IBM ประเทศไทย แต่งตั้งคุณสวัสดิ์ อัศดารณ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา
คุณสวัสดิ์ ถือเป็นพนักงานลูกหม้อของ IBM ประเทศไทย ทำงานมาตั้งแต่ปี 1990 โดยก่อนหน้านี้เป็นผู้จัดการทั่วไปของ IBM Consulting (Thailand) ฝั่งธุรกิจคอนซัลต์ ก่อนมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IBM Thailand อีกตำแหน่ง
Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสวัสดิ์ในโอกาสที่รับตำแหน่งใหม่ และสอบถามมุมมองการเปลี่ยนแปลงของ IBM ตลอดการทำงาน 30 กว่าปีที่ผ่านมา
ผมอยู่กับ IBM มานาน 32 ปี เริ่มทำงานในปี 1990 ตอนแรกจบมาทางสายบัญชีจากจุฬาฯ เข้ามาทำงานเป็นนักวิเคราะห์การเงิน (financial analyst) ดูแลส่วนงานเกี่ยวกับราคา (pricing) จากนั้นไปดูแลลูกค้ากลุ่มธนาคาร และธุรกิจด้านเอาท์ซอร์ส ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย
จากนั้นเปลี่ยนมาหลายตำแหน่ง มาดูแลงานด้าน Global Finance ในปี 2000 แล้วมาดูแลงานด้านการตลาด เซลส์ ก่อนเข้ามาเป็นหัวหน้าของ IBM Consulting ในปี 2019 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IBM Thailand เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในฐานะที่อยู่กับ IBM มานาน เห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทมาตลอด IBM ผ่านการทำ transformation ใหญ่ๆ มา 3 ครั้ง
ยุคแรกคือช่วงปี 1994 ที่ Louis Gerstner เข้ามาเป็นซีอีโอกู้วิกฤต เปลี่ยนจากธุรกิจฮาร์ดแวร์มาเป็นบริการ เดิมที IBM ขายฮาร์ดแวร์แล้วพ่วงบริการ สิ่งที่ Gerstner ทำคือแยกตัวบริการออกมาจากฮาร์ดแวร์ ตั้งเป็นหน่วยธุรกิจใหม่แยกออกมา ทำการตลาดแยกกัน ขายแยกกัน
ยุคถัดมาคือ IBM หันมาเน้นเรื่องซอฟต์แวร์มากขึ้น ผ่านการซื้อกิจการบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ในยุคที่เราพูดถึงซอฟต์แวร์พวกฐานข้อมูลหรือ middleware ตอนนั้น IBM มีครบทุกอย่าง ทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกรอบ
การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดคือ การแยกธุรกิจส่วน infrastructure management ออกเป็นอีกบริษัทคือ Kyndryl ทำให้องค์กรมีความซับซ้อนน้อยลง ตอนนี้แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่มธุรกิจคือ IBM Technology Group (hardware, infrastructure, software, platform) และ IBM Consulting
ถึงแม้ตัวธุรกิจของ IBM เปลี่ยนไปเยอะ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ยังคงอยู่เสมอมาคือ core value ของบริษัท ที่เน้น 3 เรื่องคือ customer success, innovation, integrity แม้ว่าชื่อเรียกอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่คุณค่าหลักของมันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่พนักงานยึดถือกันมานาน
สิ่งที่ IBM ทุกวันนี้นิยามตัวเองคือเราเป็นบริษัท Hybrid Cloud & AI และในอีกด้านก็มีธุรกิจด้านคอนซัลต์ ที่ช่วยองค์กรทำ transformation ให้เปลี่ยนแปลงตัวเองเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ การเปลี่ยนผ่านให้ประสบความสำเร็จต้องมีทั้งฝั่งเทคโนโลยี และฝั่งคอนซัลต์ร่วมกันทั้งสองด้าน
ผมขอยกตัวอย่างอุตสาหกรรมธนาคาร ในอดีตเราสามารถพยากรณ์ workload ของระบบไอทีธนาคารได้ง่าย เพราะมีแพทเทิร์นชัดเจน เช่น ตอนสิ้นเดือนที่มีการจ่ายเงินเดือน โหลดจะเยอะมาก ทำให้ฝั่งไอทีสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป บริการธนาคารเปลี่ยนรูปแบบ ตัว workload ก็เปลี่ยนไปจากเดิม พอคนเข้าธนาคารผ่านมือถือ ไม่ต้องไปสาขา รูปแบบของ workload กระจายตัวมากขึ้น มีงานหลายชนิดขึ้น ในมุมมองของไอทีจึงต้องหาโมเดลใหม่เพื่อไปบริหารมัน
IBM มองว่าสิ่งนี้คือโอกาส เราจึงทำธุรกิจ hybrid cloud & infrastructure เพื่อมารับมือกับ workload รูปแบบใหม่ๆ นี้
องค์กรธุรกิจเดิมตอนนี้ต้องการทำ transformation โดยมีจุดเริ่มต้นว่าต้องการสร้าง frontend คือส่วนที่ต้องรับมือกับลูกค้าในช่องทางใหม่ๆ เช่น ผ่านมือถือหรือผ่านคอลล์เซ็นเตอร์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัด และองค์กรมักโฟกัสกับงานตรงนี้เป็นหลัก
แต่ IBM พบว่าการเน้นทำ frontend อย่างเดียวไม่พอ หากตัวแกนหลักของธุรกิจคือ backend หรือ process ภายในไม่ได้ขยับตามไปด้วย ถ้าให้ยกตัวอย่างคือ ธนาคารอาจให้บริการเงินกู้ (lending) ผ่าน frontend ใหม่คือมือถือได้รวดเร็วมาก แต่ถ้าลูกค้ายื่นขอกู้เงินเข้ามา แล้วตัว process การตรวจสอบและอนุมัติเงินกู้ยังเป็นแบบเดิม กระบวนการทั้งหมดก็ถือว่าไม่เวิร์คอยู่ดี ดังนั้นเราจึงต้องเข้ามาทำการ integration และ modernization ฝั่งหลังบ้านให้ทันสมัยตามด้วย
อีกประเด็นที่เป็นของใหม่ในยุค transformation คือเรื่องของข้อมูล (data) ในอดีตองค์กรไม่ได้มีข้อมูลเยอะเหมือนยุคปัจจุบัน และมีเฉพาะข้อมูลขององค์กรเอง (enterprise data) ในขณะที่ยุคปัจจุบันมีการนำข้อมูลภายนอก (external data) เช่นข้อมูลจากโซเชียล เข้ามาใช้งานร่วมด้วยเยอะ ตรงนี้จึงต้องเข้ามาดูกันว่าเราจะประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
องค์กรยุคใหม่ยังมีความต้องการเชื่อมต่อกับองค์กรอื่นๆ มากขึ้น จนเกิดเป็น ecosystem ใหม่ ตัวอย่างเช่น เราเห็นการเป็นพันธมิตรกันของธุรกิจธนาคาร-ค้าปลีก-โทรคมนาคมมากขึ้น ต้องหาวิธีเชื่อมต่อกันให้ง่ายและมีมาตรฐานเป็น Open API ไม่อย่างนั้นจะต้องเสียเวลา เสียทรัพยากรมานั่งแก้แอพพลิเคชันของแต่ละฝั่งให้เชื่อมกันไปทีละตัว นี่เป็นอีกความต้องการใหม่ๆ ในการทำ transformation ยุคนี้
พอทำโครงการไอทีเยอะๆ ก็มีเรื่องสถาปัตยกรรม (architecture) เข้ามาอีก เพราะถ้าเราวางสถาปัตยกรรมไอทีไม่ดี มันจะเป็นการปะผุบนสถาปัตยกรรมเก่าไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายรองรับไม่ไหวเมื่อมีข้อมูลของลูกค้าเข้ามาเยอะๆ แถมยังมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยเข้ามาอีก
จากประสบการณ์พบว่าองค์กรแต่ละรายมีวิธีการทำ modernization สถาปัตยกรรมไอทีแตกต่างกันไป บางรายค่อยๆ แกะส่วนแกนออกมาเพื่อรองรับ user journey ใหม่ๆ แกะมาทีละส่วนทำให้ทันสมัยมากขึ้น เชื่อมต่อกับคู่ค้าภายนอกทีละส่วน ในขณะที่บางรายใช้วิธีซุ่มทำสถาปัตยกรรมใหม่อยู่นานหลายปี ทำเสร็จแล้วเปลี่ยนใหญ่ทีเดียวเลย
ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า คอนซัลต์ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเทคโนโลยีอย่างเดียว มันไม่ใช่ว่าเราสามารถเอาเครื่องมือใหม่ๆ บางตัวมาใช้งานแล้วจะเกิดประโยชน์ทันที เช่น ช่วงนี้ฮิตการทำ Robotic Process Automation (RPA) มาทำกระบวนการภายในให้เป็นอัตโนมัติ แต่มันคือการรื้อกระบวนการภายในโดยผู้เชี่ยวชาญ ลองเข้ามาดูว่าเดิมทีตรงนี้ต้องทำ 5 ขั้นตอน ลดเหลือ 3 ขั้นตอนได้ไหม เราเปลี่ยนการเซ็นลายเซ็นกระดาษเป็นลายเซ็นดิจิทัลได้หรือไม่ เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ต้องบอกว่า Red Hat เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการเชื่อมระบบไอทีแบบเก่ากับแบบใหม่เข้าด้วยกัน เชื่อมยุค on premise กับยุคของ cloud ด้วยกัน
เราจะเห็นว่าการรันงานบน public cloud กลายเป็นเรื่องสามัญ คลาวด์กลายเป็น commodity คือใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ องค์กรเริ่มใช้คลาวด์ผสมกันหลายเจ้าขึ้นกับว่างานไหน สิ่งที่จำเป็นจึงเป็นการบริหาร workload ให้ราบรื่น โดยที่ยังเชื่อมต่อกับเครื่องเดิมที่เป็น on premise ด้วย ซึ่ง Red Hat เข้ามาจัดการตรงนี้ องค์กรจำเป็นต้องใช้ OpenShift ในการบริหาร workload
ตัวบริษัท Kyndryl เดิมทีคือฝ่าย GTS หรือ Global Technology Service ทำหน้าที่บริหาร infrastructure ให้ลูกค้า การแยกส่วนนี้ออกไป ถือเป็นพนักงานราว 1 ใน 3 ของพนักงาน IBM Thailand เดิม
ปัจจุบัน Kyndryl ถือเป็นบริษัทอิสระที่แยกจาก IBM ชัดเจน จึงมีอิสระในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีของบริษัทใดก็ได้ ขึ้นกับ Kyndryl เอง
Watson ยังถือเป็น AI หลักของ IBM แต่ปัจจุบัน IBM เลือกใช้แบรนด์ว่า "AI Platform" มากกว่า เพราะ AI ประกอบด้วยหลายด้าน มีทั้งฝั่ง AI for Business ที่เป็นแบรนด์ Watson และ AI for IT operations (AIOps) อย่างเช่นการพยากรณ์ว่าจะเกิดเหตุการณ์ (incident) ในระบบไอทีหรือไม่ แบรนด์ที่ใช้ในแต่ละด้านอาจแตกต่างกันไป
เรามาคุยกันในยุคหลัง COVID-19 ต้องบอกว่า COVID-19 เป็นตัวบีบให้เกิดการใช้งานดิจิทัลครั้งใหญ่ เดิมทีก่อนมี COVID-19 เราพูดกันมาตลอดว่าทำอย่างไรจะให้คนที่มีอายุเยอะๆ หน่อยเปลี่ยนมาใช้งานผ่านมือถือ ซึ่งไม่เคยสำเร็จเลย แต่พอมี COVID-19 มาสามารถเปลี่ยนได้ทันทีเลย เพราะทุกคนถูกบังคับให้ต้องใช้ แล้วพอได้ลองใช้จริงๆ ก็แฮปปี้
ผมคิดว่ายุคนี้เป็นยุคของคำว่าไฮบริด อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าฝั่งเทคโนโลยีก็เป็นไฮบริด ผสานระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ แต่ฝั่งของคนก็ต้องไฮบริดด้วย องค์กรที่อยู่มานานมีทั้งคนเก่าและคนใหม่ คำถามคือทำอย่างไรถึงจะเชื่อมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันให้ออกมาได้ดี ไม่ต้องทอดทิ้งคนเก่า และสามารถ reskill คนรุ่นเก่าเพื่อมาเป็นสะพานเชื่อมต่อโลกเก่ากับโลกใหม่ได้ คิดว่านี่คือสิ่งสำคัญของการทำ transformation ขององค์กรในประเทศไทย