวิจัยที่มหาวิทลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย นำโดยศาสตราจารย์ Matthew Hill, ด็อกเตอร์ Mahdokht Shaibani และศาสตราจารย์ Mainak Majumber ทำการปรับปรุงแผ่นคั่นสำหรับแบตเตอรีลิเธียม-ซัลเฟอร์ ได้สำเร็จ โดยทำให้การถ่ายโอนลิเธียมไออนทำได้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพรวมถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรี

ศาสตราจารย์ Matthew Hill ระบุว่าการใช้แผ่นคั่นแบบ nanoporous interlayer ทำให้ส่งผ่านลิเธียมได้เร็วขึ้น ส่งผลให้การชาร์จและปล่อยกระแสทำได้เร็วขึ้นและแก้ปัญหาเดิมที่ทำให้แบตเตอรีชนิดนี้มีอายุสั้น โดยทำให้สารโพลีซัลไฟด์ที่เกิดจากปฏิริยาเคมีและทำให้อายุการใช้งานสั้นลง เดินทางระหว่างแอโนดและแคโทดไม่ได้

ภาพ Pixabay

แบตเตอรีลิเธียม-ซัลเฟอร์ มีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่าแบตเตอรีลิเธียมไอออนราว 2-5 เท่า และการปรับปรุงนี้ อาจทำให้รอบชาร์จของแบตเตอรีนี้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 2,000 ไซเคิลโดยประสิทธิภาพไม่ด้อยลง เทียบกับมือถือยุคปัจจุบันที่ชาร์จได้ราว 500-1,000 ไซเคิลก่อนเสื่อมสภาพ

นอกจากนี้แบตเตอรีลิเธียม-ซัลเฟอร์ ยังไม่ต้องใช้ส่วนประกอบของแร่หายากเช่นโคบอลต์ นิกเคิล และแมงกานีสแบบแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนทั่วไป ทำให้แบตเตอรีนี้ดูจะมีอนาคตในการใช้งานจริงแบบผลิตจำนวนมากในอนาคต

อ่านบทคัดย่อของงานวิจัยได้ที่นี่

ที่มา - Royal Society of Chemistry via Reneweconomy

Blognone Jobs Premium