ความจริงเกี่ยวกับ 64 บิตของ Snow Leopard

by Zerothman
4 September 2009 - 14:46

ผมได้ไปเจอบทความซีรีส์นึงในเว็บ AppleInsider ซึ่งพูดถึงรายละเอียดต่างๆ ของ Snow Leopard ซึ่งในเวลาที่ผมพิมพ์นี้ได้ออกมาแล้ว 3 ตอนคือ Quicktime X, 64-bit และ GPU Optimization

อันนี้ผมได้แปลและสรุปความในส่วนของ 64 บิตมาให้อ่านกันครับ เพราะเนื่องจากคิดว่าหลายๆ คนคงอยากรู้ บวกกับอาจจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนอาจจะเคยเข้าใจผิด (ผมล่ะคนหนึ่ง) ว่า Snow Leopard เป็น 64 บิตโดยสมบูรณ์ แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่ใช่ซะทีเดียว

ขอระบุก่อนด้วยนะครับว่า เนื่องจากเรียบเรียงจากต้นฉบับที่ AppleInsider ที่ปกติทางผู้เขียนอาจจะโอนเอียงไปทางแอปเปิลอยู่แล้ว ดังนั้นบทความที่แปลก็อาจจะยังมีความลำเอียงอยู่ รวมถึงมีการเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างวินโดวส์ อยากให้ใช้วิจารณญาณในการอ่านครับ

มีความเข้าใจผิดอยู่มากเกี่ยวกับเคอร์เนล 64 บิตของ Snow Leopard ถึงแม้ว่า Snow Leopard จะมีเคอร์เนลที่เป็น 64 บิตแล้วก็ตาม แต่เคอร์เนลนี้ก็ไม่สามารถทำงานในโหมด 64 บิตบนเครื่องที่ใช้ซีพียู 64 บิตอย่าง Intel Core 2 Duo ได้ทุกเครื่อง เนื่องจากจะยังมีเครื่องแม็คส่วนหนึ่ง (รุ่นก่อนหน้าปี 2008) ที่แม้ว่าจะใช้ซีพียู 64 บิตแล้ว แต่ตัว EFI ยังเป็น 32 บิตอยู่ ดังนั้นเคอร์เนลนี้จะสามารถทำงานในโหมด 64 บิตก็ต่อเมื่อเครื่องนั้นเป็นใช้ซีพียูและ EFI เป็น 64 บิตแล้วเท่านั้น

ในทางกลับกัน Windows XP และ Vista เวอร์ชัน 64 บิตกลับไม่มีปัญหา และสามารถลงบนเครื่องแม็คทุกเครื่องที่เป็นซีพียู Intel Core 2 Duo เนื่องจากวินโดวส์ยังคงใช้ BIOS อยู่ ไม่ใช่ EFI

อย่างไรก็ตาม หากพูดกันตามตรงแล้ว การใช้เคอร์เนลที่เป็น 64 บิตอาจไม่ได้ส่งประโยชน์ที่ชัดเจนถึงผู้บริโภคเท่าใดนัก เพราะข้อดีหลักๆ ของมันนอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว คือเรื่องของการใช้แรมมากกว่า 4GB ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแม็คหรือพีซีก็ไม่สามารถซื้อเครื่องที่มีแรมได้มากกว่านี้สักเท่าไหร่อยู่ดี

ตัว Snow Leopard เองก็ยังคงจะรันเคอร์เนลในโหมด 32 บิตเสมอ (แม้ว่าเครื่องจะมี EFI เป็น 64 บิตก็ตาม) เพราะว่ายังมีปัญหาในเรื่องของไดร์เวอร์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่อาจจะยังไม่สามารถทำงานในโหมด 64 บิตได้ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเดียวกันกับวินโดวส์ 64 บิต ที่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร (แต่หากผู้ใช้ต้องการ สามารถบูตเคอร์เนลในโหมด 64 บิตได้โดยกดเลข 6 และ 4 บนคีย์บอร์ดไว้ตอนเปิดเครื่อง)

แต่ถึงแม้ว่าตัวเคอร์เนลของ Snow Leopard จะรันในโหมด 32 บิต แต่ System Application ส่วนใหญ่ใน Snow Leopard ไม่ว่าจะเป็น Finder, Dock, Mail ไปจนถึง Background Process อย่าง launchd สามารถรันในโหมด 64 บิตบนซีพียู 64 บิตได้ ซึ่งต่างกับทางวินโดวส์ที่จำเป็นต้องเป็น 32 บิตหรือ 64 บิตเหมือนกันตั้งแต่ซีพียู ไดร์เวอร์ ไปจนถึงโปรแกรมข้างบนเท่านั้น

และในจุดนี้จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้โดยตรง ที่จะสามารถใช้แอปพลิเคชันที่เร็วขึ้นบนในโหมด 64 บิตได้ แม้ว่าเคอร์เนลและไดร์เวอร์จะเป็น 32 บิตก็ตาม และเนื่องจากสถาปัตยกรรม 64 บิตของ PowerPC กลับทำให้แอปพลิเคชันช้ากว่าเดิมจาก overhead ที่เป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยี จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Snow Leopard ออกมาสำหรับซีพียู Intel เท่านั้น

ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ผู้ใช้วินโดวส์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถย้ายจากแพลตฟอร์ม 32 บิตไปยัง 64 บิตได้เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบทั้งหมดตั้งแต่ซีพียู ไดร์เวอร์ เคอร์เนล และแอปพลิเคชันไปยัง 64 บิตพร้อมๆ กัน แต่ข้อได้เปรียบของ Snow Leopard คือมาตรฐาน Universal Binary ที่เดิมออกแบบมาให้แอปพลิเคชันสามารถเก็บไบนารีของ Intel และ PowerPC ไว้ในไฟล์เดียว ในคราวนี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อเก็บไบนารีของทั้ง Intel 32-bit และ Intel 64-bit แทน ผู้พัฒนาจึงสามารถผลิตและจัดจำหน่ายซอฟท์แวร์เวอร์ชันเดียว ที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งบน 32 และ 64 บิต โดยไม่สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้ และรองรับระบบเก่าๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา

จุดนี้เองเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้แอปพลิเคชันต่างๆ บนแพลตฟอร์ม Mac OS X สามารถแห่ข้ามกันไปทางฝั่ง 64 บิตได้เร็วกว่าทางฝั่งวินโดวส์ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ที่มีไบนารี 64 บิตจะยังคงสามารถทำงานบนเครื่อง 32 บิตที่รัน Snow Leopard ได้ด้วยเพราะมีไบนารีของ 32 บิต แตกต่างกับทางวินโดวส์ที่ส่วนใหญ่แล้วเกือบทั้งหมดยังเป็น Windows XP 32 บิตที่ไม่สามารถรันแอปพลิเคชัน 64 บิตได้ในทุกกรณี

ความท้าทายที่เหลืออยู่สำหรับแอปเปิลที่จะตีนำวินโดวส์บนสงครามแพลตฟอร์ม 64 บิตจึงมีอยู่ 2 ส่วนสำคัญ

ประการแรกคือการเปลี่ยนฐานผู้ใช้เดิมให้ใช้ Snow Leopard ทั้งหมดแม้ว่าผู้ใช้เหล่านั้นจะใช้ซีพียู Intel แบบ 32 หรือ 64 บิตก็ตาม ซึ่งจะทำให้ผู้พัฒนาสามารถที่จะออกแอปพลิเคชันที่ใช้ประโยชน์จาก 64 บิตได้ และยังคงไม่เสียตลาดกลุ่ม 32 บิตเดิม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ Snow Leopard ถูกวางขายในราคาที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับวินโดวส์ และหลีกเลี่ยงการเพิ่มฟีเจอร์บน Snow Leopard ที่อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาจนทำให้ผู้ใช้ไม่อยากเปลี่ยนมาใช้ (แบบกรณี Vista)

ประการต่อมาคือการผลักดันผู้ผลิตต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชันอื่นๆ ของตัวเองเช่น iWork, iLife, iTunes ไปจนถึง Final Cut หรือ Logic ให้มาทำงานและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม 64 บิตให้หมด ซึ่งจะส่งผลดีโดยรวมต่อประสบการณ์ผู้ใช้แม็คที่ได้ใช้แอปพลิเคชันที่มีประสิทธิภาพกว่าบนฮาร์ดแวร์ที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับวินโดวส์พีซี

นอกจากนี้แล้ว เวลานี้ยังถือว่าเป็นจังหวะที่เสียเปรียบของทางฝั่งวินโดวส์ เนื่องจากกำลังมีการขยายตัวของตลาดเน็ตบุ๊กอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะดึงให้วินโดวส์และผู้พัฒนาแอปพลิเคชันวินโดวส์ยังต้องอยู่กับแพลตฟอร์ม 32 บิตของซีพียูราคาถูกนานขึ้นอีก

เรียบเรียงจาก - AppleInsider

Blognone Jobs Premium