เทคโนโลยี 5G เปิดทางให้การใช้เครือข่ายไร้สายสามารถใช้งานในโลกธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ได้มากมาย ทั้งจากประสิทธิภาพของเครือข่ายที่แบนวิดท์สูงกว่าเทคโนโลยีเดิมๆ และสามารถปรับแต่งการใช้งานคลื่นความถี่ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เปิดทางให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการใช้งานได้ตามความต้องการ เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์จำนวนมากที่ไม่ต้องการแบนวิดท์สูง หรือการใช้งานที่ต้องการแบนวิดท์สูงพร้อมกับเวลาหน่วงที่ต่ำมากๆ เช่น แว่นตา VR/AR
แต่ที่ผ่านมาการที่ธุรกิจจะเริ่มใช้งานโซลูชั่น 5G นั้นยังเป็นการปรับแต่งตามการใช้งานแต่ละครั้ง ทำให้การเริ่มใช้งานแต่ละโซลูชั่นต้องใช้เวลานานหลายเดือน และอาจต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะเพื่อการใช้งานแอปพลิเคชั่น โซลูชั่นมักขาดความยืดหยุ่นที่ธุรกิจไม่สามารถทดลองแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ โดยใช้งานไม่มากนักในช่วงแรก แต่ต้องการความมั่นใจว่าจะขยายการใช้งานได้ทันทีที่ต้องการ
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวว่า การเปิดตัว AIS 5G NEXTGen Platform ในงาน Thailand 5G Summit 2022 นับเป็นแพลตฟอร์ม 5G ให้ผู้ใช้จัดการการใช้งานด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสามารถบริหารจัดการการใช้งาน 5G ได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในแพลตฟอร์มโดยตรง และเปิดใช้งาน Multi-access Edge Computing (MEC) ที่จะเป็นหน่วยประมวลผลที่อยู่ใกล้กับอุปกรณ์ 5G ที่สุดได้ด้วยตัวเอง ทำให้สามารถเริ่มทดลองใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ โดยดึงความได้เปรียบของเทคโนโลยี 5G ออกมาได้อย่างเต็มรูปแบบ โดย MEC จะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องการการประมวลผลที่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว และสามารถทำงานร่วมกับคลาวด์ต่างๆ เพื่อแยกงานที่ไม่ต้องการการตอบสนองเร็วนักไปประมวลผลบนคลาวด์ได้เช่นเดิม
MEC ทำให้การใช้เซิร์ฟเวอร์ภายนอกไม่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาหน่วง (latency) จากอุปกรณ์ไปยังเซิร์ฟเวอร์อีกต่อไป ผู้ใช้สามารถเลือกพื้นที่ที่เซิร์ฟเวอร์จะอยู่ใกล้ที่สุดกับอุปกรณ์ตามที่ผู้ใช้เลือก
ตัวอย่างการใช้งานเช่น ธุรกิจร้านอาหารที่อาจจะต้องการใช้หุ่นยนต์ การประมวลผลบน MEC จะทำให้หุ่นยนต์สามารถรับรู้ข้อมูลภายในร้านได้ กล้องวงจรปิดสามารถอ่านสัญญาณมือของลูกค้าและสั่งให้หุ่นยนต์ในร้านเข้าไปให้บริการได้ทันทีแม้ตัวหุ่นยนต์จะมองไม่เห็นลูกค้าที่ต้องการเรียก หรือการใช้งานแว่นตา AR เพื่อให้ข้อมูลแก่คนทำงานด่านหน้า (frontline) ที่หน่วยประมวลผล MEC สามารถประมวลภาพจากแว่น AR ได้อย่างรวดเร็ว และตอบกลับไปยังแว่นเพื่อแสดงข้อมูลให้คนทำงานได้ในเสี้ยววินาที การใช้งานสามารถใช้งานได้ทั้งการรักษาความปลอดภัย, การจัดการคงคลังสินค้า, หรือการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนสูง
นอกจากการเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรได้โดยง่ายแล้ว AIS 5G NEXTGen Platform ยังเปิดทางให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่น สามารถนำแอปพลิเคชั่นพร้อมใช้งานมาให้บริการบนแพลตฟอร์ม ซึ่งทำให้ธุรกิจที่สนใจใช้งานเทคโนโลยี 5G สามารถเริ่มใช้งานได้ทันที มีแอปพลิเคชั่นให้ทดลองตั้งแต่เริ่มใช้งาน ไม่ต้องรอการพัฒนาเพิ่มเติม หรือการคอนฟิกติดตั้งที่อาจจะกินเวลานับเดือนอีกต่อไป ตอนนี้ AIS ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นชั้นนำ นำแอปพลิเคชั่นมาเสนอบนแพลตฟอร์ม เช่น Metaverse, Cloud Gaming, การวิเคราะห์วิดีโอ (video analytics), การวิเคราะห์ภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI Computer Vision), ระบบควบคุมคุณภาพการผลิต, Drone, AR/VR, ระบบควบคุมหุ่นยนต์, และแอปพลิเคชั่นอื่นๆ อีกมาก
AIS 5G NEXTGen Platform ยังมีความได้เปรียบที่มีความร่วมมือกับกลุ่ม Singtel ในการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มให้บริการแอปพลิเคชั่นบน MEC เข้าด้วยกัน ทำให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นในไทยที่สร้างแอปพลิเคชั่นบน AIS 5G NEXTGen Platform ไปยังเครือข่ายอื่นๆ เช่น Singtel ในสิงคโปร์ หรือ OPTUS ในออสเตรเลีย เปิดทางให้เข้าถึงผู้ใช้ที่กว้างว่าประเทศไทย
สรุป AIS 5G NEXTGen Platform จะสร้างประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมไทยที่จะเร่งสร้าง Use Case การใช้งานที่เสริมขีดความสามารถใหม่ๆ ในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ถือเป็นจุดสำคัญของการผลักดันให้ธุรกิจไทยก้าวเข้าสู่ยุค 5G อย่างเต็มรูปแบบ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
แพลตฟอร์ม AIS 5G NEXTGen Platform เริ่มเปิดให้องค์กรธุรกิจเริ่มทดลองแล้ว และจะเปิดให้ลูกค้าองค์กรใช้งานเต็มรูปแบบภายในปีนี้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AIS 5G NEXTGen Platform หรือการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในโลกธุรกิจ
สามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ AIS Business ได้ทันที หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลท่านอยู่