Helium บริษัทเครือข่าย IoT ขวัญใจชาว Web3 ถูกแฉ สร้างรายชื่อลูกค้าทิพย์-รายได้ทิพย์

by mk
1 August 2022 - 07:31

Helium Network เป็นบริษัทด้านบล็อกเชน (หรือบ้างก็เรียก web3) ที่ทำระบบเครือข่ายเราเตอร์ LoRaWAN ผ่านมวลชนจำนวนมาก เพื่อให้บริการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT โดยนำแนวคิดบล็อกเชนและ token ($HNT) เข้ามาจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ลงทุนซื้อเราเตอร์มาให้บริการ

Helium เคยถูกยกย่องว่าเป็นกรณีศึกษาว่า web3 สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในโลกจริงได้จริงๆ นะ (บทความในสื่อใหญ่อย่าง The New York Times ที่พาดหัวว่า Maybe There’s a Use for Crypto After All) แนวคิดของมันคือการสร้างเครือข่าย LoRaWAN โดยผู้ใช้ "ลงทุน" ซื้ออุปกรณ์ hotspot ราคาประมาณ 500 ดอลลาร์มาติดตั้งไว้เฉยๆ เปิดให้ Helium เข้ามาจัดการจากระยะไกล ซึ่ง Helium จะนำไปปล่อยเช่ากับ "ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ต้องใช้งาน" และนำรายได้กลับเข้ามา "จ่ายคืน" ผู้ลงทุน โดยกระบวนการคิดค่าตอบแทนใช้ระบบ token เป็นสื่อกลางตามสมัยนิยม

แต่ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา Helium กลับถูกแฉว่า แทบไม่มีรายได้จากการเช่า LoRaWAN เข้ามาจริงๆ และลูกค้าที่ Helium แปะโลโก้ไว้บนหน้าเว็บ ซึ่งมีแบรนด์ดังๆ อย่าง Lime และ Salesforce ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์กับ Helium แต่อย่างใด

ลูกค้าทิพย์

เว็บไซต์ข่าว Mashable ออกมาแฉว่า Helium กล่าวอ้างว่าบริษัทเช่าสกูตเตอร์ Lime เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Helium ที่เช่าใช้เครือข่าย LoRaWAN ติดตามสกูตเตอร์ของตัวเองว่าอยู่ที่ไหนบ้าง

Lime ให้ข้อมูลกับ Mashable ว่าจริงๆ แล้ว Helium เคยมาขอทดสอบระบบเพียงครั้งเดียวในปี 2019 เป็นเวลา 1-2 เดือน แต่หลังจากนั้น Lime ก็ไม่เคยติดต่อกับ Helium อีกเลย แถมพนักงานของ Helium คนนั้นก็ลาออกจากบริษัทไปแล้ว ในเอกสารสัญญาระหว่าง Lime กับ Helium ก็ระบุชัดว่าห้ามไม่ให้ Helium กล่าวอ้างว่า Lime เป็นลูกค้าใช้งาน แต่สุดท้ายแล้ว Helium ก็ยังนำไปใช้

ฝั่งของ Salesforce ก็ออกมายืนยันกับ The Verge ว่าไม่ได้เป็นลูกค้าของ Helium เช่นกัน (The Verge บอกว่าสอบถามไปยังลูกค้ารายอื่นๆ บนหน้าเว็บ Helium ด้วย แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ)

หลังจากเรื่องนี้เป็นข่าว Lime บอกว่าเตรียมส่งจดหมายเตือนให้ Helium นำโลโก้ตัวเองออกจากสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งหมดแล้ว และหน้าเว็บของ Helium ก็ถอดโลโก้ของสองแบรนด์นี้ออกทันที

รายได้ทิพย์

Liron Shapira นักลงทุนสตาร์ตอัพ และผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านความสัมพันธ์ Relationship Hero เป็นอีกรายที่ออกมาแฉว่าโมเดลการให้ผลตอบแทนของ Helium ไม่ได้เป็นจริงตามที่กล่าวอ้าง

Helium ชักชวนคนมาลงทุนทำ hotspot โดยเริ่มจากการซื้ออุปกรณ์ราคา 400-800 ดอลลาร์ นำมาติดตั้งที่บ้านของตัวเอง และคาดหวังรายได้ passive income กลับมาเดือนละประมาณ 100 ดอลลาร์ (จ่ายเป็นเหรียญ $HNT) จากการให้ Helium ไปหากินต่อ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือ นักลงทุน hotspot มีรายได้กลับมาประมาณ 0.01 ดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น จากการถอดข้อมูลกลับจากเครดิตในระบบ Helium พบว่าในเดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา มีเครดิตการใช้งานในระบบรวมมูลค่า 6,561 ดอลลาร์ ถึงแม้นักขุดบางคนบอกว่าได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 10-20 ดอลลาร์ แต่ Shapira ชี้ว่านั่นคือรายได้ทิพย์ เพราะเป็นเงินอุดหนุนจาก Helium เองให้นักขุดรู้สึกว่าได้ค่าตอบแทนจริง จะได้ขยายเครือข่ายนักขุดให้กว้างขึ้น (ภายหลัง Helium ยืนยันตัวเลข 6,561 ดอลลาร์ว่าเป็นรายได้จากค่าเช่าเครือข่ายจริง แต่บริษัทก็มีรายได้จากการลงทะเบียนเข้าเครือข่าย hotspot ครั้งแรกของนักลงทุนด้วย)

Nova Labs บริษัทแม่ของ Helium ได้รับเงินลงทุน 365 ล้านดอลลาร์ จากบริษัทลงทุนชื่อดัง Andreesen Horowitz โดยบริษัทระบุว่ามีเครือข่าย hotspot มากกว่า 500,000 จุดทั่วโลก ครอบคลุม 52,000 เมืองใน 168 ประเทศ

ในห้อง Reddit ของชุมชน Helium Network เองก็มีการตั้งคำถามเรื่องรายได้อยู่บ่อยครั้ง

ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าอนาคตของ Helium จะเป็นอย่างไรต่อ แต่ Kevin Roose คอลัมนิสต์ของ The New York Times ที่เขียนบทความแนะนำ Helium ได้ล้างข้อความเก่าในบัญชี Twitter ทั้งหมดออกแล้ว พร้อมขึ้นข้อมูลว่าช่วงนี้ลาพักไปเลี้ยงลูก parental leave และหยุดใช้งาน Twitter ชั่วคราว

Blognone Jobs Premium