ผู้อ่าน Blognone น่าจะรู้กันหมดแล้วว่าตัวแทนของ RIM เอเชียแปซิฟิกได้เชิญบล็อกเกอร์จำนวนหนึ่งไปร่วมทดสอบ BlackBerry Storm (อ่านบรรยากาศจาก keng.com และ sugree.com ประกอบ)
สิ่งที่ไม่คาดฝันคือ RIM ให้ Storm กลับบ้านมาด้วย หลังจากเอาไปเล่นได้สักพัก ก็ได้เวลารีวิวครับ
เกริ่นก่อนรีวิว
ก่อนอื่นมารู้จักกับ RIM และ BlackBerry กันสักหน่อยนะครับ BlackBerry เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท Research in Motion หรือ RIM (ผมถามพนักงานแล้ว คนในกันเองอ่านว่า "ริม" ไม่ใช่ "อาร์-ไอ-เอ็ม") บริษัท RIM มีต้นกำเนิดมาจากแคนาดา เริ่มขาย BlackBerry มาตั้งแต่ปี 1999 สมัยนั้นยังเป็นแค่เพจเจอร์ที่ส่งข้อความได้ในตัว หลังจากนั้น RIM หันมาพัฒนา BlackBerry เป็นสมาร์ทโฟนที่จับตลาดองค์กรเป็นหลัก กิจการดี เติบโตมาเรื่อยๆ และล่าสุด นิตยสาร Fortune ยกให้ RIM เป็นบริษัทไอทีที่โตเร็วที่สุดในปี 2009
BlackBerry ในสหรัฐนั้นเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันทั่วไปในฐานะสมาร์ทโฟนสำหรับนักธุรกิจ บริษัทใหญ่ๆ มักเหมา BlackBerry เป็นเข่งๆ มาให้พนักงานใช้ องค์กรสามารถมีเซิร์ฟเวอร์ BlackBerry Enterprise Server (BES) ที่ต่อเชื่อมกับ Microsoft Exchange, Lotus Domino หรือ Novell GroupWise เพื่อกระจายอีเมลและตารางนัดของบริษัทผ่าน BlackBerry ได้ (รีวิวนี้ไม่ได้ทดสอบ BES)
ส่วนในประเทศอื่นๆ BlackBerry ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน ตัวแทนของ RIM เล่าผมว่าในอินโดนีเซียได้รับความนิยมมากถึงขนาดว่าคนพิมพ์ BlackBerry PIN Code ลงในนามบัตร ส่วนในเมืองไทยกระแสเพิ่งเริ่มขึ้น หลังจาก AIS เปิดตัว BlackBerry Storm ไปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน โดยใช้การตลาดคนดัง ดารา ไฮโซเป็นตัวนำ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ช่วงหลังเมื่อกระแสสมาร์ทโฟนสำหรับผู้ใช้ทั่วไปเริ่มมาแรงจากการจุดกระแสของ iPhone ฝั่ง RIM เลยได้รับอานิสงส์ไปด้วย จากตัวเลขของ Gartner ยอดขายสมาร์ทโฟนประจำไตรมาสที่สองของปี 2009 ปรากฎว่า RIM ขาย BlackBerry ได้ 7.7 ล้านเครื่องทั่วโลก มากกว่า iPhone ที่ขายได้ 5.4 ล้านเครื่องอยู่ไม่น้อย
ปัจจุบัน BlackBerry แบ่งออกเป็นสองสายหลัก สายแรกคือ BlackBerry รุ่นที่มีคีย์บอร์ด QWERTY แบบปุ่ม ซึ่งเป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของ RIM มานาน ผลิตภัณฑ์ในตระกูลนี้ได้แก่ BlackBerry Bold, Tour และ Curve ส่วนสายที่สองคือ BlackBerry จอสัมผัสไม่มีคีย์บอร์ด ตอนนี้มีตัวเดียวคือ Storm แต่กำลังจะมี BlackBerry Storm 2 ออกมาในเร็วๆ นี้
สำหรับมือถือที่ได้มารีวิวในครั้งนี้คือ Storm นั่นเอง สเปกแบบดูไว้ไม่เสียหลายมีดังนี้
Storm แบ่งเป็นสองรุ่นย่อยตามโอเปอเรเตอร์ที่ขายในแต่ละประเทศ รุ่นแรกคือ 9530 ซึ่งขายกับ Verizon ในสหรัฐและ Telus ในแคนาดา ส่วนอีกรุ่นคือ 9500 เป็นของ Vodafone สำหรับเครื่องที่ผมได้มาเป็น 9500
เฟิร์มแวร์ของเครื่องทดสอบใช้รุ่น 4.7.0.122 (Platform 4.0.0.153) นับว่าใหม่กลางๆ เฟิร์มแวร์รุ่นนี้ไม่มีคีย์บอร์ดภาษาไทย แต่ตอนนี้ก็มีเวอร์ชันใหม่กว่าที่มีคีย์บอร์ดภาษาไทยหลุดออกมาหลายตัว (ไม่ใช่เฟิร์มแวร์ที่โอเปอเรเตอร์แจกจ่าย) เผอิญว่านี่เป็นเครื่องทดสอบผมเลยใช้เฟิร์มแวร์เท่าที่ให้มา
การเชื่อมต่อกับพีซีจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ BlackBerry Desktop Manager ซึ่งมีเฉพาะบนวินโดวส์เท่านั้น บนแมคกำลังจะมี ส่วนบนลินุกซ์ก็มีซอฟต์แวร์จากผู้พัฒนารายอื่นอยู่บ้าง อันนี้เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของ BlackBerry อย่างไรก็ตาม Storm สามารถทำตัวเป็น USB Mass Storage Device ได้ ทำให้การย้ายไฟล์ข้ามระหว่างพีซีกับ Storm ทำได้สะดวกบนทุกระบบปฏิบัติการ
อย่างแรกที่เจอเลยคือกล่องของ BlackBerry น่าผิดหวังมากครับ :D ยิ่งเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ของ iPhone แล้วยิ่งเด่นชัด เป็นกล่องกระดาษลังสีดำธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ
ส่วนอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับกล่องมีดังนี้
นับว่าครบถ้วน ไม่กั๊กอุปกรณ์เสริม
เริ่มเข้าส่วนของฮาร์ดแวร์กันเลย หน้าตาของ Storm เป็นดังภาพ
Storm มีจอสัมผัสขนาดใหญ่ ด้านล่างมีปุ่มกด 4 ปุ่ม ตามมาตรฐานของ BlackBerry ทุกรุ่น เรียงจากซ้ายไปขวาคือ ปุ่มโทรออก, ปุ่ม BlackBerry, ปุ่มย้อนกลับ และปุ่มวางสาย/ปิดเครื่อง
ด้านหลังของตัวเครื่อง ตัวแทนของ RIM โฆษณากับผมว่า "แบตถอดเปลี่ยนได้"
ด้านหลัง ข้างบนเป็นกล้อง 3.2MP มีแฟลชอยู่ข้างๆ
ขอบด้านขวา มีปุ่มชัตเตอร์สำหรับถ่ายภาพ และปุ่มปรับระดับเสียง
ขอบด้านซ้าย มีปุ่มซอฟต์คีย์สำหรับเรียกโปรแกรม voice dialer และพอร์ต Micro-USB สำหรับสายเชื่อม-สายชาร์จ
ขอบบนสุดมีปุ่มซ่อนอยู่ 2 ปุ่ม รวมอยู่ในแผ่นเดียวกับตัวเครื่องเลย ปุ่มซ้ายในรูปมองยากหน่อยคือปุ่มปิดเสียง ส่วนด้านขวาคือล็อกคีย์
เปิดฝาหลังออกมา พบกับแบตเตอรี่ ช่องเสียบซิมการ์ด และ microSD ครับ ฝาหลังแกะง่ายและมั่นคงดีเวลาประกอบคืนแล้ว
ข้อเสียของฮาร์ดแวร์คงเป็นร่องระหว่างจอกับตัวเครื่อง จะเห็นแสงสว่างลอดออกมา เท่าที่อ่านรีวิวของฝรั่งก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน
หน้าจอของ BlackBerry Storm น่าประทับใจมาก สีสวยภาพคมชัด (แต่เห็นว่าจอของ Bold จะเหนือกว่าไปอีกขั้น)
จุดสังเกตอย่างหนึ่งคือ RIM เลือกใช้ความละเอียดขนาด 360x480 (4:3) ซึ่งต่างจากความละเอียดของสมาร์ทโฟนตัวอื่นๆ ในตลาด (ทั้ง iPhone, Palm Pre, G1 ใช้ 480x320 HVGA ซึ่งรวมถึง BlackBerry Bold ด้วย) ทำให้การดูหนังที่แปลงมาสำหรับ iPhone อาจให้ภาพไม่เต็มหน้าจออยู่บ้าง
หน้าจอสัมผัสของ Storm จะต่างไปจาก iPhone ดังนี้ครับ
อย่างแรก Storm ใช้จอสัมผัสแบบกด (Resistive touchscreen) ซึ่งตรวจจับสัมผัสจากการกดลงบนหน้าจอ (สมาร์ทโฟนอีกตัวที่ใช้จอแบบนี้คือ N97) ในขณะที่ iPhone และผองเพื่อนใช้จอสัมผัสแบบ Capacitive) ซึ่งจับประจุจากร่างกายมนุษย์
อย่างที่สอง จอของ Storm สามารถกดได้ 2 ระดับ คือ แตะเบาๆ เพื่อเลือก (select) และกดหนักๆ เพื่อยืนยัน (proceed) เราจะแยกแยะความต่างของการสัมผัส 2 แบบนี้ได้จากความยวบของหน้าจอครับ ถ้ากดจนหน้าจอยวบลงไป (มันจะลงไปทั้งแผ่นนะ ไม่ใช่เป็นหลุมๆ) แปลว่านี่คือกดหนักแล้ว เทคโนโลยีนี้ RIM ตั้งชื่อเป็นเครื่องหมายการค้าว่า SurePress ซะด้วยนะ
เจ้า SurePress นี้ออกแบบมาชดเชยจุดอ่อนของหน้าจอแบบ iPhone ที่ไม่สามารถแยกแยะการเลือก (select) กับการยืนยัน (proceed) ออกจากกันได้ ดังนั้นเมื่อมาใช้ Storm ก็จะไม่มีปัญหาเผลอไปกดลิงก์พลาดเวลาใช้งานเว็บเบราว์เซอร์อีกต่อไป เพราะเมื่อแตะสัมผัสจอตรงลิงก์จะเป็นแค่การเลือกลิงก์นั้นเท่านั้น ยังไม่ได้สั่งให้โหลดเว็บเพจตามลิงก์แต่อย่างใด
ฟังดูเหมือนจะดี และ RIM เองก็ใช้เป็นจุดขายของ Storm แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ดีเท่าไรครับ ถ้าใครเคยใช้มือถือจอสัมผัสในท้องตลาดมาก่อน มาเจอกับ Storm เป็นครั้งแรกรับรองงงแน่นอน (ผมกับ @sugree ถึงกับมึนในช่วง 15-20 นาทีแรก กว่าจะจับทางได้ตั้งนาน) ประเด็นถัดมา แม้ว่ามันมีข้อดีตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ข้อเสียคือการสัมผัสแต่ละครั้งต้องตั้งใจกดพอสมควร เมื่อผมเริ่มคุ้นกับจอ SurePress จะเปลี่ยนวิธีวางนิ้ว จากเดิมที่เอาปลายนิ้วแตะๆ จะกลายเป็นแตะ 2 ครั้งคอมโบ คือ ปลายนิ้วแตะเลือกก่อนแล้วกดลงอีกครั้ง บี้ๆ ลงไปตรงเดิมเพื่อยืนยัน ทำแบบนี้เยอะๆ มันเหนื่อยเหมือนกัน ยิ่งตอนพิมพ์คีย์บอร์ดก็ต้องตั้งใจกดเป็นพิเศษเพราะถ้ากดเบาเกินไปมันจะไม่ติด ต้องลำบากมาลบใหม่อยู่บ่อยๆ
ผมอ่านรีวิวของเมืองนอกเทียบในเรื่องนี้ พบว่ารีวิวทุกเจ้าที่อ่าน (Engadget, Wired, CNET) ก็บ่นในเรื่องเดียวกัน
คีย์บอร์ด QWERTY เป็นจุดขายของ BlackBerry เมื่อเปลี่ยนมาเป็นจอสัมผัสใน Storm ที่ไม่มีพื้นที่สำหรับคีย์บอร์ดจริง จึงเป็นความท้าทายอย่างมากว่าจะชดเชยประสบการณ์ที่ผู้ใช้คาดหวังอย่างไร RIM เลือกใช้วิธี SurePress ซึ่งผลที่ได้ออกมาไม่ดีนัก อันนี้ต้องรอดูต่อไปว่าในอนาคต มือถือสายจอสัมผัสของ RIM จะแก้ปัญหานี้ไปในทางไหน
ส่วนเรื่องรูปแบบของคีย์บอร์ดนั้น Storm มีให้เลือก 2 แบบ ขึ้นกับว่าตอนนั้นเราเอียงเครื่องไปในแนวไหน (ตั้ง-นอน)
ถ้าเป็นแนวตั้ง เราจะได้คีย์บอร์ดแบบ 2 ตัวอักษรในปุ่มเดียวกัน ที่มีชื่อเรียกว่า SureType (เป็นคีย์บอร์ดลักษณะเดียวกับ BlackBerry Pearl) หน้าตาตามภาพข้างบน
วิธีการพิมพ์จะคล้ายๆ กับ T9 ของมือถือแบบปกติ นั่นคือมันจะช่วยเราสะกดคำเอง มีรายการขึ้นมาให้เลือก ปัญหามีอยู่ว่ามันเดาไม่ค่อยแม่นครับ ผมกับ @sugree เห็นตรงกันว่าระบบสะกดคำของ Storm นั้นแย่มาก และเหมือนว่าไม่มีวิธีปิดระบบสะกดคำนี้เสียด้วย เวลาเจอคำเฉพาะนี่จอดสนิท ถ้าใครมีเทคนิคการใช้งานแนะนำจะยินดีอย่างยิ่ง
ทางออกคือเปลี่ยนมาใช้หน้าจอแนวนอน ซึ่งจะให้คีย์บอร์ด QWERTY แบบเต็ม พิมพ์เองได้ไม่ต้องให้มันช่วยสะกด แต่พิมพ์ผิดแล้วมันแก้ให้ในบางกรณี เช่น พิมพ์ its จะเปลี่ยนเป็น it's ให้ (ที่น่าตลกคือพิมพ์ iphone แล้วมันจะเปลี่ยนเป็น phone) การพิมพ์ space สองครั้งเพื่อใส่ fullstop ก็ทำได้
คีย์บอร์ดแนวนอนแบบนี้พิมพ์สะดวกกว่า SureType มาก ส่งผลให้ตอนนี้ผมต้องเอียงเครื่องทุกครั้งเวลาจะพิมพ์ข้อความ
คีย์บอร์ด QWERTY มีโหมดย่อยให้เลือกอีก 2 โหมด คือ โหมดตัวเลขและสัญลักษณ์สำคัญที่ใช้บ่อย (เช่น @ / ?) ซึ่งเปลี่ยนได้ด้วยการกดปุ่ม "!?123" ด้านซ้ายล่าง อีกโหมดคือปุ่ม Sym ซึ่งจะพาเราเข้าหน้าสัญลักษณ์อื่นๆ ที่ใช้ไม่บ่อยเท่า
ลูกเล่นของคีย์บอร์ดที่น่าสนใจ คือการล็อกให้อยู่ในโหมดย่อยใดโหมดย่อยหนึ่ง (เช่น กรณีที่เราต้องการพิมพ์ตัวเลขติดๆ กัน) ทำได้โดยกดปุ่มโหมดตัวเลขค้างไว้สักระยะ จะมีสัญลักษณ์รูปแม่กุญแจโผล่ขึ้นมาบนปุ่มนั้นเป็นการแสดงว่าล็อก เทคนิคนี้ใช้ได้กับปุ่ม Shift ด้วยเช่นกัน
เรื่องคีย์บอร์ดภาษาไทย เดี๋ยวรอคุณ @lewcpe มารีวิวในตอนสุดท้ายละกัน เก็บไว้ก่อน
ผมค่อนข้างประทับใจกับกล้องของ Storm จากการทดลองถ่ายในสภาพแสงต่างๆ ก็ทำได้ดี แม้ว่าจะไม่มีโหมด macro แต่ถ่ายระยะใกล้ก็โอเค ใน Options ของโปรแกรมกล้องมีตัวเลือก Image Stabilization ให้เปิดใช้แต่เท่าที่ลองยังไม่รู้สึกต่าง
และเนื่องจาก Storm มีปุ่มเฉพาะสำหรับถ่ายภาพให้ที่ขอบด้านขวาของเครื่อง เวลาถ่ายภาพจึงสะดวกนิ้วมากกว่ากดตรง soft key บนหน้าจอ
ฮาร์ดแวร์คงหมดแค่นี้ ต่อเรื่องซอฟต์แวร์ในตอนหน้าครับ