จากเหตุการณ์ชิปขาดตลาดที่ดำเนินมายาวนานและไม่มีท่าทีว่าจะกลับไปเป็นเหมือนยุคก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ราคาชิปถีบตัวสูงขึ้น รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจอื่นที่ต้องพึ่งพาชิปก็ได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง รถยนต์หลายยี่ห้อส่งมอบได้ไม่ทันกำหนด บางยี่ห้อต้องลดสเปกฮาร์ดแวร์ลง
ด้านสหรัฐอเมริกาก็รู้สึกว่าต้องพึ่งพาชาติอื่นมากเกินไป เพราะโรงงานผลิตชิปแนวหน้าของโลกก็อยู่ที่จีนและชาติเอเชียอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามออกกฎหมายดึงดูดการตั้งโรงงานและการผลิตชิปกลับเข้ามาในประเทศ โดยสถิติระบุว่าส่วนแบ่งของชิปที่ผลิตในสหรัฐฯ ลดจาก 37% ในปี 1990 เหลือเพียง 12% ของทั้งโลกในวันนี้ เพราะรัฐบาลหลายประเทศได้ลงทุนด้านนี้ ทำให้ส่วนแบ่งของสหรัฐฯ ลดลงเรื่อยๆ
กฎหมายนี้มีชื่อว่า CHIPS for America Act หรือชื่อเต็มคือ Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act (กฎหมายสร้างแรงจูงใจให้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่ออเมริกา)
โดยรวมแล้วกฎหมายฉบับนี้ก็ตรงไปตรงมา คือรัฐบาลจะตั้งงบประมาณ 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นมา (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) เพื่อนำไปอุดหนุนผู้ผลิตชิปต่างๆ ให้เข้ามาวิจัยและตั้งโรงงานผลิตชิปในประเทศ จะได้สร้างงานและดึงส่วนแบ่งการผลิตกลับมา
เงื่อนไขของการรับเงินอุดหนุนคือบริษัทที่รับเงินห้ามนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อหุ้นคืนหรือนำไปจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น (กล่าวคือให้เอาเงินไปใช้ในการผลิตชิปเป็นหลักเท่านั้น) รวมถึงห้ามไปตั้งโรงงานผลิตชิปในรายการประเทศที่กฎหมายนี้กำหนดไว้ (คงหนีไม่พ้นจีน) หากพบว่าผู้รับเงินอุดหนุนละเมิดข้อตกลง รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถยึดเงินอุดหนุนคืนได้
ด้านซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีและรถยนต์รวมเกือบ 60 ราย เช่น Alphabet, Apple, Microsoft, Dell, HP, Cisco, Ford และ Volkswagen ต่างก็ลงนามในจดหมายสนับสนุนร่างกฎหมาย CHIPS กันเป็นเสียงเดียว พร้อมเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็ว
ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังจะถูกโหวตโดยสภาสูงภายใน 1-2 วันนี้ หากโหวตผ่านก็จะถูกลงนามโดยประธานาธิบดี Biden เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
ที่มา - Voice of America, CNBC, The Washington Post, Semiconductor Industry Association