POWER7 พลังประมวลผลที่มากกว่า แต่ชิปขนาดเล็กลง

by lew
5 September 2009 - 16:50

นับแต่แอปเปิลย้ายมาใช้งานชิป x86 ช่วงปี 2005-2006 ที่มีแฟนๆ รับไม่ได้กัน (1,2)มากมายนั้น ชิปในตระกูล POWER ก็แทบจะหายไปจากวงการพีซีที่เราจับๆ กันทุกวันไปตลอดกาล แต่ไปปรากฏร่างในฐานะชิป Cell ที่เครื่องคอนโซลทุกเครื่องในตอนนี้ใช้งานกันอยู่

แม้ตัว Cell จะเป็นชิปที่ใช้ชุดคำสั่ง POWER เป็นฐาน แต่สถาปัตยกรรมอื่นๆ นั้นก็มีความต่างออกไป เพราะไอบีเอ็มเองมีการดัดแปลงชิปให้เข้ากับความต้องการของลูกค้ากระเป๋าหนักเสมอๆ และ POWER7 นั้นเป็นชิปในตระกูลเซิร์ฟเวอร์ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก DARPA (เจ้าเดียวกับที่ออกเงินวิจัยอินเทอร์เน็ตยุคแรก) เพื่อสร้างเครื่อง Blue Water และในที่สุดก็มีการเปิดตัวไปในงาน Hot Chip ที่ผ่านมา

ชิป POWER7 นั้นเปิดตัวมาหลังจากไอบีเอ็มได้เงินในโครงการนี้ไป 244 ล้านดอลลาร์นับแต่ปี 2006 เพื่อสร้างเครื่องในปี 2010 งานนี้ไอบีเอ็มก็มีอาวุธมาเต็มกระเป๋านับแต่กระบวนการผลิต ไปจนเทคโนโลยีการออกแบบ โดยความสามารถสำคัญของ POWER7 ก็มีเช่น

  • 8 คอร์ แต่ละคอร์รับ 4 เธรด จากเทคโนโลยี SMT++
  • ระบบส่งข้อมูลระหว่างซีพียู ยังไม่เปิดเผย แต่อ้างว่ารองรับได้ 32 ชิป
  • แคชขนาด 32 เมกกะไบต์ (เครื่องแรกที่ผมใช้มี HDD 10 เมก)
  • ประเด็นสำคัญที่สุดคือจำนวนทรานซิสเตอร์เพียง 1.2 พันล้านตัว

ถ้าเราตามตัวเลขจำนวนทรานซิสเตอร์ในซีพียูกันมาบ้าง คงจะเห็นว่าจำนวนทรานซิสเตอร์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างหนักในช่วงหลังๆ เนื่องจากการจากที่การปั๊มความถี่ของสัญญาณนาฬิกาไม่สามารถใช้เพิ่มความเร็วคอมพิวเตอร์ได้อีกต่อไป ทำให้ขนาดชิปใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และต้นทุนสูงขึ้น

พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนมากกลับไปอยู่กับขนาดแคชที่ใช้ทรานซิสเตอร์ 6 ตัวต่อบิต แต่ใน POWER7 นั้นจะมีการใช้เทคโนโลยี eDRAM ที่ใช้เทคโนโลยี DRAM แบบเดียวกับโมดูลแรมราคาถูกๆ ที่ใช้ซื้อมาเสียบเครื่องกัน เพราะใช้ทรานซิสเตอร์เพียงตัวเดียวต่อแรม 1 บิต โดยปรกติแล้ว DRAM นั้นจะมีปัญหา latency ทำให้การทำงานช้ากว่า static RAM อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ผลิตชิปเช่นอินเทลหรือเอเอ็มดีนั้นต่างใช้ static RAM ในแคชที่ต้องการความเร็วสูงสุด

ชิป POWER7 นั้นจะถูกผลิตด้วยเทคโนโลยี 45 นาโนเมตร ขณะที่อินเทลนั้นเริ่มสายการผลิตในเทคโนโลยี 32 นาโนเมตรซึ่งทำให้พื้นที่ของชิปเล็กลงและต้นทุนต่ำลง แต่ด้วยจำนวนทรานซิสเตอร์ในชิป Nehalem-EX ที่มากถึง 2.2 พันล้านตัวนั้น ก็ยังนับว่า POWER7 มีความได้เปรียบอยู่ เพื่อพิจารณาขนาดชิปรวม

โดยปรกติเราๆ ท่านๆ นั้นคงไม่ได้จับชิป POWER กันอยู่นัก ถ้าจะมีบ้างคงเป็นสายธนาคารที่อาจจะซื้อ System-p หรือ System-i ของไอบีเอ็มมาใช้งาน แต่เทคโนโลยีหลายๆ ตัวของไอบีเอ็มนั้นก็มาอยู่ในสายการผลิตของเอเอ็มดีบ่อยครั้ง เช่น SOI หรือ Silicon-on-Insulator สำหรับครั้งนี้ ถ้าเอเอ็มดีซื้อเทคโนโลยี eDRAM ไปใช้ได้ เราก็อาจจะเห็นเอเอ็มดีขจัดจุดอ่อนที่แคชมีขนาดเล็กกว่าอินเทลเสมอๆ ไปได้เสียที

ที่มา - ArsTechnica

Blognone Jobs Premium