นักวิจัยเสนอให้แปะหมายเลขประจำตัวเม็ดยาทุกเม็ดด้วยการเคลือบน้ำตาลสี ป้องกันยาปลอม

by lew
3 July 2022 - 05:56

William H. Grover จากภาควิชา Bioengineering มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ เสนอ CandyCode แนวทางการแจกหมายเลขประจำตัวให้กับยาทุกเม็ดด้วยการเคลือบน้ำตาลสีระหว่างการผลิต ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบย้อนกลับไปได้ว่าเป็นยาที่ออกมาจากโรงงานจริงหรือไม่

แนวทางการใช้หมายเลขประจำสินค้าเพื่อสืบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตมีมานาน และหลายครั้งผู้ผลิตก็เปิดให้ตรวจสอบสินค้าว่าเป็นของจริงหรือไม่บนตัวกล่อง แต่แนวทางนี้ก็มีข้อจำกัดเพราะบางครั้งผู้ผลิตสินค้าปลอมใช้กล่องจริงที่ใช้แล้ว หรือในกรณียาบางครั้งผู้ซื้อได้รับยาจากร้านยาโดยไม่ได้รับกล่องจากผู้ผลิตโดยตรง ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้พิมพ์ QR ลงบนยาทุกเม็ดมาก่อนแล้ว แต่ QR ที่พิมพ์ลงไปมีขนาดเล็กมากจนต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการอ่าน

Grover เสนอแนวทางด้วยการเคลืบน้ำตาลสีที่เราเห็นกันในของหวาน โดยน้ำตาลสีเป็นลูกบอลกลมขนาด 1 มิลลิเมตร มี 8 สี ที่สำคัญคือราคาถูกมาก ต้นทุนค่าน้ำตาลในการเคลือบคิดเป็น 1 ดอลลาร์ ต่อเม็ดยา 29,000 เม็ด

ในการทดลอง Grover ซื้อช็อกโกแล็ตที่เคลือบน้ำตาลสีอยู่แล้วมาทดสอบ โดยช็อกโกแล็ต 1 เม็ดมีน้ำตาลสีอยู่ในช่วง 72-108 เม็ด เขาแปลงภาพเม็ดน้ำตาลที่อยู่ติดกันในสีต่างๆ ให้กลายเป็นสตริง โดยแทนที่จะพยายามใช้สตริงเดียวแทนที่เม็ดยาทั้งเม็ด เขาตรวจจับกลุ่มน้ำตาลสีกลุ่มเล็กๆ แล้วแปลงเป็นสตริงสั้นๆ เม็ดยาหนึ่งเม็ดจะได้สตริงประมาณ 52.8 ชุด กระบวนการค้นหาข้อมูลยาจากฐานข้อมูล ใช้การค้นสตริงเหล่านี้แล้วหาเม็ดยาที่บันทึกไว้และมีสตริงตรงกันจำนวนมากพอ

ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของน้ำตาลสีในท้องตลาดคือมันมีเพียง 8 สี และปริมาณน้ำตาลแต่ละสีก็ไม่เท่ากัน โดยสีขาวมีเกือบครึ่งหนึ่ง หากเป็นน้ำตาลสีที่ผลิตมาเฉพาะก็จะทำให้จำนวนสตริงที่ต้องเทียบเพื่อค้นหาข้อมูลหมายเลขเม็ดยาโดยไม่ชนกับเม็ดอื่นๆ มีจำนวนน้อยลง เช่น น้ำตาล 15 สี ที่โปรยลงบนเม็ดยารวมแสนล้านล้านเม็ด จะมีสตริงซ้ำกันไม่เกิน 10 ชุด แต่หากเป็นน้ำตาลสีตามตลาดจะมีโอกาสซ้ำกันถึง 21 ชุด

ที่มา - Nature

Blognone Jobs Premium