8 บริษัทผู้ผลิตชิปในญี่ปุ่นผนึกกำลังกันร่วมก่อตั้งบริษัทใหม่เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาชิปยุคใหม่ภายในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกและลดการพึ่งพาการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทต่างชาติ
บริษัทดังกล่าวประกอบไปด้วย Toyota Motor, NTT, Sony, NEC, SoftBank, Denso, KIOXIA (เดิมคือ Toshiba Memory) และ MUFG (กลุ่มบริษัททางการเงินในเครือของ Mitsubishi) โดยจะร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า Rapidus (มาจากคำว่า rapid ที่แปลว่ารวดเร็วในภาษาละติน) โดยจะใช้เงินลงทุนร่วมกันมากกว่า 7 พันล้านเยน (ประมาณ 1.8 พันล้านบาท)
Rapidus จะมุ่งเน้นการพัฒนาชิปยุคใหม่ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ทั้งเรื่องการใช้งานปัญญาประดิษฐ์รวมทั้งการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ
ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิปในประเทศอย่างเต็มที่ โดยเพิ่งเสนอขออนุมัติงบประมาณแผ่นดินเป็นเงิน 1.3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 334 พันล้านบาท) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ และจะร่วมลงทุนกับ Rapidus เป็นเงินราว 70 พันล้านเยน (ประมาณ 18 พันล้านบาท) เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ให้กับบริษัทที่จัดตั้งใหม่
ในปัจจุบันนี้ไต้หวันเป็นประเทศที่ครองส่วนแบ่งชิปของตลาดโลกสูงถึง 90% (นับเฉพาะตลาดชิปที่มีขนาดตัวนำเล็กกว่า 10 นาโนเมตร) ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่นก็เริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะขาดแคลนชิปหากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบกับไต้หวันซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงเห็นข่าวการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิปภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา, จีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นบ่อยครั้งในระยะหลัง
สำหรับบริษัทใหม่ Rapidus จะร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ในญี่ปุ่นซึ่งรวมถึง University of Tokyo และ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ในการวิจัยและพัฒนาชิป โดยตั้งเป้าจะสร้างชิปที่มีขนาดตัวนำ 2 นาโนเมตร ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีการผลิตมารองรับมาตรฐานระดับที่ว่านี้
ที่มา - The Japan News