นักวิจัยจาก University of South Australia พัฒนาเซ็นเซอร์โดยใช้ใยแก้วนำแสงติดผ้าปูเตียงสำหรับปูบนเตียงผู้ป่วย สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้ป่วยเพื่อช่วยเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดแผลกดทับจากการนอนบนเตียงด้วยท่าทางเดิมเป็นเวลานานเกินไป
ตัวเส้นใยแก้วที่ใช้เป็นเซ็นเซอร์นี้ถูกออกแบบให้ติดตั้งเป็นแนวต่อเนื่องกระจายไปทั่วพื้นที่ของเตียง เมื่อผู้ป่วยนอนบนเตียงที่ติดตั้งชุดเซ็นเซอร์นี้ไว้ แรงกดทับจากน้ำหนักของร่างกายคนจะไปทำให้ใยแก้วเกิดการยืดตัวหรือโค้งงอตามตำแหน่งต่างๆ ที่มีแรงกดทับกระทำกับมัน
ในระหว่างการใช้งานเซ็นเซอร์จะมีการปล่อยแสงเข้าสู่ปลายด้านหนึ่งของใยแก้วนำแสง และใช้เครื่องตรวจสอบการกระเจิงของแสงต่อเข้ากับปลายอีกด้านหนึ่งของเส้นใยแก้ว เมื่อผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าทางการนอนก็จะทำให้เส้นใยแก้วเกิดการขยับ ส่งผลให้รูปแบบการยืดตัวและโค้งงอของเส้นใยแก้วตามตำแหน่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและทำให้ลักษณะการกระเจิงของแสงที่ตรวจได้มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
โดยอาศัยหลักการตรวจสอบการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วยตามที่กล่าวมา หากเซ็นเซอร์พบว่าผู้ป่วยนอนนิ่งในท่าเดิมเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานเกินไปก็จะทำการแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยทำการเปลี่ยนท่าทางการนอนของผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ
ทั้งนี้นอกจากจะสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงได้แล้ว เซ็นเซอร์ใยแก้วนำแสงนี้ยังไวพอที่จะตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของแรงกดทับแม้เพียงเล็กน้อยในระดับที่สามารถรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจและการหายใจของคนได้ด้วย
ทีมนักวิจัยคิดว่าเซ็นเซอร์ใยแก้วนำแสงนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะต้องติดเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อสายสัญญาณเข้ากับร่างกายของผู้ป่วยโดยตรง หรือหากเปรียบเทียบกับวิธีการใช้กล้องวงจรปิดจับภาพผู้ป่วยเพื่อช่วยตรวจสอบการเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ก็ถือว่าการใช้เซ็นเซอร์ใยแก้วนำแสงนี้จะช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยได้ดีกว่า
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดของงานวิจัยนี้เพิ่มได้ที่นี่
ที่มา - New Atlas