เมื่อวานนี้ 29 ก.ค. 2565 สำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาชี้แจงรายละเอียดเรื่อง Zipmex ประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีคณะผู้บริหาร 3 รายมาชี้แจง ได้แก่ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต., ณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. และ เอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมตอบคำถามผ่านการไลฟ์
ประเด็นสำคัญของการชี้แจงคือ สำนักงาน ก.ล.ต. เพิ่งรับทราบข้อมูลเรื่อง Zipmex ที่สิงคโปร์ยื่นขอพักชำระหนี้จากสื่ออื่นๆ โดยไม่ได้รับการชี้แจงจาก Zipmex ประเทศไทย ส่วนประเด็นว่า ก.ล.ต. เคยรับทราบเรื่องบริการ ZipUp+ หรือไม่ คำตอบก็คือเพิ่งมาทราบเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว
ประเด็นเรื่องการยื่นพักชำระหนี้ที่สิงคโปร์
- เมื่อวันที่ 28 ก.ค. อ่านเจอจากข่าวว่าบริษัทแม่ของ Zipmex ยื่นขอพักชำระหนี้ (moratorium relief) ในประเทศสิงคโปร์ โดยไม่ได้แจ้งให้ ก.ล.ต. รับทราบก่อน และมีเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนสิ้นสุด deadline ของลูกค้าในการแจ้งข้อมูลกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย
- สั่งการให้บริษัท Zipmex ชี้แจงทันที แต่ ณ เวลาที่ให้สัมภาษณ์ ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับจาก Zipmex
- เป็นหน้าที่ของบริษัท Zipmex ในการชี้แจงลูกค้าเข้าใจถึงกลไก moratorium relief แต่พบว่าบริษัทยื่นศาลสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. แต่ไม่เคยชี้แจงลูกค้ามาก่อนหน้านี้เลย การไม่พูดเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า Zipmex ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหาตามที่กล่าวอ้าง
- ธุรกิจคริปโตเป็นเรื่องข้ามพรมแดน แต่กฎหมายไทยยังมีอำนาจเฉพาะในประเทศไทย ตอนนี้ยังไม่มีความร่วมมือข้ามพรมแดน
- ในอีกทาง กฎหมายสิงคโปร์ก็จะมีผลเฉพาะในสิงคโปร์เท่านั้น ไม่มีผลกับธุรกิจของ Zipmex ในไทย
- แต่ถ้าทรัพย์สินของลูกค้าไปอยู่ที่สาขาสิงคโปร์ ลูกค้าก็ต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะเจ้าหนี้
ก.ล.ต. ทราบเรื่อง ZipUp มาก่อนหรือไม่
- Zipmex ในประเทศไทย ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. 2 ใบคือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) และใบอนุญาตนายหน้า
- แต่ Zipmex Group มีธุรกิจในหลายประเทศ เช่น ในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย
- ก.ล.ต. มีกฎบังคับชัดเจนว่าห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บไว้อย่างปลอดภัย ซึ่ง Zipmex ในส่วนบริการซื้อขาย ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นี้
- ส่วนบริการ ZipUp+ เป็นโปรแกรมที่ชักชวนลูกค้าที่ Zipmex มีในช่วงแรกๆ ซึ่ง ก.ล.ต. ไม่ทราบมาก่อน มาทราบเรื่องเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ในวันที่ 20 กรกฎาคม
กลไกการทำงานของ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลเครื่องคริปโต
- การพิจารณาให้ใบอนุญาต ดูความพร้อม 3 ด้าน ได้แก่ เงินทุน, บุคลากร, ระบบงาน เรื่องระบบงานขึ้นกับว่ามาขอทำธุรกิจด้านไหน
- หลังได้ใบอนุญาตแล้ว จะมีการติดตามธุรกิจ 2 วิธี คือ on-site ตรวจเยี่ยมบริษัท และ off-site ตรวจจากเอกสารที่ต้องส่งให้ ก.ล.ต. อยู่แล้ว
- น.ส. รื่นวดี ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารของ Zipmex ไม่ได้เป็นญาติกันตามที่มีข่าว
Timeline การทำงานของ ก.ล.ต. ในกรณี Zipmex
- ก.ล.ต. ออกหนังสือถามไปครั้งแรก ผ่านไป 2 วัน ได้รับหนังสือตอบแต่ไม่ได้รายละเอียด จึงส่งหนังสือไปรอบที่สอง ก็ไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมกลับมาอีกมากนัก
- วันที่ 25 ก.ค. ถึงใช้อำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. ร่วมการสืบสวนกับ DSI และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
- สถานการณ์ตอนนี้ต้องถือว่า Zipmex ประกอบธุรกิจอื่นนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้ว และอาจมีความผิดอาญาในกฎหมายฉบับอื่นๆ ด้วย
- พยายามกระชับการกำกับดูแลให้เข้มงวดขึ้น เพราะเคยเจอกรณี BX ปิดไป และคนถือ privat key เพียงคนเดียวเดินทางไปต่างประเทศมาแล้ว จึงมีประสบการณ์ในการกำกับดูแลกรณีฉ้อโกง
แนวทางการช่วยเหลือผู้เสียหายของ ก.ล.ต. ต่อกรณี Zipmex
- เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ที่เกิดเรื่อง เพื่อไปตรวจเช็คกับข้อมูลที่บริษัท Zipmex แจ้งมา แต่มาถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับข้อมูลเชิงลึกจากบริษัท
- ปัจจุบัน Zipmex ยังไม่เคยแจ้งข้อมูลความเสียหายเป็นรายบุคคลกับ ก.ล.ต. แจ้งมาเฉพาะยอดรวมเท่านั้น ทำให้ ก.ล.ต. เองก็ไม่ทราบรายละเอียดของลูกค้ารายบุคคล
- ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่คาบเกี่ยวกับกฎหมายอื่น
- พอเจอ moratorium relief ก็ถือเป็นกรณีใหม่ซ้ำมาอีก ก็ต้องตามดูอีก
- ถ้าลูกค้าของ Zipmex จะมาหา ก.ล.ต. ในวันจันทร์ที่ 1 ส.ค. ก็ยินดีต้อนรับ
- การห้ามถอนทรัพย์สิน ได้สั่งให้ Zipmex ต้องรีบเร่งเปิดระบบกลับมาให้ลูกค้าถอนทรัพย์สินได้
หลังการไลฟ์ของคณะผู้บริการ ก.ล.ต. จบลง นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ซีอีโอของ Zipmex Thailand ได้ประกาศผ่าน Facebook ว่ามีรายละเอียดบันทึกธุรกรรมทางบัญชี (audit trail) และยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล แต่ปัจจุบันกำลังโฟกัสกับการระดมทุนเพิ่มเพื่อให้กลับมาเปิดบริการ Z Wallet ในส่วนของการฝากสินทรัพย์ ZipUp+ ได้โดยเร็ว