กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ประกาศแผนร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ในการพัฒนาแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยตั้งเป้าผลิตแรงงานมีทักษะให้ได้ 1 ล้านคนภายในปี 2026 ซึ่งในการนี้จะมีทั้งการเพิ่มหลักสูตรการเรียนในระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษาให้มีชั่วโมงการเรียนการสอนวิชาไอทีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า รวมทั้งกำหนดให้สถานศึกษาสอนการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ในจำนวนเป้าหมาย 1 ล้านคนนี้ ยังได้แบ่งย่อยลงไปตามระดับการศึกษาของกลุ่มแรงงาน อันได้แก่ แรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือวิทยาลัยในระดับเทียบเท่า 160,000 คน, กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี 710,000 คน และอีก 130,000 คนคือเป้าหมายของแรงงานดิจิทัลที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก
การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาให้เพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาไอทีจาก 17 ชั่วโมงเป็น 34 ชั่วโมง และในระดับมัธยมศึกษาให้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนวิชาไอทีจาก 34 ชั่วโมงเป็น 68 ชั่วโมง โดยจะดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายในปี 2025 โดยจะมีทั้งการสอนเรื่องการคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) และการเขียนโปรแกรมรวมทั้งภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆ
ส่วนโรงเรียนวิทยาศาสตร์หรือห้องเรียนพิเศษสำหรับกลุ่มนักเรียนที่มีความฉลาดโดดเด่น ก็จะมีการจัดหลักสูตรพิเศษด้านซอฟต์แวร์และปัญญาประดิษฐ์ให้ได้เรียนกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
พร้อมกันนี้ทางกระทรวงยังเตรียมยกเลิกข้อกำหนดที่เคยบังคับใช้กับสถานศึกษาต่างๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการควบคุมการเปิดแผนกหรือคณะที่จัดการสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลมิให้มีจำนวนมากเกินไป การยกเลิกข้อกำหนดนี้จะทำให้สถาบันสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศสามารถเปิดแผนกและคณะทำการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการยกเลิกข้อข้อกำหนดเรื่องจำนวนสูงสุดของผู้เรียนต่อคณะ ทำให้สถานศึกษาเดิมที่มีการเรียนการสอนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลอยู่ก่อนแล้วสามารถรับผู้เรียนเพิ่มขึ้นได้อีก เพียงแค่ยังคงต้องรักษาคุณภาพการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวง
และเริ่มตั้งแต่ปีหน้าจะมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างการเรียนรู้เชิงบูรณาการเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับสาขาวิชาชีพงานด้านอื่นๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีในแง่มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาด้านศึกษาศาสตร์ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงยังมีแผนเปิดสถาบันการศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัยโดยมุ่งเน้นศาสตร์เฉพาะด้าน ทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์, เทคโนโลยี VR, ความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเทคโนโลยีด้าน big data อีกด้วย ทั้งนี้กระทรวงมีแผนที่จะให้เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยด้านซอฟต์แวร์ครบ 100 แห่ง ภายในปี 2027
ในระยะสั้นนี้กระทรวงศึกษาธิการคาดว่าสถานศึกษาต่างๆ อาจต้องใช้วิธีการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาให้คำแนะนำและทำการสอนไปก่อนเป็นการชั่วคราว แต่ในระยะยาวจะมีการศึกษาเรื่องความต้องการครูเฉพาะทางเพื่อพัฒนาบุคคลากรครูให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานศึกษาด้วย
การประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เป็นการตั้งนโยบายขยายวงมาจากเป้าหมายพัฒนาแรงงานฝีมือสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ให้ได้ 150,000 คนในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการนี้มองภาพรวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลว่าต้องการแรงงานประเภทต่างๆ ไม่น้อยกว่า 738,000 คนในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมองว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมธุรกิจกลุ่มอื่นก็อาจเพิ่มความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มตามขึ้นไปยิ่งกว่านั้นได้อีก
สำหรับประเทศไทยเรานั้น กระทรวงการศึกษาก็ได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นในการทำงานประจำปีนี้ออกมาเช่นกัน โดยมีเรื่อง "การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์" แตกย่อยออกเป็นนโยบาย 13 ข้อซึ่งรวมถึงการพัฒนาวงการไอที ดังที่ได้ประกาศไว้ดังนี้
ICT (Information and Communication Technologies) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วย 7 เรื่องย่อย ได้แก่ (1) Data Center ศูนย์ข้อมูลกลาง (2) Big Data ข้อมูลขนาดใหญ่ (คลังข้อมูล การนำข้อมูลมารวมกัน) (3) Platform (e-library e-learning และ Teaching Resource Platform) (4) e-book (5) e-office e-mail และ document (6) ระบบบริหารจัดการห้องเรียน School และ Classroom Management และ (7) โครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure (Internet)
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการของไทยก็จะให้ความสำคัญในการเดินหน้าตามนโยบายที่ได้วางเอาไว้ให้บรรลุผลสำเร็จจริง
ที่มา - The Korea Herald, Yonhap