ทำไมการทำงานแบบไม่เป็นเวลา ช่วยเพิ่ม productivity ได้มากกว่า

by Augustine
27 October 2022 - 10:10

เราทำงานกันแบบเช้าไปทำงานที่ออฟฟิศ พักกลางวันตอนเที่ยง นั่งทำงานต่อถึงเย็นก่อนจะกลับบ้านมาเป็นเวลาหลายทศวรรษก่อนที่จะเกิดโควิด-19 การเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านหรือทำงานแบบไฮบริดทำให้หลายคนหรือหลายบริษัทเริ่มรู้ว่าเราสามารถสร้างงานที่มีคุณภาพได้แม้ไม่ได้นั่งทำงานในออฟฟิศตั้งแต่เช้ายันเย็น พอหลังโควิด หลายบริษัทจึงได้ปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากการให้ความสนใจกับเวลาทำงานของพนักงงานมาเป็นคุณภาพผลงานแทน ซึ่งจริง ๆ การทำงานไม่เป็นเวลากลับเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความ productivity ของพนักงานได้มากขึ้น

การทำงานไม่เป็นเวลาช่วยเพิ่ม productivity

รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วก่อนที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม มนุษย์ทำงานตั้งแต่ช่วงเช้ามืดไปจนถึงช่วงหัวค่ำ ส่วนระหว่างวันก็ทั้งพักทานอาหารเที่ยง ของว่าง แล้วยังมีเวลางีบหลับระหว่างวันด้วย แต่เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การทำงานอย่างต่อเนื่องแบบ 9-to-5 เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ รวม 40 ชั่วโมงก็กลายมาเป็นมาตรฐานต่อมาอีกหลายสิบปี

Aaron De Smet หุ้นส่วนอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ได้อธิบายไว้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดทำให้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานจากความสนใจในระยะเวลาทำงานและสถานที่ที่ทำงานมาเป็นการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของงานที่ออกมาแทน

ข้อสำคัญ คือ การทำงานไม่เป็นเวลาช่วยสร้าง productivity ได้มากกว่า เพราะสิ่งสำคัญในการทำงานคือผลลัพธ์ที่ดีซึ่งไม่เกี่ยวว่าจะต้องใช้เวลาการทำงานมากขึ้น การทำงานไม่เป็นเวลาจึงทำให้พนักงานจัดตารางเวลาชีวิตได้อย่างอิสระและเลือกช่วงเวลาที่ตัวเอง productive เพื่อทำงานให้ออกมาดีได้

พนักงานสามารถสลับสับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ด้วย เช่น ผู้ที่อยู่หอพักกับเพื่อนร่วมห้องก็สามารถตื่นมาทำงานก่อนที่คนอื่นจะตื่นได้หากต้องทำงานที่ใช้สมาธิมาก ๆ หรือพ่อแม่ก็สามารถแวะไปรับลูกที่โรงเรียนแล้วค่อยกลับมาทำงานตอนค่ำก็ได้

Laura Giruge ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาพฤติกรรมของ LSE หรือ London School of Economics and Political Science กล่าวว่าการทำงานไม่เป็นเวลายังช่วยให้ประหยัดการเดินทางไปทำงาน มีเวลาออกกำลังกายและดูแลตัวเองมากขึ้น รวมทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างค่าเดินทางหรือค่าอาหารที่ปกติต้องซื้อรับประทานที่ออฟฟิศ

การทำงานก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานยังคงโฟกัสกับการทำงาน บริษัทอาจให้พนักงานร่วมทำงานด้วยกันบ้าง เช่น การประชุมหรือการช่วยกันคิดไอเดียต่าง ๆ ส่วนข้อจำกัดอีกอย่างคือ เมื่องานบางอย่างไม่สามารถให้ใครคนใดคนหนึ่งทำได้ แต่ต้องช่วยกันในทีม ก็ทำให้ไม่บางครั้งพนักงานไม่สามารถจัดตารางที่เหมาะสมกับตัวเองได้จริง ๆ

ความต่างของการทำงานไม่เป็นเวลาและการทำงานล่วงเวลา (โดยไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่ม)

แม้แต่ก่อนโควิด-19 มีคนจำนวนมากทำงานนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติคือราว 9.00-17.00 น. โดยไม่ได้รับค่าจ้าง แต่การทำงานแบบนี้โดยไม่ได้รับค่าจ้างถือเป็นการทำงานเกินเวลา ไม่ใช่การทำงานแบบยืดหยุ่นที่จะช่วยเพิ่ม productivity ได้ รวมทั้งการทำงานเกินเวลาอาจนำไปสู่การหมดไฟได้ในที่สุด

การที่เราพูดคุยกันถึงการปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานล่วงเวลาให้เป็นสิ่งที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบันจะช่วยลดปัญหาพนักงานหมดไฟจากการทำงานหนักเกินไปได้ ปัจจุบันการทำงานในเวลาที่มีความยืดหยุ่นมักเจอในบริษัทเทคโนโลยีมากกว่า เช่น บริษัทที่มีคนจากหลายประเทศอยู่ในทีมเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับการทำงานไม่เป็นเวลามากกว่าบริษัทที่ให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ

การทำงานไม่เป็นเวลาคือนาคตของโลกการทำงาน

การทำงานแบบไม่เป็นเวลาได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อพนักงานเริ่มมองหางานที่ยืดหยุ่นและเป็นอิสระมากขึ้น ผลการศึกษาแรงงานทั่วโลกจำนวน 13,382 ของ McKinsey ในช่วงต้นปีนี้พบว่า พนักงาน 40% ให้ความยืดหยุ่นในที่ทำงานเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินว่าจะทำงานในบริษัทนั้น ๆ ต่อไปหรือไม่

การทำงานไม่เป็นเวลายังเป็นรูปแบบการทำงานที่ให้ประโยชน์กับทั้งฝั่งบริษัทและฝั่งพนักงาน ขณะที่พนักงานสามารถออกแบบการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระมากขึ้น บริษัทก็ได้ประโยชน์จากการได้งานที่มีคุณภาพจากพนักงานเพราะเป็นงานที่ทำในช่วงเวลาที่พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ การทำงานแบบนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคตเพราะเหมาะกับการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานที่บ้านที่ไม่ต้องเข้าไปทำงานในออฟฟิศอีกต่อไป

หางานสายเทคและสายไอทีจากบริษัทชั้นนำได้ที่ Blognone Jobs

ที่มา: BBC

Blognone Jobs Premium