ชัชชาติ นำข้อมูลงบประมาณ กทม. ปี 66 เป็น Open Data, เตรียมเปิดเผยสัญญา Open Contract

by mk
21 June 2022 - 05:36

เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ เดินทางเข้าพบผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โดยประกาศความร่วมมือด้านความโปร่งใส และการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 4 ด้านคือ

  1. Open Bangkok Open Data กทม. นำข้อมูลงบประมาณปี 2566 ขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ กทม. พร้อมเชื่อมไปยังฐานข้อมูลเปิด Open Data ของ DGA เพื่อให้ผู้คนเห็นข้อมูล และระบุว่าจะนำเอกสารสัญญาต่างๆ มาเปิดเผยเพิ่มขึ้น
  2. ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพ สามารถตรวจสอบสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ได้ผ่านแอพ "ทางรัฐ" ของ DGA และจะเชื่อมระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการขอใบอนุญาตต่างๆ ทางออนไลน์ เช่น ใบอนุญาตก่อสร้างของ กทม.
  3. โครงการ Digital Transcript ของ DGA แปลงเอกสารหลักฐานการศึกษา (transcript) เป็นดิจิทัล ปัจจุบันแล้วมีมหาวิทยาลัยใช้งาน 39 แห่ง จะขยายไปยังโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพทุกแห่ง
  4. พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้เจ้าหน้าที่ กทม. ผ่านสถาบัน TDGA ภายใต้การกำกับดูแลของ DGA

จากการตรวจสอบของ Blognone พบว่าเว็บไซต์หลักของกรุงเทพ (bangkok.go.th) มีเมนูชื่อ "งบประมาณรายง่ายกรุงเทพมหานคร" เพิ่มเข้ามา ซึ่งกดแล้วจะพบกับหน้า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นข้อมูลแผนภาพแสดงงบประมาณรายจ่ายของ กทม. ตามหมวดต่างๆ และมีไฟล์สรุปเป็น PDF แยกตามประเภทรายจ่าย กับ แยกตามด้าน

ส่วนข้อมูลในรูปแบบ machine readable มีเผยแพร่แล้วเป็นไฟล์ Excel โดยแยกตามสำนักของ กทม. สามารถดูได้จาก เว็บไซต์สำนักงบประมาณกรุงเทพ

นายชัชชาติ ระบุว่า "DGA และ ก.พ.ร. มีหลายโครงการที่ดีมากและสามารถช่วยกรุงเทพมหานครทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องแรก Open Data เป็นการนำข้อมูลต่างๆ เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ DGA มีเว็บไซต์ที่สามารถลิงค์ข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนเข้ามาค้นหาข้อมูลได้ วันนี้ กทม.จึงเริ่มวันแรกด้วยการนำข้อมูลงบประมาณประจำปี 2566 เปิดเผยขึ้นเว็บไซต์ กทม.พร้อมลิงค์ไปที่เว็บไซต์ของ DGA เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลงบประมาณว่าใช้เกี่ยวกับอะไร รวมทั้งเรื่อง Open Contract โดยนำสัญญาต่างๆ ที่เปิดเผยได้มาเปิดเผยเพื่อให้เห็นความโปร่งใสและแนวทางว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ก็มีแอพพลิเคชันที่ Consul ที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและโหวตในเรื่องต่างๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความโปร่งใส"

“ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญที่เป็นการใช้งบประมาณไม่มาก แต่ว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตซึ่งสามารถทำให้เป็น One Stop Service หรือ Super license ที่สามารถขอใบอนุญาตหลายใบในครั้งเดียวโดยไม่ต้องทำหลายกระบวนการ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ที่อยากจะทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น และเพิ่มความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือ One Stop Service ให้ประชาชนใช้บริการขอใบอนุญาตออนไลน์ คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 65”

ส่วน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า "DGA มีความพร้อมที่จะร่วมเดินไปข้างหน้ากับกทม. และหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ให้เกิด ‘บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน’"

ที่มา - กรุงเทพมหานคร, DGA

Blognone Jobs Premium