รีวิว Windows 7 ตัวจริง: ตอนที่ 1

by mk
10 September 2009 - 08:24

เมื่อต้นปี Blognone ได้รีวีว Windows 7 Beta ไปแล้ว (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2) เมื่อเวลาผ่านมาอีกเกือบปี Windows 7 ก็เสร็จสมบูรณ์ และพร้อมสำหรับวันวางจำหน่ายจริง 22 ตุลาคม 2009 คราวนี้ถึงเวลามาดูกันอีกรอบว่า ระบบปฏิบัติการที่หลายๆ คนรอคอย และไมโครซอฟท์เองก็ฝากความหวังไว้อย่างเต็มที่ว่าจะมากู้หน้าของ Vista ได้นั้นใช้ดีแค่ไหน เป็นอย่างไร

คำชี้แจงก่อนเข้าสู่รีวิว

  • งานนี้ผมได้รับ Windows 7 RTM พร้อมคีย์จากบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย โดยการติดต่อเข้าไปจากผมเอง (บอกไมโครซอฟท์ว่า Blognone อยากรีวิว ไม่ใช่ไมโครซอฟท์มาบอก Blognone ให้รีวิว) ส่วนคีย์นั้นได้จากการเข้าร่วมทดสอบ Windows 7 รุ่นภาษาไทยไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีหลายๆ คนแถวนี้ได้เช่นกัน ไม่ใช่ผมคนเดียว
  • ผมไม่เคยใช้ Windows Vista อย่างจริงจังมาก่อน ถ้าเปรียบเทียบ 7 กับ Vista แล้วข้อมูลผิดพลาดไป ก็ช่วยแก้ไขด้วยนะครับ
  • IE8 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Windows 7 ถูกรีวิวไปแล้ว ในรีวิวนี้จะไม่พูดถึง ใครสนใจอ่านได้จาก รีวิว Internet Explorer 8 และผมจะพยายามเลี่ยงประเด็นที่เคยเขียนไว้ละเอียดแล้วตอนรีวิว Windows 7 Beta จะได้ไม่ซ้ำซาก

กว่าจะมาเป็น Windows 7

ต้นตอของ Windows 7 ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนไมโครซอฟท์จะออก Windows XP ในปี 2000 โดยไมโครซอฟท์ได้วางแผนจะออกวินโดวส์รหัส "Blackcomb" ชื่อนี้ตั้งให้เข้าชุดกับรหัสของ XP ว่า "Whistler" ทั้งสองชื่อเป็นภูเขาสำหรับเล่นสกีที่อยู่ติดกันในประเทศแคนาดา ใกล้สำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ ในภายหลังไมโครซอฟท์ปรับกระบวนท่าใหม่ ออกวินโดวส์มาคั่นกลางอีกรุ่น โดยใช้รหัสว่า "Longhorn" (เป็นร้านอาหารที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทางขึ้นภูเขาสองลูก) ซึ่ง Longhorn กลายมาเป็น Windows Vista นั่นเอง

ส่วน Blackcomb ถูกจับเปลี่ยนชื่อรหัสเป็น "Vienna" (ข่าวเก่า) ก่อนที่จะกลายมาเป็น "Windows 7" (ข่าวเก่า) ก่อนที่สุดท้ายจะตัดสินว่าชื่อจริงๆ สำหรับทำตลาดก็ใช้ Windows 7 เหมือนกับโค้ดเนมนั่นล่ะ (ข่าวเก่า) ประเด็นว่านับกันยังไงออกมาเป็นเลข 7 อ่านได้จาก ไมโครซอฟท์ตอบคำถามเรื่องชื่อ Windows 7

ไมโครซอฟท์เริ่มพัฒนา Windows 7 ทันทีที่ Vista วางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2006 และออกรุ่นทดสอบตัวแรก M1 ได้หลังจากนั้นหนึ่งปีนิดๆ คือเดือนมกราคม 2008 ส่วนรุ่นเบต้าที่เปิดให้สาธารณชนทดสอบก็ใช้เวลาหลังจากนั้นอีก 1 ปีคือเดือนมกราคม 2009 ถ้ารวมเวลาทั้งหมดจาก Vista ถึง 7 ตัวจริงก็เกือบ 3 ปีเต็ม

Windows 7 ในฐานะ OS และแพลตฟอร์ม

ธีมใหญ่ในรีวิว Windows 7 ชุดนี้ที่ผมจะเขียนถึงซ้ำแล้วซ้ำอีกในตอนต่อๆ ไป คือ ผมอยากให้มองว่า Windows 7 เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มวินโดวส์ยุคใหม่ ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการเดี่ยวๆ ที่ไม่ขึ้นกับใคร แพลตฟอร์มนี้ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ เราอาจจะเรียกมันว่าเป็น post-NT/XP หรือจะเป็นแพลตฟอร์ม Vista ก็ได้

ในประวัติศาสตร์ของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ มีสิ่งที่ผมเรียกว่า "แพลตฟอร์ม" เกิดขึ้นแล้ว 4 รุ่น (ชื่อแพลตฟอร์มผมเป็นคนตั้งเองครับ อย่าเอาไปใช้อ้างอิงตอนสอบ)

  • แพลตฟอร์มวินโดวส์ 16 บิทที่ต้องทำงานบน DOS ได้แก่ Windows 1.0-3.0
  • แพลตฟอร์มวินโดวส์ 32 บิทที่เป็นระบบปฏิบัติการ ได้แก่ Windows 95, 98, 98SE, ME
  • แพลตฟอร์ม NT ได้แก่ Windows NT, 2000, XP, 2003
  • แพลตฟอร์ม Vista ได้แก่ Windows Vista, 2008 และล่าสุด Windows 7

ภาพจาก Wikipedia

ไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จอย่างมากกับแพลตฟอร์มวินโดวส์ 32 บิท (ใครยังจำงานเปิดตัว Windows 95 ได้บ้าง?) ตัวชี้วัดที่ชัดเจนมากคือ Win32 API ที่ยังใช้กันมาจนปัจจุบัน (เกือบ 15 ปีแล้วนะ) ความสำเร็จของแพลตฟอร์ม 32 บิทส่งผลให้ไมโครซอฟท์ครอบครองตลาดระบบปฏิบัติการโลกได้เบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังปิดฉากระบบปฏิบัติการคู่แข่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น BeOS, OS/2, NeXT, NetWare หรือ Mac OS

แม้ว่าตัวแพลตฟอร์มวินโดวส์ 32 บิทเองจะไม่สมบูรณ์ มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ความปลอดภัย ไวรัส จอฟ้า ฯลฯ เท่าที่เรารู้จักกันดี แต่ไมโครซอฟท์ก็มองเกมขาด แยกไปทำแพลตฟอร์ม NT ดักรอไว้ พัฒนาขนานกันให้เทคโนโลยีของ NT นั้นเข้มแข็ง ก่อนจะมาส่งไม้ต่อกันที่ Windows XP

ความสำเร็จของ XP แทบไม่ต้องพูดถึง ปัจจุบันระบบปฏิบัติการอายุ 8 ปีกว่าตัวนี้ยังเป็นระบบปฏิบัติการที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป แพลตฟอร์ม NT ก็เริ่มเก่าและมีจุดอ่อน อีกทั้งโดนคู่แข่งอย่าง Mac OS X ที่ใช้แพลตฟอร์มใหม่กว่าเข้าตีด้วยฟีเจอร์ที่แพลตฟอร์ม NT ไม่มี ดังนั้นก็ได้เวลาที่ไมโครซอฟท์ต้องสร้างแพลตฟอร์มรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

แพลตฟอร์ม Vista ใช้เวลาพัฒนาถึง 5 ปี ยกเครื่องส่วนประกอบต่างๆ ของวินโดวส์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบกราฟฟิก ไลบรารี (เช่น .NET) ระบบความปลอดภัย (เช่น UAC) ไปจนกระทั่งส่วนติดต่อผู้ใช้ (เช่น Aero) แนวคิดของแพลตฟอร์ม Vista นั้นดีมาก ทันสมัย และช่วยให้ไมโครซอฟท์ต่อสู้ในตลาดระบบปฏิบัติการได้อีกนาน น่าเสียดายว่าระบบปฏิบัติการตัวแรกในแพลตฟอร์มใหม่คือ Windows Vista กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ไมโครซอฟท์กลับมาคราวนี้กับ Windows 7 ซึ่งเสียงตอบรับในช่วงแรกๆ ออกมาดีพอสมควร ถึงแม้ว่าในระดับระบบปฏิบัติการแล้วมันจะเป็นรุ่นใหญ่รุ่นใหม่ แต่ในระดับแพลตฟอร์มแล้ว มันก็ยังอยู่บนแพลตฟอร์ม Vista อันเดิม (มีการเปลี่ยนแปลงเชิงฐานรากน้อยมาก) และอาจจะมองว่าเป็นแพลตฟอร์ม Vista ที่ปรับแต่งจนเข้าที่แล้วก็ได้ (ทำนองเดียวกับ 95 และ 98)

ดังนั้นถ้าพูดถึง Windows 7 ผมอยากให้มองกันยาวๆ แทนที่จะเจาะลงไปที่ 7 เพียงตัวเดียวครับ มองว่าพัฒนาการของแพลตฟอร์ม Vista ที่ข้ามมาจากแพลตฟอร์ม NT มีอะไรบ้าง และหมากต่างๆ ที่ไมโครซอฟท์เตรียมเอาไว้ใช้ มันจะออกดอกออกผลอย่างไรใน Windows 8, 9, 10 ฯลฯ ที่จะตามมาอีกในอนาคตด้วย แล้วจะเข้าใจมากขึ้นว่าที่มาที่ไปของฟีเจอร์ต่างๆ ใน Windows 7 มันมาอย่างไร

Editions

ขยับเข้ามาที่ระดับของระบบปฏิบัติการครับ Windows 7 ดำเนินรอยตามทิศทาง (ที่ไม่น่าตามเท่าไรเพราะมันสับสน) ของ Vista นั่นคือมีรุ่นย่อยหรือ editions ให้เลือกเป็นจำนวนมาก ถ้านับรุ่นทั้งหมดก็ได้ 6 รุ่นเท่ากับ Vista ความแตกต่างของแต่ละรุ่นย่อยมีทั้งในแง่ฟีเจอร์ และในแง่การตลาดและช่องทางจำหน่าย

Editions ทั้งหมดของ Windows 7

  • Windows 7 Starter - สำหรับเน็ตบุ๊กเท่านั้น แถมมากับเครื่องเท่านั้น
  • Windows 7 Home Basic - สำหรับประเทศกำลังพัฒนา แถมมากับเครื่องเท่านั้น (เทียบได้กับ Vista Starter)
  • Windows 7 Home Premium
  • Windows 7 Professional - เทียบได้กับ Vista Business แค่เปลี่ยนชื่อ
  • Windows 7 Enterprise - ขายเฉพาะ volume licensing ในตลาดองค์กร ไม่มีขายปลีก
  • Windows 7 Ultimate - รุ่นท็อปสุด
Note:
สิ่งที่ต่างออกไปจาก editions ของ Vista มีดังนี้

  • 7 Starter มีไว้สำหรับเน็ตบุ๊กเท่านั้น ในขณะที่ Vista Starter ไว้สำหรับตลาดประเทศกำลังพัฒนา (รวมไทย)
  • Home Basic เอามาจับตลาดเดียวกับ Vista Starter คือประเทศกำลังพัฒนา (รวมไทย)
  • Professional เทียบได้กับ Vista Business แค่เปลี่ยนชื่อ
  • Ultimate ไม่มีฟีเจอร์เพิ่มเข้ามาจาก 7 Enterprise (ต่างจาก Vista ที่ Vista Ultimate เป็น superset ของ Vista Enterprise) ดังนั้นความแตกต่างมีแค่ว่าขายปลีกหรือขายผ่าน volume licensing เท่านั้น

เพื่อไม่ให้งงมากไปกว่านี้ ดูตารางเปรียบเทียบจะเข้าใจง่ายกว่าครับ ผมคัดมาเฉพาะส่วนสำคัญๆ ที่ต่างไปในแต่ละรุ่นย่อยเท่านั้น (หมายเหตุ: ราคาเป็นราคาขายปลีกในสหรัฐ/ราคาอัพเกรดในสหรัฐ)

โดยสรุปแล้ว รุ่นย่อยที่คนทั่วไปจะพบเจอมีเพียง 3 รุ่นเท่านั้น คือ Home Premium, Professional และ Ultimate

ความเห็นของผมคือ Home Premium นั้นพอเพียงสำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว ถ้าจำเป็นต้องใช้ Windows XP Mode สำหรับโปรแกรมบางตัวค่อยเขยิบไปใช้ Professional ส่วน Ultimate นี่มีคนต้องใช้ BitLocker กับส่วนติดต่อผู้ใช้หลายๆ ภาษาด้วยเหรอ?

ถ้าเป็นลูกค้าในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ซื้อรุ่นย่อยมาแล้วสามารถเปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ใหญ่ขึ้นได้ผ่าน Windows Anytime Upgrade แต่ว่าไม่มีในประเทศไทย ส่วนราคาขายปลีกในประเทศไทย ผมกำลังสอบถามจากทางไมโครซอฟท์ เดี๋ยวได้ข้อมูลแล้วจะมาอัพเดตในรีวิวให้ในอนาคต

รีวิวนี้ทดสอบบน Windows 7 Ultimate แต่หลักๆ แล้วจะทดสอบแค่ฟีเจอร์ที่มีอยู่ใน Home Premium เท่านั้น ยกเว้นส่วนติดต่อผู้ใช้ภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับคนไทยโดยตรง (มีเฉพาะใน Ultimate)

ตารางเปรียบเทียบรุ่นของ Windows 7 ของเว็บไซต์อื่นๆ

การติดตั้ง

การติดตั้ง Windows 7 เลือกได้ 2 แบบ คือ อัพเกรด และติดตั้งใหม่แบบ clean install

ในกรณีที่อัพเกรด (ข้อมูลเดิมยังอยู่ ลงทับได้) ทำได้ต่อเมื่อระบบปฏิบัติการเดิมเป็น Windows Vista เท่านั้น แถมต้องเลือก edition ให้ถูกด้วย โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าการเปลี่ยนรุ่นระบบปฏิบัติการใหญ่แบบนี้ควรใช้วิธี clean install มากกว่า (ภาษาบ้านๆ คือฟอร์แมตแล้วลงใหม่) แล้วค่อยๆ ปรับแต่ง ติดตั้งโปรแกรมใหม่จากศูนย์เพื่อให้ไม่มั่วครับ

ผมคงไม่ต้องเขียนถึงขั้นตอนการติดตั้งอย่างละเอียดนัก ขั้นตอนก็เหมือนการติดตั้งวินโดวส์รุ่นอื่นๆ บูตจากแผ่น DVD แล้วตอบคำถามเล็กน้อย เลือกพาร์ทิชันแล้วก็รอเท่านั้น ผมติดตั้ง Windows 7 แบบ clean ใช้เวลารวมประมาณ 20 นาที ต้องบูตใหม่ 2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจะมีหน้าจอ First Run ให้เราตั้งค่าที่จำเป็น เช่น ตั้งรหัสผ่าน เปิดอัพเดตอัตโนมัติ และที่น่าสนใจคือมีหน้าจอเลือกเครือข่าย Wi-Fi (หรือ LAN ถ้าเป็นพีซีตั้งโต๊ะ) ให้ตั้งแต่หน้าจอ First Run เลย

เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะเจอกับหน้าจอหลักของ Windows 7

ตอนแรกยังไปได้ไม่ถึงไหนเลย ไว้ตอนหน้าจะเริ่มรีวิวตัว Windows 7 จริงๆ สักทีครับ

บทความทั้งหมดในชุด

Blognone Jobs Premium