BioNTech เดินหน้าทดลองวัคซีน mRNA รักษามะเร็ง อาจใช้ได้ภายในปี 2030

by Augustine
17 October 2022 - 04:20

ศาสตราจารย์ Ugur Sahin และ Ozlem Tureci ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท BioNTech ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิดให้กับ Pfizer เผยว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่นำ mRNA มาใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งอาจจะรักษามะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ใหญ่ และเนื้องอกชนิดอื่น ๆ ได้ และน่าจะนำมาใช้กับผู้ป่วยได้ก่อนปี 2030

บริษัท BioNTech ได้เริ่มทดลองวัคซีน mRNA เพื่อรักษามะเร็งมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพราะเกิดไวรัสโควิด-19 จึงต้องหันไปผลิตวัคซีน mRNA เพื่อให้ป้องกันไวรัสโควิด-19 ก่อน วัคซีนรักษามะเร็งที่กำลังทดลองอยู่จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้โจมตีเซลล์มะเร็งเหมือนอย่างที่ใช้กับโควิด-19 ขณะที่คู่แข่งอย่าง Moderna นั้นก็มีโครงการพัฒนาวัคซีนสำหรับรักษามะเร็งที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผนทดลองเฟส 2 แล้ว

การทำงานของวัคซีนรักษามะเร็งนั้นทำงานคล้ายกับวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 โดย mRNA จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตโปรตีนที่ฝึกระบบภูมิคุ้นกันให้จับเซลล์มะเร็งแทนที่จะเป็นการจับไวรัส แต่ในกรณีของมะเร็งนั้นจะซับซ้อนกว่ามาก เพราะเซลล์มะเร็งมีรูปแบบโปรตีนที่หลากหลาย และต้องระวังว่าจะไม่สร้างวัคซีนที่ทำลายเซลล์ปกติ

ก่อนหน้านี้ BioNTech และ Pfizer ได้ถูก Moderna ฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

ที่มา: BBC และ The Guardian

Blognone Jobs Premium