เมื่อ 2 ปีก่อน Microsoft ได้ทดสอบระบบไฟสำรองพลังเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 250 กิโลวัตต์ และประสบความสำเร็จสามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่องนาน 48 ชั่วโมง ล่าสุดพวกเขาได้ทดสอบระบบเซลล์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 3 เมกะวัตต์ แล้วเป็นที่เรียบร้อย และเตรียมพร้อมที่จะนำระบบเซลล์เชื้อเพลิงนี้ไปใช้งานจริงแทนเครื่องปั่นไฟดีเซลเพื่อใช้เป็นระบบไฟสำรองให้กับศูนย์ข้อมูล
เซลล์เชื้อเพลิงที่ Microsoft ทดสอบในครั้งนี้เป็นแบบ proton exchange membrane (PEM) ผลิตโดยบริษัท Plug โดยทำการทดสอบกันบนลานกว้างในพื้นที่สำนักงานของ Plug ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Latham ใน New York
ระบบนี้ประกอบด้วยเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 125 กิโลวัตต์จำนวน 36 เซลล์ โดยแบ่งติดตั้งในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตจำนวน 2 ตู้ เมื่อเซลล์เชื้อเพลิงทั้งหมดทำงานเต็มพิกัดจะสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยกำลัง 3 เมกะวัตต์ คำนวณค่าประสิทธิภาพได้ราว 66.67% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพเซลล์เชื้อเพลิงทั่วไป (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ระบุว่าประสิทธิภาพเซลล์เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ โดยทั่วไปมีค่าอยู่ในช่วง 40-60%)
สำหรับชุดเซลล์เชื้อเพลิงที่ทำการทดสอบในครั้งนี้ใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตคลอรีนและการผลิตโซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งอาจเรียกก๊าซเหล่านี้ว่า "บลูไฮโดรเจน" อันหมายถึงก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งยังคงมีการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศในระหว่างกระบวนการให้ได้มาซึ่งก๊าซเชื้อเพลิง
แต่สำหรับเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นที่ Microsoft ตั้งใจจะใช้งานจริงในอนาคตนั้น พวกเขาต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้มาจากแหล่งพลังงานสะอาด หรือที่เรียกกันในวงการว่า "กรีนไฮโดรเจน" เท่านั้น โดยกรีนไฮโดรเจนจะหมายถึงก๊าซที่ได้จากกระบวนการอิเล็กโทรไลซ์ซึ่งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ทั้งนี้ที่มาของพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวจะถูกจำกัดว่าต้องมาจากพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินของระบบผลิตไฟพลังงานสะอาด เช่นฟาร์มผลิตไฟฟ้าพลังงานลม และฟาร์มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น
ระบบปั่นไฟด้วยเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 3 เมกะวัตต์นี้ ถือเป็นระบบเซลล์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ที่สุดที่ Plug เคยสร้างมา และจากนี้หลังการทดสอบประสบผลสำเร็จด้วยดี Plug ก็เตรียมที่จะปรับปรุงระบบรุ่นต้นแบบนี้ให้พร้อมสำหรับการจำหน่ายจริงในเชิงพาณิชย์
ทางด้าน Microsoft ผู้ว่าจ้าง Plug ก็เล็งจะนำระบบปั่นไฟด้วยเซลล์เชื้อเพลิงนี้ไปใช้งานจริงกับระบบไฟสำรองของศูนย์ข้อมูล ทดแทนเครื่องปั่นไฟดีเซลที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการหันมาใช้แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Microsoft ตั้งเป้าจะเปลี่ยนค่าปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนให้ติดลบให้ได้ภายในปี 2030
ที่มา - Microsoft