Colossal บริษัทผู้ตั้งเป้าคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ กับเป้าหมายคืนเสือแทสมาเนียสู่ธรรมชาติ

by ตะโร่งโต้ง
17 August 2022 - 18:33

เชื่อว่าเกือบทุกคนรู้จักภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ภาคแรกกันดี กับเรื่องราวการคืนชีพให้ไดโนเสาร์โดยอาศัยเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมเข้าช่วย ในตอนนั้นแนวคิดนี้ดูล้ำยุคไปมากจนหลายคนคงยากจะจินตนาการว่าจะมีใครพยายามทำสิ่งที่ใกล้เคียงกันให้เกิดขึ้นได้จริง

แต่ตอนนี้มีคนกลุ่มหนึ่งประกาศตัวด้วยเป้าหมายยิ่งใหญ่ที่จะคืนชีพให้สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วยเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมศาสตร์คล้ายคลึงกับสิ่งที่เห็นจากภาพยนตร์ พวกเขาคือ Colossal บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐอเมริกา และโครงการแรกคือการคืนชีพให้เสือแทสมาเนียที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

Colossal เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดย Ben Lamm ซีอีโอซึ่งเคยผ่านงานบริษัทเทคมาแล้วหลายแห่ง และดอกเตอร์ George Church ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์สอนที่ Harvard และ MIT ซึ่งทีมงานของพวกเขายังประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก

Colossal มีเป้าหมายคืนชีพให้สัตว์สูญพันธุ์โดยเป้าหมายใหญ่สุดคือการคืนชีพให้ช้างแมมมอธ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นพวกเขาตัดสินใจเริ่มจากการสร้างเสือแทสมาเนียซึ่งเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่สูญพันธุ์ไปเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วกลับคืนมาก่อน

เสือแทสมาเนียในสวนสัตว์ Washington, D.C.

สำหรับเสือแทสมาเนียหรือเรียกอีกอย่างว่าหมาป่าแทสมาเนียนั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการที่เรียกว่า "ไทลาซีน" เป็นสัตว์กินเนื้อที่เป็นนักล่าสูงสุดในกลุ่มสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง และด้วยความที่รูปร่างของมันคล้ายหมาป่า ทว่าลายที่หลังของมันนั้นเป็นลายแบบเดียวกับเสือจึงทำให้มันถูกเรียกด้วยชื่อที่กล่าวมาข้างต้น

เสือแทสมาเนียนั้นเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดมาบนโลกใบนี้มาตั้งแต่ประมาณ 2 ล้านปีก่อน แต่จนกระทั่งเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว เสือแทสมาเนียก็ลดจำนวนลงและหลงเหลืออยู่เพียงที่เดียวคือบนเกาะแทสมาเนียประเทศออสเตรเลีย ต่อมาจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก็ทำให้เสือแทสมาเนียมีจำนวนลดน้อยลงไปอีกจนหมดไปจากธรรมชาติในช่วงปี 1910-1920 โดยเสือแทสมาเนียที่หลงเหลืออยู่เป็นตัวสุดท้ายนั้นได้รับการดูแลในสวนสัตว์ Hobart บนเกาะแทสมาเนียกระทั่งมันตายลงในปี 1936 หลังจากที่มันได้รับสถานะเป็นสัตว์คุ้มครองไม่นาน

แม้หลายปีให้หลังจะมีผู้คนอ้างว่ายังพบเสือแทสมาเนียตามธรรมชาติแต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ได้ประกาศสถานะให้มันเป็นสัตว์สูญพันธุ์เมื่อปี 1982

"Benjamin" เสือแทสมาเนียตัวสุดท้ายในสวนสัตว์ Hobart

สิ่งที่หลงเหลืออยู่เกี่ยวกับเสือแทสมาเนียคือภาพถ่าย, คลิปวิดีโอ และซากร่างของมัน ซึ่งกระโหลกของมันนี่เองที่จุดประกายให้ Colossal มีความหวังที่จะพาสัตว์สปีชีส์นี้กลับมาสู่โลกใบนี้อีกครั้ง พวกเขาร่วมมือกับทีมวิจัย Thylacine Integrated Genomic Restoration Research Lab (TIGRR) แห่ง University of Melbourne วางแผนที่จะนำเอาดีเอ็นเอของเสือแทสมาเนียที่ได้จากซากกระโหลกมาเป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการตัดต่อพันธุกรรมสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันให้ได้ออกมาเป็นเสือแทสมาเนียตัวใหม่

แผนการก็คือนำเอาเซลล์ของดันนาร์ต ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อมีกระเป๋าหน้าท้องรูปร่างตัวเล็กใกล้เคียงกับหนูมาทำการตัดต่อพันธุกรรม สาเหตุที่เลือกใช้เซลล์ของดันนาร์ตนั้นก็เป็นเพราะว่าลักษณะดีเอ็นเอของมันมีความใกล้เคียงกับดีเอ็นเอของเสือแทสมาเนียมาก ซึ่งการตัดต่อนี้จะอาศัยข้อมูลดีเอ็นเอของเสือแทสมาเนียที่ได้จากซากกระโหลกมาเป็นตัวอ้างอิง

จากนั้นพวกเขาจะนำเอาเซลล์ที่ตัดต่อพันธุกรรมแล้วเสร็จไปใส่ในมดลูกของดันนาร์ต ทั้งนี้ธรรมชาติของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องเมื่อตอนแรกเกิดนั้นจะมีขนาดเล็กมากไม่ว่าขนาดตัวตอนโตเต็มวัยจะแตกต่างกันเท่าใด (ขนาดตัวแรกเกิดอาจจะเล็กเท่าเมล็ดข้าว) ทำให้พวกเขามั่นใจว่ามดลูกของดันนาร์ตจะสามารถใช้เพื่อการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเสือแทสมาเนียได้

ตัวดันนาร์ต

ขั้นตอนตามแผนหลังจากนั้นก็คือเมื่อตัวอ่อนเสือแทสมาเนียครบกำหนดครรภ์มันก็จะถูกคลอดออกมาแล้วถูกเลี้ยงดูต่อไปในกระเป๋าหน้าท้องของตัวดันนาร์ต ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการปกติของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องอยู่แล้วที่จะเอาลูกซึ่งเพิ่งเกิดใหม่มาเลี้ยงต่อในกระเป๋าทันทีและเลี้ยงอยู่เช่นนั้นนานต่อไปอีกหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดีเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งเสือแทสมาเนียเกิดใหม่ก็จะมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นเกินกว่าจะอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของดันนาร์ตที่ทำหน้าที่แทนแม่แล้ว เมื่อถึงเวลานั้นทีมวิจัยจะใช้กระเป๋าหน้าท้องเทียมที่สร้างขึ้นมาใช้ในการดูแลลูกเสือแทสมาเนียจนกว่ามันจะถึงวัยที่สามารถออกมาใช้ชีวิตอยู่ภายนอก

Colossal วางแผนว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถสร้างช้างแมมมอธด้วยวิธีการคล้ายคลึงกัน โดยอาศัยดีเอ็นเอที่หาได้จากซากของมันแล้วทำการตัดต่อพันธุกรรมช้างเอเชีย และใช้มดลูกของช้างเอเชียเป็นที่เพาะเลี้ยงตัวอ่อนของช้างแมมมอธ อย่างไรก็ตามโครงการคืนชีพช้างแมมมอธนั้นยากกว่าเสือแทสมาเนียมาก เนื่องจากมันสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านานมาก การจะหาตัวอย่างดีเอ็นเอที่สมบูรณ์พอสำหรับใช้อ้างอิงในการตัดต่อพันธุกรรมเซลล์จึงยากกว่า อีกทั้งการจัดการกับสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าก็มีโจทย์ที่ต้องจัดการมากกว่าเช่นกัน

หุ่นจำลองช้างแมมมอธที่พิพิธภัณฑ์ Royal British Columbia

แม้ว่าแนวคิดที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะฟังดูมีความเป็นไปได้จริงไม่น้อย แต่นักวิทยาศาสตร์หลายรายก็ยังคงเห็นต่างและไม่คิดว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ตามแผน

Tom Gilbert ศาสตราจารย์จากสถาบัน GLOBE ของ University of Copenhagen ผู้ทำการศึกษาเรื่องการคืนชีพหนู Christmas Island ซึ่งเป็นสัตว์สูญพันธุ์อีกชนิดหนึ่งอยู่เช่นกัน ให้ความเห็นว่าการจะถอดรหัสพันธุกรรมจากดีเอ็นเอบนซากกระโหลกของเสือแทสมาเนียนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากข้อมูลที่ได้จะไม่สมบูรณ์และทีมวิจัยก็ไม่อาจคาดเดาเองได้โดยง่ายว่ารหัสพันธุกรรมส่วนที่ขาดหายไปนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งหากรหัสพันธุกรรมไม่มีความสมบูรณ์แล้วย่อมไม่มีทางที่ตัวอ่อนที่ผ่านกระบวนการตัดต่อพันธุกรรมจะรอดชีวิตมาเติบโตเป็นเสือแทสมาเนียได้

ในขณะที่ Jeremy Austin ศาสตราจารย์จาก Australian Centre for Ancient DNA นั้นมองว่าการคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์นั้นเป็นเหมือนเทพนิยายแห่งวงการวิทยาศาสตร์ โดยเขากล่าวว่า

มันเป็นเหมือนการเรียกความสนใจจากสื่อ มากกว่าที่จะเป็นงานทางวิทยาศาสตร์จริงจัง

ตอนนี้เราคงได้แต่รอติดตามข่าวว่าโครงการคืนชีพให้เสือแทสมาเนียนั้นจะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ หากมันเกิดขึ้นจริง วันหนึ่งเราอาจจะมีโอกาสได้เห็นช้างแมมมอธตัวเป็นๆ ด้วยตาของเราเองเช่นกัน

ที่มา - Ars Technica, BBC, CNN

Blognone Jobs Premium