นักวิจัย MIT สร้างแผ่นสติ๊กเกอร์แปะผิวใช้เก็บภาพอัลตร้าซาวด์แบบต่อเนื่องนาน 48 ชั่วโมง

by ตะโร่งโต้ง
2 August 2022 - 04:00

นักวิจัยจาก MIT ได้พัฒนาแผ่นสติ๊กเกอร์แปะผิวหนังเพื่อใช้สำหรับบันทึกภาพอัลตร้าซาวด์ของอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ได้ต่อเนื่องนาน 48 ชั่วโมง

แผ่นสติ๊กเกอร์ดังกล่าวถูกเรียกว่า BAUS (bioadhesive ultrasound) เป็นแผงรับภาพอัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กใกล้เคียงกับสแตมป์ (ขนาด 2*3 เซนติเมตร) ในการใช้งานก็เพียงแค่แปะแผ่น BAUS ลงบนผิวหนังในตำแหน่งที่ต้องการบันทึกภาพอัลตร้าซาวด์ของอวัยวะที่อยู่ภายใน และทำการเชื่อมต่อแผ่น BAUS เข้ากับอุปกรณ์แปลงสัญญาณเพื่อการบันทึกและวิเคราะห์ผล

ตัวแผ่น BAUS สามารถบันทึกภาพอัลตร้าซาวด์ของหัวใจ, ปอด, หลอดเลือด, อวัยวะระบบทางเดินอาหาร รวมถึงกล้ามเนื้อ ทำให้มันสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เป็นต้นว่า การบันทึกภาพเพื่อใช้วิเคราะห์ประเมินการทำงานของหัวใจและปอดในระหว่างการออกกำลัง หรือการทำงานของกล้ามเนื้อในระหว่างการฟื้นฟูร่างกายก็สามารถทำได้เช่นกัน

แผ่น BAUS (bioadhesive ultrasound)

ตัวอย่างภาพอัลตร้าซาวด์จากการใช้แผ่น BAUS เพื่อดูภาพหัวใจ, ปอด, หลอดเลือด และกล้ามเนื้อ

ตัวแผ่น BAUS ประกอบไปด้วยแผงรับสัญญาณภาพอัลตร้าซาวด์ และแผ่นเกาะติดผิวหนังซึ่งทำมาจากพอลิเมอร์ที่มีความอ่อนตัวซึ่งบรรจุไฮโดรเจลไว้ด้านใน ทั้งนี้การคงสภาพไฮโดรเจลไว้ภายในมิให้ระเหยออกไปเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ภาพอัลตร้าซาวด์มีความชัดเจน หากไฮโดรเจลรั่วหรือระเหยออกไปก็จะทำให้ภาพอัลตร้าซาวด์ที่บันทึกได้มีคุณภาพด้อยลง

ตัวแผ่นเกาะติดที่ถูกออกแบบมาพิเศษนี้จะทำหน้าที่ยึดเกาะกับผิวหนังมนุษย์ด้วยความแนบแน่นแม้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ใช้ โดยในตอนนี้มันมีอายุการใช้งานราว 48 ชั่วโมงก่อนที่ความสามารถในการยึดเกาะผิวหนังจะเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ

ผลการทดสอบประสิทธิภาพการยึดติดบนผิวหนังของแผ่น BAUS ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ทีมวิจัยได้ทดลองใช้งานแผ่น BAUS กับอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง ซึ่งพบว่ามันสามารถทำงานได้ดีแม้ในขณะที่ผู้ร่วมทดสอบจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถนั่ง, ยืน, เดิน, วิ่ง หรือขี่จักรยาน

ในตอนนี้แผ่น BAUS ยังต้องทำงานโดยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นอยู่ตลอดเวลา แต่นักวิจัยตั้งเป้าที่จะปรับปรุงให้มันสามารถทำงานและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้แบบไร้สาย ซึ่งจะทำให้สามารถนำไปฝังเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สวมใส่อื่นได้ด้วย หรืออาจทำให้สามารถจำหน่ายตามร้านยาให้ผู้คนสามารถหาซื้อไปใช้งานได้เองคล้ายพลาสเตอร์ปิดแผล

ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่นี่

ที่มา - MIT News

Blognone Jobs Premium