สถานะการเป็นแหล่งผลิตสมาร์ทโฟนโลกของจีนสั่นคลอน หลังโควิดและตลาดสมาร์ทโฟนซบเซา

by Augustine
4 October 2022 - 09:01

อย่างที่ทราบกันว่าจีนเป็นซัพพลายเชนสำหรับผลิตสมาร์ทโฟนใหญ่ของโลก โดยสมาร์ทโฟน 2 ใน 3 ส่วนทั่วโลกผลิตในจีน อย่างไรก็ตาม สถานะการเป็นแหล่งผลิตสมาร์ทโฟนของจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องจากนโยบาย Zero Covid ของรัฐบาลและตลาดสมาร์ทโฟนซบเซาลง

แหล่งข่าวของ South China Morning Post เผยว่าโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนในจีนได้รับคำสั่งซื้อที่ไม่ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดจากบริษัมสมาร์ทโฟนทั้งการลดการสั่งผลิตสมาร์ทโฟนหรือแม้แต่การยกเลิกการผลิต

สาเหตุหลักที่ทำให้การเป็นแหล่งผลิตสมาร์ทโฟนของจีนสั่นคลอนมาจากที่ผู้บริโภคชะลอการซื้อสมาร์ทโฟนจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้บริษัทสมาร์ทโฟนยกเลิกคำสั่งผลิตมายังโรงงานผลิตในจีน

สถาบันสารสนเทศและการสื่อสารของจีนเผยว่า การจัดส่งสมาร์ทโฟนภายในจีนลดลง 23% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบเท่ากับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมทั้งบริษัทวิจัย Counterpoint Research ก็คาดการณ์ว่ายอดส่งสมาร์ทโฟนจะอยู่ที่ 1.36 ล้านเครื่องในปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 1.39 ล้านเครื่องเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ TSMC ก็ได้เตือนว่าการผลิตสมาร์ทโฟนจะลดลงเนื่องจากมาตรการ Zero-Covid ของนครเซี่ยงไฮ้ที่ทำให้การผลิตสมาร์ทโฟนหรือชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนชะงักลง TSMC ยังเตือนว่าบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอาจลดการจัดส่งสมาร์ทโฟนลงถึง 200 ล้านเครื่องในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

มาตรการ Zero-Covid ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งทำให้บริษัทเทคโนโลยี โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนเริ่มมองหาทางเลือกอื่น นอกจากการให้จีนผูกขาดการผลิตอยู่เจ้าเดียว เพราะการสั่งปิดเมืองทั้งเมืองจากนโยบาย Zero Covid โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้และปริมณฑล ทำให้กระบวนการซัพพลายเชนหลายส่วนต้องหยุดชะงักลงเช่น Apple ที่เริ่มผลิต iPhone 14 ที่อินเดียเร็วขึ้น หรือการผลิต iPad ส่วนหนึ่งในเวียดนาม

การผลิตสมาร์ทโฟนลดลงในจีนก็ส่งผลให้ผู้จำหน่ายชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์มือถือประสบปัญหาด้วยเช่นกัน อย่าง Sunny Optical ที่เป็นผู้ผลิตกล้องรายใหญ่ให้กับ Apple และ Xiaomi ก็ทำยอดขายได้ลดลง 9.1% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรืออย่าง BYD ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนก็มีรายได้จากการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนลดลง 4.78% ในช่วงครึ่งปี 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา: South China Morning Post

Blognone Jobs Premium