สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟแล้ว กาแฟสกัดเย็นคือทางเลือกหนึ่งที่ให้ความแตกต่างจากกาแฟดริปแบบร้อน ทั้งกลิ่น, ระดับคาเฟอีน รวมถึงรสชาติ ทว่าปัญหาหนึ่งของการให้ได้มาซึ่งกาแฟสกัดเย็นสักแก้วนั้นคือกระบวนการทำที่ต้องอาศัยเวลานานซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาข้ามวันเลยกว่าจะได้กาแฟที่พร้อมดื่ม
แต่งานวิจัยใหม่จาก Universitat Duisberg Essen มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนีอาจเปิดความเป็นไปได้ใหม่ให้กับวงการกาแฟ ด้วยการประยุกต์ใช้เลเซอร์มาทำการสกัดเย็น ช่วยย่นระยะเวลาที่ต้องใช้ในกระบวนการสกัดเย็นจากนานนับสิบชั่วโมงลงมาเหลือเพียงแค่ไม่กี่นาที
โดยปกติแล้วการทำกาแฟด้วยวิธีสกัดเย็นนั้นจำแนกวิธีการออกได้เป็น 2 วิธี คือแบบแช่ และแบบเย็น การทำกาแฟสกัดเย็นแบบแช่นั้น จะต้องทำการบดเมล็ดกาแฟแล้วแช่ในน้ำ จากนั้นจึงนำไปเข้าตู้เย็นแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง (หรืออาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าต้องการความเข้มข้นของรสและกลิ่นมากน้อยเพียงใด) จากนั้นจึงค่อยกรองเอากากกาแฟออก ในขณะที่การทำกาแฟสกัดเย็นแบบดริปนั้น แม้ว่าจะใช้เวลาน้อยกว่าแบบแช่แต่ก็ยังต้องใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงกว่าขั้นตอนการดริปจะแล้วเสร็จ
สำหรับเทคนิคการสกัดเย็นกาแฟด้วยเลเซอร์ของทีมวิจัยนั้น คล้ายคลึงกับการสกัดเย็นแบบแช่ กล่าวคือทีมวิจัยเริ่มขั้นตอนด้วยการบดเมล็ดกาแฟ จากนั้นจึงนำไปแช่น้ำ แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากการสกัดเย็นแบบแช่ด้วยวิธีปกติคือแทนที่จะนำเอากาแฟที่แช่น้ำไว้นั้นไปวางพักทิ้งไว้ในตู้เย็นก็กลับนำมารับการยิงลำแสงเลเซอร์แทนเป็นเวลา 3 นาที จากนั้นจึงค่อยนำเอาส่วนผสมน้ำกาแฟที่ได้ไปกรองเอากากกาแฟออกก็จะได้กาแฟที่พร้อมสำหรับการดื่ม
ทีมวิจัยใช้ลำแสงเลเซอร์ที่สร้างด้วยผลึก neodymium-doped yttrium aluminum garnet (Nd:YAG) ความยาวคลื่นแสง 532 นาโนเมตร (ให้พลังงาน 125 พิโกจูล) ยิงเป็นพัลส์ด้วยความถี่ 80,000 Hz ใส่แก้วที่บรรจุน้ำซึ่งแช่เมล็ดกาแฟบดเอาไว้นานต่อเนื่องเป็นเวลา 3 นาที โดยเทคนิคการใช้เลเซอร์แบบนี้ถอดแบบมาจากเทคนิคการเตรียมสารแขวนลอยอนุภาคนาโนที่ใช้การยิงเลเซอร์ไปยังเนื้อโลหะที่มีสถานะของแข็งให้แตกตัวออกมีขนาดเล็กลงเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งในระหว่างการยิงเลเซอร์ใส่กาแฟนั้น ส่วนผสมเมล็ดกาแฟแช่น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นแค่ไม่กี่องศาเซลเซียส
ทีมวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบกาแฟที่ได้จากสกัดเย็นด้วยเลเซอร์เปรียบเทียบกับกาแฟร้อน และกาแฟที่ผ่านการสกัดเย็นแบบแช่ด้วยวิธีปกตินาน 24 ชั่วโมง ได้ผลดังนี้
ทีมวิจัยระบุว่าหากใช้เวลาในการยิงเลเซอร์เพื่อสกัดเย็นกาแฟให้นานกว่านี้ ก็จะสามารถทำให้ปริมาณสาร trigonelline และคาเฟอีนของกาแฟที่ได้ มีค่าใกล้เคียงกับกาแฟสกัดเย็นด้วยวิธีปกติยิ่งขึ้น
แม้ว่าการสกัดเย็นกาแฟด้วยเลเซอร์ตามวิธีการของทีมวิจัยนี้ดูจะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับคอกาแฟรายไหนที่จะลองทำตาม แต่มันอาจช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตกาแฟมีทางเลือกใหม่สำหรับกระบวนการผลิตก็เป็นได้
สามารถอ่านรายละเอียดจากเอกสารรานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่นี่
ที่มา - New Atlas