หนึ่งในมุกที่เรามักจะนึกถึงเวลาเห็นภาพยนตร์เกี่ยวกับหายนะที่จะมีอุกกาบาตขนาดยักษ์ตกลงมาที่โลกคือการส่งอะไรสักอย่างพุ่งเข้าชนมันเพื่อให้มันเบี่ยงวิถีการเคลื่อนที่ไม่พุ่งตรงมาชนโลก ซึ่งที่ว่ามานี้คือไอเดียของโครงการ Double Asteroid Redirection Test (DART) เทคโนโลยีปกป้องโลกที่ NASA กำลังจะทดสอบจริงเดือนหน้า
ยาน DART มีน้ำหนัก 610 กิโลกรัม ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์เพื่อการนำทางสำหรับเคลื่อนที่พุ่งเข้าชนเป้าหมาย พร้อมกล้องถ่ายภาพเพื่อช่วยในการสังเกตการณ์และการนำทาง มันมีแผงโซลาร์เซลล์ที่เมื่อกางออกเต็มที่จะมีความยาว 8.5 เมตรทำหน้าที่สร้างพลังงานไฟฟ้าเลี้ยงระบบต่างๆ
จุดประสงค์ของภารกิจทดสอบยาน DART นี้ก็ตรงไปตรงมา คือเพื่อทดสอบดูว่าแนวคิดการส่งยานเข้าชนวัตถุในอวกาศเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวการเคลื่อนที่ของมันสามารถทำได้จริงหรือไม่? ถ้าวันหนึ่งมีการค้นพบเทหวัตถุที่มุ่งหน้าเข้ามาหาโลก จะสามารถใช้ระบบนี้เพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยได้จริงหรือไม่?
สำหรับภารกิจการทดสอบนี้ตัวยาน DART ถูกวางแผนให้เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 24,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อ Dimorphos ซึ่งกำลังโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่มีชื่อว่า Didymos ทั้งนี้ดาวเคราะห์น้อยทั้งคู่แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ในแนววิถีที่จะพุ่งเข้าชนหรือเข้าใกล้โลกแต่อย่างใด
ในระหว่างการชนจะมีการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ศูนย์สังเกตการณ์บนโลก ควบคู่ไปกับสัญญาณจากยานสังเกตการณ์อีกลำหนึ่งที่มีชื่อว่า LICIACube ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปพร้อมกัน ทั้งนี้ยาน LICIACube จะแยกตัวออกจากยาน DART ก่อนถึงกำหนดการชนและคอยทำหน้าที่เก็บข้อมูลการทดสอบ โดยยานทั้ง 2 ลำถูกส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมกันด้วยจรวด Falcon 9 ของ SpaceX เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2021
สิ่งที่ NASA คาดหวังจะเห็นจากการทดสอบนี้ก็คือยาน DART ขนาด 610 กิโลกรัม จะพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ที่มีน้ำหนักมากถึง 4.8 พันล้านกิโลกรัม (มากกว่า 7.8 ล้านเท่าของน้ำหนักยาน) และทำให้ดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เมตร ดวงนี้เคลื่อนที่เบี่ยงวงโคจรต่างไปจากเดิมได้สำเร็จ
สำหรับใครที่สนใจโปรดรอติดตามชมการทดสอบ DART พร้อมกันได้แบบสดๆ ในวันที่ 26 กันยายน เริ่มถ่ายทอดสดเวลา 18.00 น. (ตรงกับเวลา 5.00 น. ของวันที่ 27 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย) และจากการคำนวณนาทีการชนของยาน DART กับดาวเคราะห์น้อย Dimorphos จะเกิดขึ้นในนาทีที่ 74 ของการถ่ายทอดสด สามารถรับชมได้ผ่านทาง เว็บไซต์, Twitter, Facebook และช่อง YouTube ของ NASA
ที่มา - NASA ผ่าน Interesting Engineering