นักวิจัยพัฒนาวัสดุเคลือบผิวชนิดใหม่ที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เองโดยไม่ต้องใช้น้ำยาใดๆ

by ตะโร่งโต้ง
31 July 2022 - 13:25

ทีมวิจัยจาก University of British Columbia (UBC) พัฒนาวัสดุเคลือบผิวชนิดใหม่ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ได้ 99.7% ภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเข้าช่วย

วัสดุเคลือบผิวนี้มีส่วนประกอบของทองแดงและสังกะสี โดยคุณสมบัติพิเศษของมันคือผิวสัมผัสที่มีความขรุขระเล็กในระดับนาโนเมตร ซึ่งความขรุขระของพื้นผิวนี้เองที่จะไปเจาะทำลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียที่เกาะติดอยู่กับมัน ทำให้เชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นตายไปเอง

การพัฒนาสารเคลือบผิววัตถุที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อด้วยตัวของมันเองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ในปัจจุบันสารเคลือบผิวที่ฆ่าเชื้อเองนั้นจะทำจากทองแดงล้วน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ได้เกือบหมดในเวลาราว 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเทียบกับผลงานวิจัยใหม่จาก UBC แล้ว สารเคลือบผิวแบบใหม่สามารถฆ่าเชื้อได้เร็วกว่า ซ้ำยังมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าการใช้ทองแดงล้วน

ในทางวิทยาแบคทีเรียแล้ว บรรดาแบคทีเรียนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ โดยจำแนกจากผลการทดสอบย้อมสีกรัม ซึ่งเป็นการย้อมสีเซลล์แบคทีเรีย กลุ่มของแบคทีเรียที่มีผนังเซลล์หนาจะย้อมสีติดเห็นได้เด่นชัดเรียกว่า Gram-positive ในขณะที่แบคทีเรียชนิดที่มีผนังเซลล์บางนั้นจะย้อมสีไม่ค่อยติดซึ่งจะถูกเรียกว่า Gram-negative โดยกลุ่มแรกนั้นจะตายช้ากว่าเมื่อมีการฆ่าเชื้อเนื่องจากมีผนังเซลล์ที่หนากว่านั่นเอง ดังนั้นการประเมินประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อของวัสดุหรือสารต่างๆ จึงมักพิจารณาจากผลในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Gram-positive เป็นสำคัญ

สำหรับเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus นั้นก็เป็นหนึ่งในแบคทีเรียกลุ่ม Gram-positive เป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปตามผิวหนังของมนุษย์ แต่หากมีการปนเปื้อนกับอาหารก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอาหารเป็นพิษได้ ที่สำคัญเชื้อแบคทีเรียตัวนี้คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอาการติดเชื้อในสถานพยาบาล

ทีมวิจัยมองเรื่องการประยุกต์ใช้สารเคลือบผิวชนิดใหม่นี้โดยเน้นไปที่การใช้งานกับวัตถุสิ่งของต่างๆ ในสถานพยาบาลเป็นสำคัญ โดย ดอกเตอร์ Amanda Clifford หัวหน้าทีมวิจัยของ UBC มองว่าการที่พื้นผิววัตถุสามารถฆ่าเชื้อได้เองจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อของผู้ป่วยลงได้มาก และผลดีสืบเนื่องที่ตามมาก็คือจะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาผู้ป่วยตามไปด้วย

ในตอนนี้ทีมวิจัยได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรชั่วคราวแล้ว เป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้สารเคลือบผิวมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อประเภทอื่นอย่างเช่น ไวรัส ให้ได้ด้วย และหวังว่าจะสามารถนำผลงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงในที่สุด

ที่มา - EurekAlert ผ่าน Interesting Engineering

Blognone Jobs Premium