รีวิว Windows 7 ตอนที่สอง ว่าด้วยสเปกฮาร์ดแวร์ขั้นต่ำ คำถามว่าควรใช้ 32 บิทหรือ 64 บิท จากนั้นเข้าสู่เรื่องหน้าตาและรูปลักษณ์ รวมไปถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดจาก Vista มายัง Windows 7 นั่นคือ Taskbar อันใหม่นั่นเอง
บทความในชุด: รีวิว Windows 7 ตัวจริง: ตอนที่ 1
จริงๆ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ผมลืมเขียนในตอนที่แล้ว ขอยกยอดมารวมไว้ในตอนที่สองนะครับ ไมโครซอฟท์ระบุสเปกขั้นต่ำของพีซีที่จะรัน Windows 7 ไว้ในหน้า Windows 7 system requirement ดังนี้
ถ้าใครจำสเปกของ Windows Vista ได้ มันคือสเปกเดียวกันครับ!!! เวลาห่างกัน 3 ปีแต่ว่าต้องการฮาร์ดแวร์เท่าเดิม ซึ่ง 3 ปีมานี้หลายๆ คนเปลี่ยนเครื่องกันแล้ว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนหันมาใช้ Windows 7 ได้มากขึ้น
บางคนอาจมีคำถามว่าทำไมยังใช้ฮาร์ดแวร์เท่าเดิม คำตอบก็อยู่ในตอนแรกว่านี่คือ "แพลตฟอร์ม" นั่นเอง ในเมื่อข้างใต้ของ Windows 7 แทบจะเหมือนกับ Vista ทุกประการ เป็น "แพลตฟอร์ม Vista" เหมือนกัน จึงไม่มีเหตุอันควรอะไรที่จะต้องการฮาร์ดแวร์เพิ่ม ถ้ามองในแง่วิวัฒนาการของระบบ ก็เรียกได้ว่าสิ่งที่ไมโครซอฟท์ลงทุนพัฒนาเอาไว้เริ่มจะลงตัวแล้ว ในวินโดวส์รุ่นถัดไปก็ไม่น่าจะต้องการฮาร์ดแวร์ขั้นต่ำต่างจากนี้มากนัก
ผู้ที่ต้องการความชัวร์ด้านฮาร์ดแวร์ก่อนอัพเกรด สามารถดาวน์โหลด Windows 7 Upgrade Advisor มาทดสอบได้
คำถามที่ตามมาหลังจากเลือกรุ่นของ Windows 7 ได้แล้วก็คือ ควรติดตั้งแบบ 32 บิทหรือ 64 บิทกันแน่? คำถามนี้สำคัญมากเพราะว่าถ้าเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้ง่ายๆ ต้องฟอร์แมทแล้วลงใหม่สถานเดียว ถ้าซื้อ Windows 7 แบบกล่องจะได้มาทั้งสองแผ่นอยู่แล้ว แต่ถ้าซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ก็ต้องเลือกให้ถูกตั้งแต่แรกครับ
คำถามอมตะอันหนึ่งของวงการคอมพิวเตอร์มีอยู่ว่า "64 บิทดีกว่า 32 บิทอย่างไร?" ถ้าตอบสั้นๆ ข้อดีที่เหนือกว่ามีอย่างเดียวคือ ระบบปฏิบัติการแบบ 64 บิทนั้นใช้งานแรมได้มากกว่า 4 GB
ดังนั้นถ้าใครมีแรมตั้งแต่ 4GB ขึ้นไปก็ไม่ต้องคิดมาก คำตอบมีได้ทางเดียวคือ 64 บิท (หรือถ้าตอนนี้ยังมีแรมน้อยกว่านั้นแต่มีแผนจะอัพเกรดก็ใช้คำตอบเดียวกัน)
สำหรับคนที่มีแรมน้อยกว่า 4GB และไม่คิดจะอัพเกรด การเลือกติดตั้งแบบ 64 บิทก็ไม่มีปัญหาอันใดเพราะปัจจัยชี้ขาดว่าไม่ควรใช้ 64 บิทไม่ใช่เรื่องแรม แต่เป็นเรื่องโปรแกรมและไดรเวอร์ต่างหาก
ในทางทฤษฎีแล้ว โปรแกรม 32 บิทสามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการ 64 บิทได้ไม่มีปัญหา ผมใช้งาน Windows 7 ทั้ง Beta, RC และ RTM แบบ 64 บิทมาโดยตลอดก็ยังไม่พบปัญหาอะไรกับโปรแกรมที่ติดตั้งและใช้งาน โอเค มีบางโปรแกรมที่ยังทำงานบน 64 บิทไม่ได้ เช่น Flash แต่ไมโครซอฟท์ก็ให้ IE8 มาทั้งแบบ 32 บิทและ 64 บิท (ส่วนเบราว์เซอร์ตัวอื่นๆ นั้นเป็น 32 บิทอยู่แล้ว ไม่ว่า Firefox หรือ Chrome)
ส่วนไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์นั้นจำเป็นต้องใช้แบบ 64 บิท ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ดังๆ ไม่ว่าจะเป็น NVIDIA, ATI, Logitech, Creative ฯลฯ ล้วนมีไดรเวอร์สำหรับ 64 บิทกันหมดแล้ว (เลือกไดรเวอร์ Vista x64 มาใช้ได้เลย) เท่าที่ผมทดสอบฮาร์ดแวร์มาจำนวนหนึ่งก็ยังไม่เจอปัญหาอะไรบน Windows 7 แบบ 64 บิทครับ
ในแง่การใช้งานแล้ว การใช้ Windows 7 แบบ 64 บิทไม่ต่างจาก 32 บิทเลย ถ้าไม่บอก ไม่ขุดเข้าไปดูในหน้า System ไม่มีทางรู้ว่าเครื่องที่ใช้อยู่เป็น 64 บิทหรือไม่
ดังนั้นคำแนะนำของผมต่อคำถามว่าควรเป็น 32 หรือ 64 บิท ก็คือ เลือก 64 บิท ยกเว้นรู้ว่ามีโปรแกรมหรือฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานบน 64 บิทไม่ได้เท่านั้น ระบบปฏิบัติการแบบ 64 บิทคืออนาคต ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ก็เตรียมพร้อมไว้เสียแต่ตอนนี้ครับ สื่อหลายสำนักพยากรณ์ว่า Windows 8 อาจจะเป็น 64 บิทล้วน ลักษณะเดียวกับ Snow Leopard
สำหรับรายละเอียดเรื่อง 64 บิท ลองอ่านเพิ่มเติมได้จาก
เมื่อล็อกอินเข้ามายัง Windows 7 จะพบกับหน้าจอเดสก์ท็อปมาตรฐานดังภาพ
สิ่งที่เตะตาทุกคนย่อมเป็นโลโก้หน้าต่างสี่สีอันใหญ่มาก (พื้นหลังรูปปลากัดหายไปแล้ว) ผมคิดว่านี่เป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ใช้ default background ที่มีโลโก้ของวินโดวส์เอง ถ้าให้เดานี่คือการสร้างแบรนด์วินโดวส์ให้แข็งแกร่งมากขึ้น เพราะหน้าจอนี้จะไปปรากฎอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ภาพประกอบในหนังสือหรือทีวี เป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนในอนาคต
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเดสก์ท็อปของ Windows 7 สะอาดมาก แทบไม่มีอะไรอยู่เลย บนเดสก์ท็อปมีเพียงไอคอน Recycle Bin อยู่มุมซ้ายบน ขอบล่างมี Taskbar ซึ่งมีไอคอนเพียง 4 อันคือ Start, IE, Windows Explorer และ Windows Media Player
ส่วน System Tray ด้านขวามือก็มีไอคอนเพียงไม่กี่อันเช่นกัน (ในภาพผมปรับแต่งให้เพิ่มปุ่มสลับภาษา และเนื่องจากใช้โน้ตบุ๊กจึงมีไอคอนแบตเตอรี่เพิ่มเข้ามาด้วย)
ของรกๆ ที่เคยอยู่ในวินโดวส์รุ่นก่อนๆ เช่น ไอคอนบนเดสก์ท็อปบน XP หรือ Sidebar ของ Vista ถูกขจัดไปหมดสิ้น บูตขึ้นมาครั้งแรกไม่มีบอลลูนข้อความใน System Tray ขึ้นมาเกะกะ ทุกอย่างเรียบง่าย หรูหรา สวยงาม อันนี้ให้คะแนนเต็ม
หมายเหตุ: อ่านรีวิวอีกเวอร์ชันเกี่ยวกับ Taskbar ของ Windows 7 ได้ใน รีวิว Windows 7 Beta ตอนที่ 1
สิ่งที่ Windows 7 แตกต่างออกไปจาก Vista มากที่สุดคือ Taskbar ซึ่งมันจะอยู่คู่กับผู้ใช้ Windows 7 ไปตลอด เจ้า Taskbar อันใหม่มีชื่อเล่นๆ ว่า "Superbar" มีหน้าตาดังภาพ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้แก่
หลายคนอ่านแล้วคงนึกถึง Dock ของ Mac OS X ถ้าในด้านรูปลักษณ์นั้นใช่เลยครับ แต่ถ้าลองใช้งานจริงๆ มันยังให้อารมณ์ Taskbar แบบเดิมๆ มากกว่า Dock ซึ่งอันนี้จะค่อยๆ เขียนถึงต่อไป
ก่อนจะลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงของ Taskbar ใน Windows 7 ผมขอย้อนกลับไปยัง Taskbar อันเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ Windows 95 เสียก่อน ในภาพเป็น Taskbar ของ Windows XP (ภาพจาก Wikipedia) แต่จริงๆ แล้วจะเอาภาพของวินโดวส์รุ่นอื่นๆ มา
เทียบก็ไม่ต่างกัน
Taskbar ของ XP/Vista มี "หน้าที่" หลักๆ 3 ประการ ไล่จากซ้ายไปขวา
Launching
ถ้าใครยังจำ Windows 3.1 ได้ (ดักแก่อีกแล้ว :D) หน้าที่ในการเรียกโปรแกรมให้ทำงาน หรือ launching เป็นของ Program Manager แต่ใน Windows 95 เป็นต้นมา ไมโครซอฟท์ได้ย้ายหน้าที่นี้มาให้กับปุ่ม Start ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ข้างในปุ่ม Start มี Start Menu ซึ่งรวบรวมเอาโปรแกรมทั้งหมดภายในเครื่องเอาไว้ให้เราได้เรียกใช้ตามต้องการ (เรื่อง Start Menu จะพูดถึงในตอนต่อๆ ไป)
การเรียกโปรแกรมในวินโดวส์ยังมีวิวัฒนาการไปอีกเล็กน้อยใน Windows 98 เมื่อไมโครซอฟท์รวม IE4 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวินโดวส์ ก็ได้เพิ่ม "ทูลบาร์อื่นๆ" ลงใน Taskbar ด้วย ได้แก่ Quick Launch, Address, Links ซึ่งสุดท้ายแล้ว Quick Launch ได้กลายมาเป็นมาตรฐานของ Taskbar ในวินโดวส์รุ่นถัดๆ มา หน้าที่ของมันคือเรียกโปรแกรมที่ใช้บ่อย เพราะมีลักษณะเป็นปุ่ม เรียกง่ายกว่าคลิกจากเมนู และปรากฏตัวตลอดเวลาไม่โดนบังเหมือนไอคอนบนเดสก์ท็อป
สรุปสั้นๆ ว่าบน Taskbar แบบเก่ามีการเรียกโปรแกรม 2 แบบ คือ โปรแกรมทั้งหมด (ผ่านปุ่ม Start) และโปรแกรมที่ใช้บ่อย (ผ่านปุ่ม Quick Launch)
Switching
หน้าที่หลักของ Taskbar คือการ "สลับหน้าต่าง" ที่เปิดอยู่ หน้าต่างที่ถูกเปิดอยู่จะมีปุ่มพร้อมชื่อหน้าต่างแสดงอยู่บน Taskbar การสลับหน้าต่างทำได้โดยคลิกบนปุ่มที่ต้องการ จากนั้นวินโดวส์จะนำหน้าต่างนั้นมาแสดงเป็นหน้าต่างอันบนสุดของเดสก์ท็อป
นอกจากการสลับหน้าต่างด้วยปุ่มบน Taskbar แล้ว เรายังสามารถทำได้ผ่านปุ่มลัด Alt+Tab ด้วยเช่นกัน (ใน Vista วิธีการนี้วิวัฒนาการไปเป็น Flip 3D) แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม คนส่วนมากนิยมใช้การกดปุ่มบน Taskbar มากกว่าเนื่องจากมืออยู่ที่เมาส์ และมองเห็นได้ง่ายว่ามีอะไรเปิดอยู่บ้าง
ไมโครซอฟท์ออกแบบ Taskbar มารองรับการเปิดหน้าต่างจำนวนไม่มากนัก เพราะผู้ใช้จะสามารถแยกแยะว่าปุ่มบน Taskbar แทนหน้าต่างอันไหนได้จากไอคอนและข้อความบนปุ่ม แต่เมื่อผู้ใช้เปิดหน้าต่างมากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดของปุ่มจะเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้ความสามารถในการแยกแยะปุ่มจะลดลง (ใครเคยเจอ popup ชุดใหญ่ใน IE รุ่นก่อนๆ น่าจะนึกภาพออก ปัญหานี้เป็นปัญหาเดียวกับ Tab ในเบราว์เซอร์) ไมโครซอฟท์จึงออกทางแก้ปัญหามาให้เรา 2 อย่าง
อย่างไรก็ตามทั้งสองวิธีไม่ใช่ทางแก้ที่สมบูรณ์แบบ วิธีแรกมีข้อเสียคือต้องกดปุ่มบน Taskbar ก่อนเพื่อดูรายชื่อหน้าต่างทั้งหมด การคลิกหลายครั้งทำให้การสลับหน้าต่างทำได้ช้า หลายๆ คนจึงปิดตัวเลือกนี้ในวินโดวส์รุ่นก่อนๆ (ผมคนนึงล่ะ) ส่วนวิธีที่สองมีปัญหาว่าเมื่อเราเลื่อนไปยัง Taskbar อันที่สอง เราจะไม่เห็นปุ่มบน Taskbar อันแรก ทำให้การสลับหน้าต่างทำได้ลำบากถ้าปุ่มดันอยู่บน Taskbar คนละอัน ต้องเลื่อนกลับไปกลับมาก่อนจึงจะกดปุ่มได้ โชคดีที่นานๆ ทีเราจะเจอกับสถานการณ์นี้ (ผมถือมันสัญญาณเตือนว่า "เปิดหน้าต่างมากไปแล้วนะ")
แม้ว่าจะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วมันทำงานได้มีประสิทธิภาพมาก วิธีการสลับหน้าต่างด้วย Taskbar ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ถือว่าเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญระหว่าง Windows 3.1 และ Windows 95 และกลายเป็นวิธีการมาตรฐานในการสลับหน้าต่างบน Desktop Manager ตัวอื่นๆ มากมาย (เช่น GNOME และ KDE)
Notifying
ส่วนสุดท้ายเราเรียกมันว่า system tray (ซึ่งชื่อที่ถูกต้องของมันคือ notification area) หน้าที่ของมันก็ตามชื่อคือแจ้งเตือน (notify) ข้อมูลสำคัญๆ ของระบบให้ผู้ใช้ได้รับรู้ เช่น ขณะนี้เวลากี่โมง, ตอนนี้คีย์บอร์ดเป็นภาษาอะไร, ปิดเสียงไว้หรือเปล่า ฯลฯ ผู้ใช้เพียงแค่ "เหลือบไปมอง" (ภาษาอังกฤษใช้ glance) ที่มุมขวาล่างก็จะทราบข้อมูลเหล่านี้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย
เมื่อเวลาผ่านไป system tray กลับมีหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ที่ไมโครซอฟท์คาดคิดไว้ตั้งแต่ตอนออกแบบครั้งแรก หน้าที่นี้คือเก็บไอคอนของโปรแกรมที่ทำงานอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องปรากฎตัวตลอดเวลา ดังเช่น โปรแกรมแอนตี้ไวรัส (ซึ่งจำเป็นต้องเปิดเวลาเจอไวรัส) โปรแกรม IM (เปิดเมื่อมีข้อความใหม่เข้ามา) WinAmp (เปิดเมื่อต้องการปรับเปลี่ยนเพลงในคิว) เป็นต้น
สาเหตุที่โปรแกรมที่ทำงานเบื้องหลังต้องมาอยู่ใน system tray ก็เป็นเพราะ Taskbar อันหลักไม่เหมาะสมสำหรับงานลักษณะนี้นั่นเอง Taskbar อันหลักออกแบบมาสำหรับโปรแกรมที่ทำงานเบื้องหน้ามากกว่า
การที่โปรแกรมมีไอคอนใน system tray กลายเป็นประเพณียอดฮิตสำหรับโปรแกรมบนวินโดวส์ ผลสุดท้ายคือ system tray รก เต็มไปด้วยไอคอนที่ไม่รู้ว่าจำเป็นหรือไม่
ทางแก้ปัญหาของไมโครซอฟท์ก็คล้ายๆ กับ Taskbar คือทำ "ปุ่มเลื่อน" สำหรับ system tray แบ่งเป็นรุ่นย่อที่แสดงไอคอนสำคัญ และรุ่นเต็มสำหรับไอคอนทั้งหมด ข้อเสียของวิธีนี้เหมือนกับข้อเสียของปุ่มเลื่อนใน Taskbar คือผู้ใช้ไม่สามารถ "เหลือบมอง" เพื่อดูข้อมูลได้ (เพราะบางไอคอนถูกซ่อนเอาไว้)
Taskbar ของ Windows 7 เป็นการ "จัดระเบียบ" องค์ประกอบข้างต้นทั้งสามใหม่ ดูแผนภาพโครงสร้างเทียบกับภาพ Taskbar ของ XP ข้างต้น (หรือจะดูภาพแบบเทียบกันทั้ง 2 เวอร์ชันก็ได้)
Launching
ผมเขียนไปแล้วว่าหน้าที่ launching ของ Taskbar แบบเก่าแบ่งเป็น 2 แบบคือ โปรแกรมทั้งหมดกับโปรแกรมที่ใช้บ่อย พอข้ามยุคมาเป็น Windows 7 ไมโครซอฟท์จับสองส่วนนี้แยกร่างออกจากกัน
ผมคิดว่าเหตุผลของการย้าย Quick Launch ไปรวมกับส่วนการสลับหน้าต่างคือเหตุผลในเรื่องพื้นที่ใช้สอยเป็นหลัก การรวมสองส่วนนี้เข้าด้วยกันทำให้เรามีพื้นที่มากขึ้นสำหรับไอคอนโปรแกรมที่ใช้บ่อย (เพราะมีพื้นที่เท่ากับ Taskbar เกือบทั้งอัน) และในทางกลับกัน พื้นที่ของส่วนสลับหน้าต่างก็เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะแถบ Quick Launch ถูกเอาออกไปแล้ว ส่วนเหตุผลรอง ผมคิดว่าความนิยมใน Dock ของ Mac OS X ก็มีส่วนอยู่บ้างเช่นกัน
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังปรับขนาดให้ไอคอนใหญ่ขึ้นตามขนาดของ Taskbar ที่โตขึ้น ทำให้คลิกโดนได้ง่ายขึ้นด้วย
Switching
สิ่งที่เปลี่ยนไปของส่วน switching คือไอคอนโตขึ้น ข้อความหายไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปลักษณ์ แต่ในแง่การใช้งานแล้ว มันยังเป็นปุ่มแทนหน้าต่างเหมือนเดิม (ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ต่างจาก Dock)
Taskbar แบบใหม่นี้จะจัดกลุ่มของหน้าต่างโดยอัตโนมัติตามโปรแกรมแต่ละตัว ถ้าเปิดมากกว่าหนึ่งหน้าต่าง สี่เหลี่ยมรอบๆ ไอคอนจะซ้อนทับกันเพื่อแสดงให้เราเห็นว่ามีหน้าต่างอยู่เท่าไร สี่เหลี่ยมกองนี้จะมีมากที่สุด 3 อัน ถ้าเปิดมากกว่านี้ก็จะแสดงแค่ 3 อัน
ในรูปข้างล่างแสดงไอคอน 3 สถานะ ตั้งแต่ไม่เปิดโปรแกรมเลย ไปจนถึงเปิด 3 หน้าต่างขึ้นไป
บางคนอาจมีคำถามว่าถ้าไม่มีข้อความแล้ว จะแยกแยะได้อย่างไรว่าหน้าต่างไหนเป็นหน้าต่างไหน คำตอบของไมโครซอฟท์คือฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาใน Vista คือการแสดง thumbnail ของหน้าต่างนั่นเอง ฟีเจอร์นี้จะถูกใช้ร่วมกับ Aero Peek ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ของ Windows 7 โดยผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนถัดไป
ไมโครซอฟท์ยังเพิ่มเรื่องอำนวยความสะดวกให้กับการจัดการหน้าต่างและไอคอนบน Taskbar เมื่อเราคลิกขวาบนไอคอน จะเจอเมนูที่คุ้นเคย
เรายังสามารถสั่งปิดหน้าต่างได้จากเมนู ดังเช่นที่เคยทำในวินโดวส์รุ่นก่อนๆ แต่คำสั่งอื่นๆ พวก Maximize/Minimize หายไปหมด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ (เรียงจากล่างขึ้นบน)
หมายเหตุ: เพิ่มเติมโดยคุณ So.whaT เมนู Move/Maximize/Minimize ย้ายไปอยู่ตรงภาพ thumbnail ของแต่ละหน้าต่างแทน
ปุ่มสลับหน้าต่างแบบใหม่ทำให้ Taskbar ใช้พื้นที่แนวขวางน้อยลง แสดงโปรแกรมได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหา "Taskbar ล้น" ไปได้มากโข แม้ว่าจะแก้ได้ไม่หมด เพราะเมื่อเปิดโปรแกรมมากๆ หรือใส่ไอคอนลงไปมากๆ ก็เกิดปัญหาขึ้นอยู่ดี ซึ่งไมโครซอฟท์ยังใช้วิธีเพิ่มปุ่มเลื่อน Taskbar เหมือนเดิม
หมายเหตุ: คนที่ชอบ Taskbar แบบมีข้อความ อาจปรับแต่งให้แสดงข้อความร่วมกับไอคอนได้ ข้อความจะแสดงบนไอคอนของโปรแกรมที่เปิดอยู่เท่านั้น คล้ายๆ กับเอา Quick Launch กับปุ่ม Taskbar เดิมมาปนๆ กัน)
src="http://farm3.static.flickr.com/2472/3917916365_2c7e42c556_o.png" width="310" height="61" alt="taskbar-twobutton"
/>
ถ้าบน Taskbar ยังมีที่ว่างอยู่ ปุ่มจะถูกแสดงแยกกันตามรูป แต่ถ้าที่ว่างเริ่มไม่พอก็จะแสดงซ้อนกันเหมือน Taskbar แบบปกติ
Notifying
เมื่อ Taskbar แบบใหม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ไปเยอะแล้ว เหตุผลที่โปรแกรมเบื้องหลังจะแอบไปฝังตัวอยู่ใน system tray จึงมีน้อยลง เพื่อแก้ปัญหา "system tray รก" ไมโครซอฟท์จึงสนับสนุนให้โปรแกรมที่เคยอยู่ใน system tray ย้ายไปอยู่ใน Taskbar แทน
ฟีเจอร์ Jump List ก็มีส่วนช่วยให้การย้ายทำได้ง่ายขึ้น เพราะตอนนี้โปรแกรมที่อยู่ใน Taskbar ไม่จำเป็นต้องมีเมนู Maximize/Minimize เหมือนกันหมดอีกต่อไป โปรแกรมแต่ละตัวสามารถมีเมนูคำสั่งเฉพาะทาง (เหมือนที่เคยมีใน system tray) ได้ผ่าน Jump List
ตัวอย่างโปรแกรมที่ย้ายจาก system tray มาอยู่ใน Taskbar ที่ชัดเจนที่สุดคือ Windows Live Messenger 2009 (ต้องลงแยกต่างหากผ่าน Windows Live Essentials)
จากภาพจะเห็นว่า WLM 2009 ยกเมนูของเดิมมาใส่ไว้ใน Jump List เลย และเมื่อกดปุ่ม x ปิดหน้าต่าง contact list โปรแกรมจะไม่ปิดตามไปด้วย ยังมีชีวิตอยู่ในไอคอนบน Taskbar
ไมโครซอฟท์ไม่ได้บังคับให้โปรแกรมใน system tray ต้องเปลี่ยนที่อยู่ทันทีเมื่อย้ายมายัง Windows 7 โปรแกรมเดิมๆ ยังสามารถอยู่ใน system tray ได้ต่อไป แต่ความสำคัญของมันจะลดลงเพราะไอคอนใน system tray จะไม่ถูกแสดงโดย default ยกเว้นไอคอนสำคัญๆ ของระบบเท่านั้น
ไอคอนใน system tray สามารถปรับแต่งได้ โดยคลิกที่ลิงก์ Customize... ในรูปข้างบน สำหรับคนที่ไม่ชอบ system tray รกๆ แบบผม นี่คือสวรรค์เลยล่ะ
ผมยังไม่เจอโปรแกรมตัวอื่นที่ย้ายจาก system tray มายัง Taskbar นอกจาก WLM2009 (ไม่ว่าจะเป็น Google Talk หรือ Skype) และคิดว่าต้องรอกันอีกนานพอสมควรกว่าโปรแกรมดังๆ จะเปลี่ยนตามกันหมด
โดยสรุปแล้ว ใน Windows 7 ไมโครซอฟท์ตัดสินใจให้ system tray กลับไปมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวดังที่ออกแบบไว้แต่แรก นั่นคือเป็นแค่ที่แสดงข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้เท่านั้น แต่กว่าจะเปลี่ยนเสร็จสมบูรณ์อาจจะต้องรอให้วินโดวส์ผ่านไปอีกหลายเวอร์ชันทีเดียว อย่างไรก็ตามนี่เป็นสัญญาณที่ดีครับ
หมายเหตุ: เพิ่มเติมโดยคุณ nimrod ไอคอนใน system tray สามารถลากย้ายตำแหน่งได้
ประเด็นอื่นๆ ของ Taskbar
นอกจากการเปลี่ยนแปลงระดับแนวคิดที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด Taskbar ของ Windows 7 ยังมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก ผมรวมไว้ในหมวดนี้เผื่อมีใครสนใจ ไม่แปะภาพประกอบเพราะจะทำให้รก ถ้าสนใจคลิกไปดูภาพกันเอาเอง
ตอนหน้ามาว่ากันต่อเรื่องการจัดการหน้าต่าง และ Start Menu ครับ รีวิว Windows 7 ตัวจริง ตอนที่ 3