Twitter บอกว่า Elon Musk วิเคราะห์ "บัญชีบอต" ด้วยการใช้เครื่องมือที่เคยบอกว่าบัญชีของเขาเองก็เป็นบอต

by ตะโร่งโต้ง
7 August 2022 - 19:35

หนึ่งในข้อขัดแย้งที่เป็นจุดแตกหักในการล้มดีลซื้อกิจการ Twitter ที่ Elon Musk กล่าวอ้างคือเรื่องข้อมูลบัญชีบอตในระบบของ Twitter โดย Musk ไม่เชื่อว่ามีบัญชีบอตอยู่บนแพลตฟอร์มน้อยกว่า 5% ตามรายงานที่ Twitter ระบุไว้ ซึ่งนำมาสู่การฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน

ในขณะที่ Musk ข้องใจเรื่องจำนวนบัญชีบอตในระบบเป็นอย่างมากถึงขั้นท้าซีอีโอของ Twitter ให้มาดีเบตกัน ฝั่ง Twitter เองก็ตั้งคำถามถึงคำนิยาม "บัญชีบอต" ในความหมายของ Musk ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนหากเกณฑ์การพิจารณานั้นเคยตัดสินว่าบัญชีของ Musk เองก็เป็นบัญชีบอตด้วย

Twitter ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อศาล ว่าวิธีการที่ Musk ใช้วิเคราะห์ตัดสินว่าบัญชี Twitter ใดๆ เป็นบัญชีบอตหรือไม่นั้นเป็นการอาศัยเครื่องมือที่เปิดให้ใช้งานแบบสาธารณะผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อว่า "Botometer" ซึ่งมีมาตรฐานในการประเมินบัญชีผู้ใช้ (ว่าเป็นบัญชีปลอมหรือสแปม) แตกต่างจากมาตรฐานที่ Twitter ใช้ หนำซ้ำตัว Botometer เองยังเคยประเมินว่าบัญชี @elonmusk เองเป็นบัญชีบอตด้วยซ้ำ ทั้งที่ชัดเจนว่าบัญชีดังกล่าวถูกใช้งานโดยตัว Musk จริงๆ ไม่ใช่บัญชีบอต

หน้าเว็บ Botometer ซึ่ง Twitter ระบุว่าเป็นเครื่องมือที่ Elon Musk ใช้เพื่อประเมินจำนวนบัญชีบอต

สำหรับ Botometer นั้นเป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยสถาบัน Observatory on Social Media and the Network Science Institute ของ Indiana University ซึ่งการใช้งานเครื่องมือก็ไม่ซับซ้อน เพียงเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของ Botometer จากนั้นก็กรอกชื่อบัญชี Twitter ที่ต้องการตรวจสอบลงไปในช่องด้านล่างแล้วกดปุ่ม "Check user" ก็จะได้ผลการประเมินคะแนนความน่าจะเป็นบัญชีบอต โดยคะแนนเต็มคือ 5 คะแนน ยิ่งผลการประเมินได้คะแนนสูงก็หมายความว่าบัญชีซึ่งถูกตรวจสอบนั้นยิ่งมีความน่าจะเป็นบัญชีบอต (Twitter อ้างว่าบัญชีของ Musk เคยถูกประเมินคะแนนสูงถึง 4 จาก 5 คะแนน)

ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ความเป็น "บัญชีบอต" ของ Botometer โดยผลการประเมินยิ่งมีคะแนนสูงแปลว่าบัญชีดังกล่าวยิ่งมีความน่าจะเป็นบัญชีบอต

นอกจากนี้ Twitter ยังระบุในเอกสารที่ยื่นต่อศาลว่า Musk วิเคราะห์ปริมาณบัญชีบอตในระบบโดยใช้ฐานข้อมูลที่ต่างกันกับของ Twitter โดยฐานข้อมูลผู้ใช้ที่ Twitter ใช้อ้างอิงในการคำนวณนั้นเรียกว่า monetizable daily active users (mDAU) ซึ่งหมายถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานเป็นประจำที่สามารถนำไปสู่การหารายได้ของบริษัท

Twitter สรุปว่า ด้วยการใช้เครื่องมือ Botometer กับฐานข้อมูลซึ่งอาจไม่ได้จำกัดเพียงชุดข้อมูล mDAU หรืออาจไม่ได้รวมข้อมูล mDAU เข้าไปในการประเมินนั้น ย่อมทำให้ Musk สามารถสร้างผลการประเมินจำนวนบัญชีบอตได้ผลลัพธ์สูงกว่าที่ Twitter รายงานไว้ และ Musk ก็ได้ยกเอาผลการประเมินที่มีความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนนี้มาเป็นเหตุผลในการล้มดีลซื้อกิจการอย่างไม่เป็นธรรม

ที่มา - Ars Technica

Blognone Jobs Premium