AMD เริ่มวางตลาด EPYC รุ่นที่ 4 “Genoa” ตามแผนการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ที่ประกาศออกมามีทั้งหมด 18 รุ่น จำนวนคอร์สูงสุด 96 คอร์ ทำให้ประสิทธิภาพรวมสูงกว่า EPYC รุ่นที่ 3 ที่มีจำนวนคอร์สูงสุด 64 คอร์ถึงระดับเท่าตัว
สถาปัตยกรรม Zen 4 เป็นการปรับปรุงจาก Zen 3 แต่ปรับปรุงส่วนย่อยๆ ไปอีกหลายอย่างจนสามารถรับคำสั่งต่อสัญญาณนาฬิกา (IPC) ได้เพิ่มขึ้น 14% โดยส่วนประกอบภายในเพิ่มขึ้น เช่น Op Cache, Instruction Retire Queue, INT/FP register file, micro-op cache
จุดขายอย่างหนึ่งที่ AMD นำเสนอคือ EPYC รุ่นที่ 4 นี้รองรับชุดคำสั่ง AVX-512 ได้ดีขึ้นมาก รวมถึงการรองรับตัวเลขแบบ Bfloat16 ด้วย ทำให้สามารถรันปัญญาประดิษฐ์จากตัวซีพียูได้ประสิมธิภาพค่อนข้างดี
กระบวนการเข้ารหัสแรมยังคงพัฒนาเพิ่มเติม รองรับเครื่อง guest สูงถึง 1006 เครื่องและอัพเกรดกระบวนการเข้ารหัสเป็น AES-256-XTS จากเดิมเป็น AES-128 สำหรับผู้ที่ต้องการใช้แรมปริมาณมาก ในรุ่นนี้ซีพียูรองรับการเชื่อมต่อ CXL1.1+ สำหรับการขยายแรมเพิ่มเติมไปต่อผ่านคอนโทรลเลอร์ภายนอกซีพียู แม้ว่าตัวซีพียูเองจะรองรับแรมขนาด 6TB อยู่แล้ว
ในงานเปิดตัว AMD โชว์ผลเบนซ์มาร์กหลายตัวโดยเฉพาะกลุ่ม SPEC แสดงว่าประสิทธิภาพดีกว่า Xeon Platinum รุ่นที่ 3 ระดับ 2-3 เท่าตัว เช่น SPECrate@2017 เทียบ EPYC 9554P ซ็อกเก็ตเดียวยังได้คะแนนดีกว่า Xeon 8380 แบบสองซ็อกเก็ต
ที่มา - งานแถลงข่าว AMD