เยอรมนีเปิดตัวรถไฟที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงล้วนๆ วิ่งให้บริการเป็นที่แรกของโลก โดยวิ่งให้บริการเป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร เชื่อมต่อเมือง Cuxhaven, Bremerhaven, Bremervoerde และ Buxtehude ซึ่งอยู่ในเขต Lower Saxony ทางตอนเหนือของเยอรมนี
รถไฟพลังไฮโดรเจนนี้มีชื่อรุ่นว่า Coradia iLint เป็นผลงานของ Alstom บริษัทผู้ผลิตสัญชาติฝรั่งเศส สามารถวิ่งได้ 1,000 กิโลเมตรต่อเชื้อเพลิง 1 ถัง ทำความเร็วได้สูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามในการวิ่งให้บริการจริงจะใช้ความเร็ว 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
เยอรมนีได้นำรถ Coradia iLint มาทดลองวิ่งในเส้นทางนี้ตั้งแต่ปี 2018 แต่ในช่วงนั้นยังเป็นการทดลองใช้งานร่วมกับรถไฟดีเซล ทว่าตอนนี้จำนวนรถไฟดีเซลทั้งหมด 15 คัน จะถูกแทนที่ด้วยรถไฟเซลล์เชื้อเพลิง 14 คัน ซึ่งมีมูลค่ารวม 93 ล้านยูโร ทั้งนี้การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม สามารถทำให้รถวิ่งได้เทียบเท่ากับการใช้เชื้อเพลิงดีเซล 4.5 กิโลกรัม และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 8 ตันต่อปี
สำหรับระบบจัดการเชื้อเพลิงนั้นถูกรับผิดชอบโดยบริษัท Linde ซึ่งได้ทำการติดตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มีถังทนความดันสูงสำหรับบรรจุเชื้อเพลิง 64 ถัง, เครื่องอัดก๊าซไฮโดรเจนอีก 6 ตัว และปั๊มเชื้อเพลิง 2 ตัวไว้คอยเติมเชื้อเพลิงให้กับรถ Coradia iLint
ตอนนี้เยอรมนีได้สั่งจองรถ Coradia iLint เพิ่มเติมอีก 27 คันสำหรับใช้งานที่ Frankfurt ในขณะที่อิตาลีก็สั่งจองรถไฟเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนี้ไปแล้ว 6 คัน ส่วนฝรั่งเศสเองได้สั่งจองไว้เพื่อใช้งานในประเทศ 12 คัน นอกจากนี้ Alstom ยังได้ส่งมอบรถไปทำการวิ่งทดสอบในประเทศออสเตรีย, โปแลนด์, สวีเดน และเนเธอแลนด์แล้ว
ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในยุโรปยังคงมีรถไฟดีเซลใช้งานอยู่ราวครึ่งหนึ่งของรถไฟทั้งหมด ซึ่งอีกครึ่งเป็นระบบไฟฟ้า ด้วยเหตุที่ว่าประเทศต่างๆ ไม่สามารถเปลี่ยนระบบขนส่งทางรางทั้งหมดให้เป็นไฟฟ้าได้ สาเหตุแรกเนื่องจากข้อจำกัดด้านการก่อสร้างในบางเส้นทางที่มีอุโมงค์หรือสะพานจนทำให้การติดตั้งระบบไฟฟ้าไม่อาจทำได้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องความคุ้มค่าในการใช้งาน ในบางเส้นทางที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่หนาแน่นมากนักก็มีผลให้การลงทุนระบบไฟฟ้าไม่คุ้มค่า ซึ่งเชื่อว่าระบบขนส่งทางรางที่ยังไม่เป็นระบบไฟฟ้านี้จะทยอยเปลี่ยนการใช้งานรถไฟดีเซลมาเป็นรถไฟเซลล์เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้