การประชุมคณะรัฐมนตรีประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2565 มีมติเห็นชอบการตั้ง สถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ National Big Data Institute (NBDI) โดยเป็นการยกระดับ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานอยู่ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล depa ออกเป็นองค์การมหาชนอีกแห่ง มีจำนวนบุคลากร 70 คนที่จะโอนไปอยู่ภายใต้ NBDI
การตั้ง National Big Data Institute มีอายุองค์กรเบื้องต้น 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. จะประเมินความคุ้มค่าตามตัวชี้วัดต่อไป
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ทั้งนี้ ในเรื่องของชื่อสถาบัน ที่จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปปรับแก้ไขเพื่อความเหมาะสมและถูกต้องต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ ดศ. เสนอ เป็นการจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NBDI) โดยยกฐานะของสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานภายในภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) ดศ. ให้เป็นองค์การมหาชนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรง ทำหน้าที่ให้บริการ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่น เกี่ยวกับการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มข้อมูลที่บูรณาการข้อมูลรายสาขา สำหรับการใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ เช่น การกำหนดนโยบายในเรื่องต่าง ๆ การวางแผนธุรกิจ ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ โดยให้มีคณะกรรมการสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายการบริหารงาน ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการ และการดำเนินงานของ NBDI เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และกำหนดให้เมื่อ NBDI ดำเนินการครบ 5 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และ NBDI จัดให้มีการประเมินความคุ้มค่าตามตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายที่ได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน หากพิจารณาเห็นว่าไม่คุ้มค่าในการจัดตั้ง ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอรัฐมนตรีผู้รักษาการเพื่อยุบเลิก และโอนถ่ายภารกิจไปให้หน่วยงานอื่นต่อไป โดยในส่วนกรอบอัตรากำลังรวมในปีที่ 1 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการใช้อัตรากำลังจำนวน 113 อัตรา (รวมผู้อำนวยการองค์การมหาชน) เป็นกรอบอัตรากำลังที่ตัดโอนมาจากสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ จำนวน 70 อัตรา ทั้งนี้ ดศ. ได้ดำเนินการขอจัดตั้งองค์การมหาชนต่อสำนักงาน ก.พ.ร. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 (เรื่อง ขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน) และคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แล้ว
สถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NBDI) ที่จะจัดตั้งขึ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการและประชาชน กล่าวคือ ทำให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น Thailand 4.0 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างเป็นเอกภาพ รวมทั้งทำให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงานรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายของประเทศและการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินโครงการ เช่น โครงการ Health Link เป็นโครงการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาทั่วประเทศ เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติการรักษา ทำให้มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านประวัติการรักษาข้ามโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกปลอดภัยให้กับการดูแลสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางสำหรับการขอประวัติการรักษา ลดค่าบริหารจัดการเอกสารของโรงพยาบาล โครงการ Travel Link ระบบบริการข้อมูลอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว เป็นการรวบรวมชุดข้อมูลการท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น แหล่งท่องเที่ยว ที่พักแรม การเดินทางโดยสารสาธารณะ โดยเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ในการต่อยอดในการพัฒนาระบบบริการข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว อันเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลให้บริการข้อมูลแก่ผู้ประกอบการที่จะช่วยธุรกิจท่องเที่ยวในการวางแผนหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านการศึกษา เพื่อนำมากำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการดูแลเรื่องการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ในแผนงานระยะ 5 ปีจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว แรงงาน และยุติธรรม รวมไปถึงการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลข้ามสาขา (Agenda-based) และเป็นการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านข้อมูลของประเทศ
ที่มา - เว็บไซต์รัฐบาลไทย