ตอบคำถาม DTAC 3G

by lew
13 September 2009 - 14:51

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ที่ผ่านมาผมได้รับคำเชิญจาก @worawisut ให้ไปร่วมงานปาร์ตี้ของ DTAC ที่จัดให้กับบล็อกเกอร์อย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว และถามถึงคำถามที่ชาว Blognone อยากรู้ในข่าวเก่า งานนี้ผมพลาดไปหน่อยที่ไม่จด แถมไม่อัดเสียงเอาไว้ ทำให้การสัมภาษณ์จากหลายๆ คนในงานดูงงๆ ไปหน่อย ดังนั้นการตอบสัมภาษณ์นี้คงเป็นการสรุปจากตัวผมเองนะครับ

ราคาเมื่อเปิดใช้งานจริงจะอยู่ที่เท่าใหร่?

ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของราคาเมื่อใช้งานจริงครับ โดยต้องรอดูถึงปริมาณผู้ใช้ ค่าขออนุญาตจากทาง กทช. ฯลฯ เสียก่อน

DTAC มีแผนจะขยายโครงข่ายเร็วแค่ไหน ทั่วกรุงเทพในเวลาเท่าใหร่ และทั่วประเทศในเวลาเท่าใหร่

"มันจะเร็วมาก" เป็นคำตอบหนึ่งที่ผมได้มา โดยมีเหตุผลประกอบว่าค่ายโทรศัพท์ทั้งหมดนั้นกันงบประมาณเอาไว้สำหรับการลงทุน 3G อย่างเต็มที่อยู่แล้ว รอเพียงในอนุญาตจากกทช. เท่านั้น

มีปัจจัยที่เอื้อต่อความเร็วของการขยายพื้นที่ให้บริการ 3G คือย่านความถี่ที่รองรับ โดย ขณะนี้ไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่า 3G ที่จะเปิดให้อนุญาตนั้นรวมไปถึงความถี่ 2100 หรือไม่ และจะให้ใบอนุญาตกับความถี่เดิมเช่น 850/900/1800/1900 หรือไม่อย่างไร

สำหรับกรณี DTAC นั้นความถี่ 850 ของ DTAC ที่ให้รับสัมปทานอยู่มีข้อได้เปรียบที่ระยะทำการค่อนข้างไกลมาก ในแง่ของต่างจังหวัดที่การใช้งานไม่หนาแน่นแล้ว ความถี่ 850 ก็จะเหมาะเพราะไม่ต้องติดตั้งเสาถี่นัก (อาจจะหมายถึงใช้สถานีเดิมได้ด้วย?? - lew) ขณะที่ความถี่ 2100 นั้นมีแบนวิดท์ให้ใช้งานได้มากกว่า แต่แลกมาด้วยระยะให้บริการที่ลดลง ผมพยายามกระซิบถามว่าหลังได้รับใบอนุญาตแล้วทั่วกรุงเทพฯ น่าจะใช้เวลาสักเท่าใหร่กัน ได้เสียงกระซิบตอบกลับมาว่า 9 เดือนก็น่าจะทั่วแล้ว

จำนวนสถานีที่ให้บริการในช่วงทดสอบ

18 สถานี โดยมีจำนวนหนึ่งเป็นสถานีภายในอาคาร

จะบล็อก P2P ไหม ความเร็วจริงจะเป็นแค่ไหน

ผมตอบแทน DTAC ก่อนว่าช่วงนี้จะจำกัดการใช้งานที่ 5GB เป็นเบื้องต้นนะครับ

สำหรับความเร็วจริงนั้น ทาง DTAC บอกว่าช่วงนี้เองทาง DTAC จัดสรรย่านความถี่ไปให้บริการ 3G ทั้งสิ้น 5MHz จาก 10MHz ที่ได้สัมปทานมา ปัญหาเรื่องความเร็วยังมีปัญหาอีกหลายส่วนเช่นความแรงสัญญาณ จากรายงานที่มีคนจำนวนมากไปใช้งานในห้างที่ไม่มี micro-cell เช่น พารากอน ความเร็วก็จะตกลงแต่ยังใช้งานได้ และยังมีปัญหาในส่วนของ uplink ที่ทาง DTAC บอกว่า "เราก็กำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ใช้" มีการเตรียมทีมแก้ปัญหาโดยเฉพาะ และมีการปรับเปลี่ยนเครือข่ายอยู่ตลอด

พัฒนาเครือข่ายที่ไหนก่อน?

กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ก่อน โดยทั่วไปแล้วใบอนุญาตจะระบุกรอบเวลาว่าต้องพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมประชากรเป็นร้อยละที่กำหนดภายในกรอบเวลาอยู่แล้ว

คำตอบเดิมมาอีกครั้งคือปัญหาความชัดเจนในเรื่องของความถี่ที่เปิดอนุญาตนั้นเป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้าไม่ชัดเจนก็จะวางแผนลำบาก

มีคนสมัครทดสอบประมาณกี่คน

ตัวเลขกลมๆ คือประมาณ 10,000 คน

Blognone Jobs Premium