ฝ่ายบริการลูกค้าของ Nintendo ออกประกาศปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการซ่อมบำรุงและการรับประกันสินค้าใหม่ โดยหนึ่งในจุดที่น่าสนใจคือการเพิ่มเนื้อหาข้อกำหนดว่าด้วยเรื่อง "การคุกคามจากลูกค้า" (customer harassment)
โดยในหน้าเว็บไซต์ของ Nintendo ในส่วนนโยบายการให้บริการซ่อมเกมและการรับประกันงานนั้น ได้มีการเพิ่มเนื้อหาข้อกำหนดหมวดนี้ ซึ่งมีใจความแปลได้ว่า
เมื่อติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์, โปรดหลีกเลี่ยงการโต้ตอบในลักษณะที่พ้นวิสัยมารยาททางสังคม (ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะพฤติกรรมตามที่ระบุด้านล่าง) หากเราพบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น, เราอาจปฏิเสธการให้บริการซ่อมแซมหรือรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้นหากเราพิจารณาเห็นว่าพฤติกรรมนั้นมีความมุ่งร้าย เราจะติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและนักกฎหมายเพื่อหาวิธีตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างเหมาะสม
- การข่มขู่, คุกคาม หรือแสดงความต้องการทำประทุษร้าย
- การดูหมิ่น และเหยียดหยาม
- การละเมิดความเป็นส่วนตัว
- การร้องขอบริการที่เกินกว่าปกติที่พึงกระทำ เช่น การขอบริการซ่อมฟรีในช่วงที่เกินระยะเวลารับประกัน
- การเรียกร้องคำขอโทษอย่างไม่สมเหตุสมผลจากบริษัท หรือการเรียกร้องให้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่
- พฤติกรรมจงใจทำให้เสียเวลา เป็นต้นว่า การร้องเรียนหรือส่งคำร้องซ้ำๆ เป็นปริมาณมาก
- การกล่าวโทษโดยบิดเบือนข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือบนอินเทอร์เน็ต
ข้อความข้างต้นนี้ส่วนใหญ่แล้วอิงตามเนื้อหาคู่มือที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข, แรงงานและสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่น ซึ่งมีการจัดทำขึ้นเพื่อให้คำแนะนำแก่ภาคเอกชนในการบริหารจัดการงานเพื่อรับมือกับปัญหาการโดนคุกคามและล่วงละเมิดโดยลูกค้าขององค์กร ซึ่งทางกระทรวงได้ออกแบบสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลจากบริษัทต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2020 เกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลผ่านแบบสำรวจพบว่ามีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการคุกคามและการล่วงละเมิดในองค์กรการทำงานต่างๆ ทั้งการคุกคามทางเพศ (sexual harasssment) และการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน (power harassment) โดย 2 อย่างนี้ยังคงมีอยู่ในสถานที่ทำงานหลายแห่งแต่มีแนวโน้มลดน้อยลง อย่างไรก็ตามปัญหาการคุกคามจากลูกค้ากลับเป็นปัญหาเดียวที่ยิ่งเพิ่มความรุนแรงหนักขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยรายงานผลการสำรวจพบว่ามีบริษัทหลายแห่งเผชิญปัญหาการโดนคุกคามจากลูกค้า ทั้งการข่มขู่, การโพสต์ประจาน, การก่อกวนการทำงาน มีองค์กรบางแห่งเจอการบุกรุกเข้าสำนักงานส่วนบุคคล พนักงานบางคนถูกสะกดรอยตาม และมีการเรียกร้องให้คุกเข่าก้มขอขมา เป็นต้น
การที่ Nintendo แสดงจุดยืนที่จะต่อต้านพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์เหล่านี้เพื่อปกป้องพนักงานของตนเองจึงเป็นท่าทีที่น่าสนใจ
ที่มา - SoraNews24