รีวิว Surface Duo 2 เทียบ Surface Duo (และ Pixel 3)

by hisoft
16 May 2022 - 11:54

หลังจากไมโครซอฟท์ออก Surface Duo มาโดยชูจุดเด่นการทำงานแบบมัลติทาสก์ ผมที่รู้สึกว่าสมาร์ทโฟนมีปัญหากับการทำงานรูปแบบนี้ก็สั่งมาใช้งานตั้งแต่รุ่นแรก เมื่อไมโครซอฟท์ออก Surface Duo 2 ที่แก้จุดอ่อนในรุ่นแรกออกไปหลายอย่างและมีโปรโมชั่นที่รับได้ก็ถือโอกาสเปลี่ยนรุ่นตามมาได้ระยะหนึ่ง เลยขอมาเล่าส่วนที่เปลี่ยนไปในรุ่นที่สองว่าดีขึ้นจริงไหมเป็นอย่างไรกันบ้าง

TL;DR

เปลี่ยนจาก Duo 1 -> Duo 2 แล้วชีวิตดีขึ้น แก้ข้อเสียไปมาก ใช้งานได้สะดวกและครบขึ้น กล้องคุณภาพสู้เรือธงอื่นไม่ได้แต่ดีขึ้นมากจนไม่ต้องพกเครื่องสำรองไว้ถ่ายภาพ ปากกาเร็วและดีเทียบชั้น Apple หน้าจอลื่นขึ้นมี HDR แต่สีสองจอไม่เท่ากัน Glance Bar มีข้อจำกัดสูงมากจนไม่ค่อยมีประโยชน์ แบตใหญ่ขึ้นแต่ไม่อึดขึ้น

ถ้าตามสเปคเลยส่วนที่ต่างก็จะเป็น

  • หน้าจอใหญ่ขึ้นเล็กน้อยแม้ขนาดเครื่องจะแคบลงเล็กน้อย โดยทำขอบด้านบน/ล่างเล็กลง

    • จอขยายจากฝั่งละ 5.6” 1350×1800 มาเป็น 5.8” 1344×1892 รวมสองฝั่ง 8.3” 2688×1892 ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย
    • สามารถแสดงสีแบบ HDR แล้ว 100% SRGB, DCI-P3
    • อัตรารีเฟรชจอภาพจาก 60Hz เป็น 90Hz
    • เพิ่มจอโค้งในขอบด้านในที่ติดกัน ทำให้เวลาพับเครื่องแล้วยังสามารถแสดงผลด้านนอกได้ด้วย
  • เครื่องสูงเท่าเดิม แคบลงเล็กน้อย หนาขึ้นเล็กน้อย
  • แบตเตอรี่ เพิ่มจาก 3577mAh เป็น 4449mAh
  • ชาร์จเร็ว เพิ่มจาก 18W เป็น 23W
  • CPU เพิ่มจาก Qualcomm Snapdragon 855 เป็น Snapdragon 888
  • RAM เพิ่มจาก 6GB LPDDR4 เป็น 8GB LPDDR5
  • จากมีกล้องเดียวในความหนาเครื่อง 4.8mm ก็มาเพิ่มกล้องปูดอีก 3 ตัว เป็นกล้องหน้า 1 กล้องหลัง ultra-wide 16MP, wide 12MP, tele 12MP
  • เพิ่ม 5G และ Wi-Fi6 (ที่ผมลองคือใช้ 5G และ VoLTE บน Truemove-H ได้)
  • เพิ่ม dual-standby SIM + eSIM พร้อมกัน
  • เพิ่ม NFC

มาที่ความเห็นส่วนตัวจากที่ใช้มาราว 1 สัปดาห์ด้วยตัวเครื่องสีขาว (สีขาวใช้กลางแดดเครื่องยังร้อนเร็วมาก สีดำน่าจะหนักกว่านั้นเลยเอาสีขาว) + Pen Cover สีขาว + Slim Pen 2 ครับ การใช้งานทั่วไปไหลลื่นขึ้นมากจากชิปเรือธงที่ใหม่ขึ้นมา 2 รุ่น การมี NFC ก็ทำให้สะดวกขึ้นมากเวลาจะใช้กุญแจ FIDO เช่น Yubikey ไม่นับว่าทำให้เช็คยอดเงินในบัตร Suica ได้ (เพราะคงยังไม่มีโอกาสได้ใช้เร็วๆ นี้ 😢)

ตัวเครื่องหนาขึ้นเล็กน้อยอาจจะถือว่าเป็นข้อดีบางส่วน เพราะใน Duo 1 มีคนพอร์ตชาร์จแตกหักกันเยอะพอสมควรจากความที่มันบางมาก และ Duo 1 เองบางจนหัวชาร์จแม่เหล็กที่เสียบคาไว้จะหนากว่าตัวเครื่อง แม้ bumper ของจอขวาจะช่วยยกขอบขึ้นมาเล็กน้อยแต่พอร์ตชาร์จมันอยู่อีกข้างนึง เวลาวางก็จะหวั่นใจกับแรงกดตัวหัวแม่เหล็กอยู่บ้าง

หนาขึ้นมานิดนึง | ใกล้ - Duo 1, ไกล - Duo 2

ตัวไหนก็ไม่ได้เรียบจนแนบ | ขวา - bumper ปูดของ Duo 1, ซ้าย - กล้องปูดของ Duo 2

ในส่วนของพอร์ตชาร์จถูกย้ายจากริมซ้ายของจอขวามาไว้กลางหน้าจอขวาแล้ว ส่วนช่องใส่ซิมเองก็ย้ายจากขอบขวาจอขวามาไว้กลางขอบล่างจอซ้ายทำให้ถูก Pen Cover ปิดช่องซิมไว้ทั้งหมดเลย การเปลี่ยนซิมต้องเลื่อน Pen Cover ออกก่อน ซึ่งเลื่อนออกได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์แต่ถ้าเลื่อนบ่อยก็น่ากังวลว่าจะทำให้ช่องหลวม

พอร์ตชาร์จ | บน - Duo 1, ล่าง - Duo 2

Bumper

ของ Duo 1 ที่แถมมาเป็น bumper สองชั้นครับ ใช้แถบกาวติดกับเครื่อง ด้านติดเครื่องเป็นพลาสติกแล้วมียางหนาๆ หุ้มอีกที ซึ่งยางนี่มันเหนียว เวลาเอาเครื่องใส่กระเป๋ากางเกงจะฝืดน่ารำคาญพอควรเลย
หนำซ้าใช้ๆ ไปยางมันหลุดจากพลาสติกต้องคอยเอากาวสองหน้าแปะ น่าเบื่อมาก

ของ Duo 2 ผมไม่ได้สั่ง bumper ตัวปกติมาแต่เป็น Pen Cover แทน ในฝั่งจอขวาน่าจะเหมือนกับ bumper ตัวปกตินะครับ (ไม่แน่ใจ) แต่รอบนี้ไม่มียางเป็นแค่พลาสติกชั้นเดียว ใส่กระเป๋าลื่นสะดวกครับ
ข้อเสียคือมันไม่หนาแล้ว พอร์ตแม่เหล็กที่เสียบคาไว้มันก็จะทำให้วางเครื่องราบลงไปไม่ได้

และข้อดีมากๆ ของ Pen Cover ไม่ใช่การที่มันยึดปากกาเข้าที่ได้แน่นมากแต่คือมันชาร์จปากกาได้ในตัว (เข้าใจว่าเป็นข้อจำกัดในการจัดสรรที่ภายในเครื่องเลยต้องแยกมาไว้ที่ปก) ทำให้ไม่ต้องเอาปากกามาใส่แท่นชาร์จทิ้งไว้แล้วหยิบก่อนออกจากบ้านหรือเดินมาหยิบเวลาจะใช้อีกแล้ว

กล้อง

ความประทับใจแรกที่น่าจะเป็น pain ของผู้ใช้ Surface Duo รุ่นแรกหลายคนคือกล้องครับ ดีขึ้นมากๆ เพราะของเก่าคือถ้าอยากถ่ายสวยต้องพก Pixel 3 ไปด้วยเท่านั้นเลย ตอนนี้พอโอเคแล้วแม้จะสู้ Pixel 3 ไม่ได้ โดยจะมีขัดใจที่กล้อง ultra-wide ดันใส่ความละเอียดสูงกว่าตัวอื่นจนต้องใช้แสงมาก noise สูงกว่ากว่ากล้องอื่น รวมถึงแอปกล้องติดเครื่องถ่ายวิดีโอด้วย ultra-wide ไม่ได้

การที่กล้องหลักย้ายไปอยู่ข้างหลังแล้วส่งผลให้แฟลชถูกย้ายไปข้างหลังด้วย ได้ผลพลอยได้คือใส่ gesture กดปุ่ม power สองครั้งตอนพับเครื่องอยู่เพื่อเปิดไฟฉายได้ ใช้งานสะดวกขึ้น จากรุ่นเก่าไฟฉายเก่าใช้ยากมากและต้องน่าจะมีคนเผลอเปิดไฟฉายตอนกางใช้สองจออยู่เหมือนผมอีกแน่ๆ

กล้องหน้ามีเสียดายเล็กน้อย

  • ย้ายจากมุมขวาบนมาไว้กลางจอขวา ทำให้เอากล้องใหญ่ๆ ใส่ไว้ให้ปูดไปข้างหลังไม่ได้ คุณภาพเลยแทบไม่ต่างจากเดิม
  • แต่การย้ายก็ทำให้ภาพตอนประชุมออกมาดีขึ้น มุมสายตาไม่เอนมากเท่าเดิมเวลามองจอซ้ายครับ (แต่ก็ยังห่างนะ)

ดูภาพต้นฉบับได้ที่นี่
ภาพถ่ายภายนอกอาคารตอนแดดเปรี้ยงๆ
กล้องหน้า

Wide

Ultra Wide

Tele

ภาพในอาคาร อันนี้มี Pixel 3 กับ Duo 1 มาให้เทียบด้วยครับ ดูภาพต้นฉบับได้ที่นี่
Pixel 3

Surface Duo 1

Surface Duo 2 - front

Surface Duo 2 - wide

Surface Duo 2 - ultra wide

Surface Duo 2 - tele

หน้าจอ

หน้าจอใหม่ ใหญ่ขึ้น เล่นวิดีโอ HDR ได้แล้ว มีโค้งตรงกลาง ลื่นขึ้นจาก 90Hz
เรื่องขนาดนี่ผมไม่รู้สึกอะไรมากครับ
ช่องว่างระหว่าง 2 จอแคบลงครับด้วยการปรับมาใช้จอโค้งทำให้ขอบหน้าจอมันใกล้ขอบเครื่องเข้าไปอีก

ขอบโค้งด้านในมีข้อเสียแค่เล็กน้อยคือพอมันโค้งลงไปตรงกลางทำให้มานเป็นร่องที่ค่อนข้างกว้าง เวลาลากนิ้วข้ามจอมันจะสะดุดร่อง แต่ด้วยความที่บริเวณขอบของร่องมันยังเป็นส่วนของหน้าจออยู่ทำให้ตอนที่นิ้วตกร่องนี่นิ้วเราจึงโดนส่วนหน้าจอทั้งสองจอได้พร้อมกัน
เทียบกับของเดิมที่แม้สองจอจะเรียบเป็นระนาบเดียวกันและมีร่องที่แคบกว่ามากแต่ส่วนที่เป็นหน้าจอจริงๆ กลับอยู่ห่างจากกันพอสมควร เมื่อลากนิ้วผ่านช้าๆ อาจมีจังหวะที่นิ้วออกจากหน้าจอแรกและยังไปไม่ถึงหน้าจอที่สองทำให้ระบบคิดว่านิ้วเราไม่ได้สัมผัสหน้าจอแล้วได้

เครื่องแรกคือ Duo 1 เครื่องหลังคือ Duo 2 ครับ

แต่จอภาพใน Duo 2 มีคนเจอว่าจอสองข้างอุณหภูมิสีไม่เท่ากันเยอะมากรวมถึงผมด้วยทั้งที่รุ่นเก่าแทบไม่มีคนเจอ แต่การใช้งานจริงก็ไม่ได้ขัดใจเท่าไหร่ครับ ส่วนมากสองจอเปิดใช้งานกันคนละอย่างเลยไม่รู้สึก แต่น่าจะมีคนไม่โอเคกับเรื่องนี้พอสมควรเลย แต่ใน Duo 1 ก็มีคนเจอปัญหาเครื่องตัดสินใจเปิดหน้าจอไม่ถูก เช่น

  • พับเป็นโทรศัพท์จอเดียว ดันติดสองจอ ซึ่งอันนี้ผมยังไม่เจอบน Duo 2
  • พับเป็นโทรศัพท์จอเดียว ดันติดจอที่หันไปข้างหลัง โดยเฉพาะโหมดกล้องที่ไม่มีให้ double tap to activate อีกจอ ต้องหมุนไปๆ มาๆ ไม่ก็พับเป็นสองจอก่อนแล้วค่อยพับใหม่ อันนี้เค้าแก้ปัญหาโดยตั้ง default มาเป็นติดหน้าจอขวาเสมอ จะสลับให้ double tap อีกจอ แต่ยังสามารถตั้งเป็นแบบเดิมได้ แต่ผมเข็ดครับ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้จอซ้ายแล้วนี่ เราไม่ได้ต้องใช้กล้องที่จอขวาเพื่อถ่ายภาพแล้ว ซึ่ง Duo 1 ยังคงไม่มีตัวเลือกนี้แม้จะได้อัปเดตจนฟีเจอร์เหมือนกันเกือบหมดแล้วก็ตาม
  • ใช้สองจออยู่ อีกจอดันดับ ต้องเปลี่ยนระนาบเครื่องให้ติดทั้งสองจอก่อนแล้วค่อยเอนมาใหม่ อันนี้ผมยังไม่เจอบน Duo 2 อีกเช่นกัน

เทียบความรำคาญของเก่าที่ทำงานสะดุด กับของใหม่ที่สีไม่เท่ากัน ผมเลือกของใหม่ครับ 😂

เรื่องพับเครื่องเพื่อใช้หน้าจอเดียวได้ไม่แนบกันเนื่องจากตัวใหม่มีกล้องปูด อันนี้ของเดิมถ้าใส่ bumper มันจะนูนขึ้นมาเล็กน้อยอยู่แล้วครับ กับเวลาออกข้างนอกแล้วผมจะเอาปากกาแปะออกไปด้วย หนากว่ากล้องอยู่แล้ว
จะเป็นขัดใจตอนวางราบเพื่อเขียนมากกว่าเพราะกล้องมันอยู่แต่ด้านบน ถ้าเราเขียนที่มุมขวาล่างเนี่ยจอมันจะกระดกได้เอา อันนี้ติดลบเล็กน้อย

Glance Bar

ส่วนของ Glance Bar ที่อยู่ตรงจอโค้งเวลาพับเครื่องใช้งานได้ไม่กี่อย่างเท่านั้น

  • ขึ้นปริมาณแบต เฉพาะตอนเสียบชาร์จหรือถอดเท่านั้น ระหว่างชาร์จไม่เห็น
  • ขึ้นระดับเสียงเวลากดปรับเสียงตอนฟังเพลงอยู่
  • ขึ้น animation สายเรียกเข้า (รวมถึงสายเรียกเข้าผ่านแอป) โดยไม่ขึ้นชื่อหรือเบอร์
  • เวลาการแจ้งเตือนเข้าหรือกดปุ่ม power จะขึ้นนาฬิกาและจำนวน notification เฉพาะของ
    • สายเข้าไม่ได้รับ
    • SMS ที่ยังไม่ได้อ่าน
    • จำนวนการเตือนจากแอป Microsoft Teams

ยังไม่มีการใช้งานอื่นใดให้ใช้ รวมถึงไม่ขึ้นการเตือนของแอปอื่นไม่ว่าจำนวนหรือไอคอนก็ตาม แค่ Glance Bar จะติดขึ้นมาแสดงเวลาหรือการเตือนที่อยู่ในรายการข้างต้นเท่านั้น ดูประโยชน์น้อยเกินไปหน่อย

ปากกา

จากการไปลอง Surface Slim Pen 2 บน Surface Duo 2 เทียบกับ Apple Pencil 2 บน iPad Air (ของคนอื่น) มา พบว่าถ้านับการเขียนอย่างเดียวตอนนี้ผมพลิกให้ฝั่ง Surface ชนะแล้วครับ หลังจากบ่นมานาน
แต่ทั้งนี้บนหน้าเว็บระบุไว้ชัดเจนว่า Surface Slim Pen 2 ไม่รองรับ zero-force inking (เขียนได้โดยไม่ต้องออกแรงกดเลย น่าจะคล้าย Apple Pencil แต่ Apple Pencil นี่จริงๆ มันเริ่มเขียนติดตั้งแต่ก่อนดินสอโดนหน้าจอเสียอีก), tilt (ดูการเอียงปากกา มีก็ดีแต่ใช้จดๆ วาดๆ แบบผมไม่ได้มีผลอะไร) และ tactile signal (สั่นตัวปากกาเวลาเขียน จำลองความรู้สึกเขียนบนพื้นผิวต่างๆ) เมื่อใช้กับ Surface Duo 2 นะครับ น่าเสียดายเหมือนกัน

การใช้ Slim Pen 1 และ 2 บน Duo 1 นั้นไม่ต่างกันในเรื่องของความเร็ว แต่ต่างที่หมึกออกไม่ตรงหัวคนละแบบ (ดูในคลิป) ตัว Slim Pen 1 นั้นจะออกมาระหว่างจุดที่สัมผัสกับมือ (ถ้าตั้งปากกาตรงจะออกตรง แต่ตอนเขียนผมเอนไงครับ) ส่วน Slim Pen 2 นั้นกลับออกเลยจุดสัมผัสไปอีก

ส่วนการใช้ Slim Pen ทั้ง 1 และ 2 บน Duo 2 นั้นเร็วขึ้นมากแบบรู้สึกได้ และหมึกออกมาตรงกับตำแหน่งสัมผัสกับหน้าจอทั้ง 2 รุ่นครับ

ทั้งนี้ Slim Pen 1 ไม่สามารถใช้ปุ่มด้านท้ายปากกาเพื่อสั่งงานตัวเครื่อง Duo 1 และ 2 ได้นะครับ ส่วน Slim Pen 2 สามารถสั่งงานได้ทั้ง Duo 1 และ 2 เลย

เครื่องแรกคือ Duo 1 นะครับ ปากกาที่หัวทู่กว่าคือ Slim Pen 1 ส่วนที่แหลมๆ คือ Slim Pen 2

แบตเตอรี่

เพิ่มแบตจาก ~3,500mAh มาเป็น ~4,500mAh ผมก็หวังว่าแบตมันจะอึดขึ้นนะครับ แต่จากการทดสอบพบว่าไม่ต่างกันนัก แม้ว่าซีพียูจะใหม่จะเป็นกระบวนการผลิตแบบ 5nm และเครื่องจะร้อนน้อยลงแล้วก็ตาม

จากการใช้แอปวัดกระแสไฟฟ้า (ซึ่งมันไม่แม่นยำครับ เข้าใจในเรื่องนี้แต่มันชี้ได้ระดับนึงและสอดคล้องกับการลดของแบตอยู่) พบว่าขณะเปิดจอเครื่องไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร Duo 1 จะใช้พลังงาน ~180mA แต่ Duo 2 กลับพุ่งไปอยู่ที่ ~320mA เลยทีเดียว แม้จะเปิด power saver mode ที่ลดหน้าจอจาก 90Hz ลงมาที่ 60Hz เท่ากันแล้วหรือเปิด airplane mode ช่วยแล้วก็ตามก็ยังไม่สามารถลดลงมาใกล้เคียง Duo 1 ได้

การใช้งานจริงไม่แย่อะไรครับ อึดเท่าๆ เดิม ผิดหวังเล็กน้อยเพราะอยากให้มันอึดขึ้นมาอีก ใช้งานเบาแบตลด ~15% ต่อชั่วโมง ถ้าทำอะไรหนักๆ ก็อาจจะทะลุ 20% ต่อชั่วโมงได้แต่เครื่องร้อนแน่นอน

อื่นๆ

ซอฟต์แวร์เสถียรขึ้นมากขณะที่ตอนนี้ตัว Duo 1 เองก็ได้อัปเดตจนเกือบเท่ากับ Duo 2 แล้ว ใช้ App บน Phone Link เปิดหลายแอปเต็มไปหมดบนคอมก็ได้

หนึ่งในเรื่องน่าหงุดหงิดคือ Microsoft Launcher ที่บน Duo ไม่เหมือนบน Android อื่นๆ เพราะมีฟังก์ชันเพิ่มให้จริง แต่การปรับแต่งถูกกวาดทิ้งเรียบ ตั้งจำนวนไอคอนที่อยากเป็นไม่ได้ backup ไม่ได้ ตั้ง gesture ไม่ได้ วาง icon/widget คร่อม grid ก็ไม่ได้ (Microsoft Launcher ทั่วไปตั้งให้วางที่ครึ่ง grid ได้)

ส่วน gesture ของระบบ Android ที่หายไป (เทียบกับ Pixel) คือการรูดซ้าย/ขวาบน navigation bar ส่วนนึงเพราะมันเป็น gesture ใช้โยนแอปข้ามจอเมื่อโยนใส่อีกจอนึง แต่อย่างน้อยก็น่าจะใส่กับการลากไปข้างที่ไม่มีจอไว้ให้หน่อยนะ

Blognone Jobs Premium