นักวิจัยเริ่มทดลองใช้หนังหมูมาทำกระจกตาเทียมปลูกถ่ายให้คนกลับมามองเห็นได้

by ตะโร่งโต้ง
20 August 2022 - 21:09

นักวิจัยสร้างกระจกตาเทียมด้วยคอลลาเจนจากหนังหมู นำมาทดลองปลูกถ่ายให้อาสาสมัคร 20 ราย ทำให้ผู้รับการปลูกถ่ายได้การมองเห็นกลับคืนมา

งานวิจัยนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกทีมวิจัยจากหลายสถาบันใน 3 ประเทศ อันได้แก่สวีเดน, อิหร่าน และอินเดีย โดยมีการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเทียมแล้วเฝ้าติดตามผลหลังการผ่าตัดนาน 2 ปี ก่อนมีการสรุปผลวิจัย

ที่มาของงานวิจัยนี้มาจากสาเหตุที่ว่าผู้ป่วยซึ่งต้องการรับการปลูกถ่ายกระจกตานั้นมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก แต่กระจกตาที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ได้นั้นมีจำนวนจำกัดเพราะต้องรอให้มีผู้บริจาคเท่านั้น โดยที่ผ่านมามีผู้สูญเสียการมองเห็นจากปัญหากระจกตาแค่ราว 1 ใน 70 คนเท่านั้นที่ได้รับโอกาสปลูกถ่ายกระจกตาใหม่ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้พยายามคิดหาทางสร้างกระจกตาเทียมจากเนื้อเยื่อชนิดอื่นทดแทนการใช้กระจกตาจากร่างกายมนุษย์

ก่อนหน้านี้เมื่อ 10 กว่าปีก่อนมีงานวิจัยพัฒนาการสร้างกระจกตาเทียมจากคอลลาเจนมาก่อนแล้ว ทว่างานวิจัยดังกล่าวยังต้องอาศัยคอลลาเจนที่ได้จากร่างกายมนุษย์มาหลอมให้เป็นทรงกระจกตาและจะต้องทำในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวยังทำให้การผลิตกระจกตาเทียมทำได้ในปริมาณที่จำกัด

แต่งานวิจัยใหม่นี้ใช้คอลลาเจนเกรดเพื่อการแพทย์ซึ่งได้มาจากหนังหมู นำมาทำขึ้นรูปเป็นกระจกตาเทียม ซึ่งไม่เพียงจะมีต้นทุนการผลิตที่ถูกและยังสามารถผลิตเป็นจำนวนมากได้ง่ายเนื่องจากหาวัตถุดิบได้ไม่ยากแล้ว กระจกตาเทียมที่ทำขึ้นมานี้ยังสามารถเก็บไว้ระหว่างรอการนำไปปลูกถ่ายได้นานถึง 2 ปี แตกต่างจากการปลูกถ่ายกระจกตาที่รับบริจาคจากร่างกายคนในปัจจุบันที่เมื่อได้กระจกตามาแล้วจะต้องปลูกถ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์เท่านั้น

กระจกตาเทียมที่สร้างจากคอลลาเจนที่ได้จากหนังหมู

นอกจากนี้จากที่แต่เดิมการปลูกถ่ายกระจกตาใหม่นั้นจะต้องทำการผ่าตัดนำเอากระจกตาเดิมที่เสียหายของผู้รับการปลูกถ่ายออกเสียก่อนจึงจะทำการปลูกถ่ายของใหม่ให้ได้ แต่เทคนิคการผ่าตัดใส่กระตาเทียมของทีมวิจัยนี้สามารถปลูกถ่ายสอดเข้าไปในกระจกตาเดิมของผู้รับการปลูกถ่ายได้เลย ซึ่งกล่าวได้ว่าการผ่าตัดมีความยุ่งยากน้อยลง น่าจะทำให้การปลูกถ่ายกระจกตาเทียมสามารถทำได้แพร่หลายมากขึ้น

ทีมวิจัยได้ทดลองนำร่องปลูกถ่ายกระจกตาเทียมที่สร้างจากคอลลาเจนของหมูนี้ให้กับอาสาสมัคร 20 ราย โดย 14 รายในกลุ่มดังกล่าวสูญเสียการมองเห็นทั้งหมดไปก่อนเข้าร่วมการทดลอง ผลปรากฎว่าทั้ง 20 คนได้รับการมองเห็นกลับคืนมาหลังได้กระจกตาเทียมโดยไม่มีผลข้างเคียงอาการแทรกซ้อนใดๆ หลังการผ่าตัดปลูกถ่าย

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเทียมแบบใหม่ของทีมวิจัยนี้ไม่จำเป็นต้องเอาเนื้อเยื่อกระจกตาเดิมของผู้รับการปลูกถ่ายออกไปทั้งหมด ทำให้แผลหลังการผ่าตัดนั้นหายเร็วขึ้น โดยทั่วไปแล้วผู้รับการปลูกถ่ายกระจกตาที่ได้รับบริจาคมาจากคนอื่นนั้นจะต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันหยอดตานานหลายปีเพื่อป้องกันการต่อต้านเนื้อเยื่อกระจกตาที่ถูกปลูกถ่ายลงไปใหม่ แต่ผู้ร่วมงานวิจัยนี้ใช้ยากดภูมิคุ้มกันแค่ 8 สัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว

ภาพถ่ายจาก 2 ใน 20 อาสาสมัครที่ร้บการปลูกถ่ายกระจกตาเทียม 4 เดือนหลังการผ่าตัด

ขั้นตอนต่อไปคือการยกระดับการทดลองวิจัยทั้งในแง่จำนวนผู้เข้าร่วมการทดลองและการตรวจสอบเชิงลึกที่เข้มข้นยิ่งขึ้นให้แน่ใจว่ากระจกตาเทียมนี้สามารถใช้งานได้จริงอย่างปลอดภัยกับร่างกายคน จึงจะสามารถต่อยอดนำไปปรับใช้จริงในวงกว้างในท้ายที่สุด

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัยการปลูกถ่ายกระจกตาเทียมที่สร้างจากหนังหมูได้ที่นี่

ที่มา - New Atlas - 1, 2

Blognone Jobs Premium