KBTG กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย วางเป็าหมายสู่ The Best Tech Organization แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2025 ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือทีมงานที่มีคุณภาพ
จุดนี้เองในเดือน มี.ค. 2022 KBTG จึงเข้าร่วม MIT Media Lab Research Consortium เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยด้านบริการทางการเงินยุคอนาคต และเตรียมให้พนักงาน KBTG เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยดังกล่าว
มากกว่านั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการสร้างทีมงาน และองค์กรอันดับ 1 ของอาเซียน KBTG มีการให้ทุนแบบ Fellowship กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของ MIT Media Lab ถือเป็นการสนับสนุนการศึกษาอีกระดับ
ทุน Fellowship มีรายละเอียดอย่างไร แตกต่างกับการให้ทุนแบบอื่น ๆ หรือไม่ และหลังจากรูปแบบการให้ทุนเพื่อยกระดับองค์กรต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ร่วมกันหาคำตอบจาก เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กันครับ
รู้จักทุน Fellowship ที่ KBTG ให้
KBTG Fellow คือชื่อของทุนที่ KBTG จะให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของ MIT Media Lab โดยทุนดังกล่าวเป็นรูปแบบ Fellowship ซึ่งทุน Fellowship มีความแตกต่างจากทุนรูปแบบอื่นๆ คือจะไม่มีกรอบใด ๆ ในการวิจัย โดยขอแค่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้ทุน แต่การจะได้มาผู้ได้รับทุนต้องมีความสามารถสูง และเลือกหัวข้อวิจัยที่มีชื่อเสียง โดย เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กล่าวย้ำว่า "เราเชื่อว่าเขาจะเดินหน้าเองได้ ไม่ต้องมีกรอบอะไร แต่คนที่ได้ต้องมีความสามารถพิเศษจริง ๆ"
สำหรับนักศึกษาคนแรกที่ KBTG จะให้ทุน KBTG Fellow คือ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ที่ MIT Media Lab โดยจะได้ทุนวิจัยระยะเวลา 2 ปี โดยเรื่องที่เขาจะวิจัยคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ และการศึกษาส่วนบุคคล
ติดอาวุธให้ทีมงานของ KBTG
นอกจากการเข้าไปสนับสนุนคนเก่งด้วยทุน KBTG Fellow ทาง KBTG จะส่งนักวิจัย 1 คนของบริษัทไปทำงานร่วมกับนักวิจัยของ MIT Media Lab ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ และUX/UI โดยความร่วมมือด้านการวิจัยนี้จะเริ่มขึ้นในเดือน ก.ย. 2022
"ไทยเราขาดผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีหลายพันตำแหน่ง และหลังการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มทุเลาภาพรวมสตาร์ตอัพน่าจะกลับมาเติบโต ซึ่งตลาดดังกล่าวที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทในอาเซียน ดังนั้นการมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีรองรับเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศ และภูมิภาค"
ขณะเดียวกัน พัทน์ ภัทรนุธาพร ยังถูกวางตัวเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ KBTG Fellow เพื่อช่วยสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดคนเก่งในเรื่องนวัตกรรมในประเทศไทย ส่วน KBTG ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,500 คน และขับเคลื่อน และยกระดับพนักงานให้พร้อมอยู่ในองค์กรเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง
ยกระดับบริการของ KBTG และ ของโลก ด้วยนวัตกรรม
ในทางกลับกันเป้าหมายหลักจากให้ทุนครั้งนี้ KBTG คาดหวังให้งานวิจัยของ KBTG Fellow จะสามารถสร้างนวัตกรรม ที่เป็นพื้นฐานของบริการทางการเงินผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น AI และ Blockchain รวมถึงยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า พร้อมกระตุ้นให้ทุกคนมีวินัยทางการเงิน สร้าง Financial Well-Being เช่นกัน ซึ่งตรงกับบริการที่ KBTG ให้ความสนใจ
แม้จะยังไม่สามารถระบุบริการที่จะได้รับจากโครงการนี้ แต่ เรืองโรจน์ พูนผล เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของ KBTG จะทำให้องค์กรต่าง ๆ หันมาให้ทุนในรูปแบบ Fellowship และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งบริษัทในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องทำให้ทุกคนเห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจนก่อน
"ยกระดับประเทศคือเป้าหมายอันใหญ่ของเรา เพราะสุดท้ายมันจะไปถึงเส้นชัยจริง ๆ ได้ ต้องอาศัยการลงทุนเพื่อสังคม และประเทศชาติ จนทุกคนสามารถจบออกมาเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างด้วยนวัตกรรมใหม่ได้จริง"
โครงการการศึกษาที่ต้องมีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ KBTG เตรียมเปิดโครงการเกี่ยวกับการศึกษาอื่น ๆ ในอนาคต โดยในปี 2022 นอกจาก KBTG Fellow จะมีอีกหลาย โครงการที่เปิดตัว แต่ยังไม่สามารถบอกถึงรายละเอียดเชิงลึกได้ แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของ KBTG
"ผมคิดว่ามหาวิทยาลัย, EdTech และองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องหลักสูตร และการสนับสนุน เพื่อแก้วิกฤติผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีในประเทศไทยขาดแคลน และเราอยากได้คนที่ไม่กลัวการล้มเหลว พร้อม Push the Frontier ไปด้วยกันหลังจากนี้"
ทั้งนี้เมื่อเดือน มี.ค. 2022 KBTG ได้ตัดสินใจเข้าร่วม MIT Media Lab Research Consortium เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยด้านบริการทางการเงินยุคอนาคต (Next Generation Financial Services) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย