ในงาน AWS re:Invent 2022 นอกจากเราจะได้พูดคุยกับคุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ เรื่องการเปิดรีเจี้ยนของ AWS ในประเทศไทยแล้ว เรายังได้พูดคุยกับ Emmanuel Pillai หัวหน้าฝ่ายเทรนนิ่งและการสอบรับรองของ AWS ประจำภูมิภาคอาเซียน (Head of AWS Training and Certification for ASEAN) เกี่ยวกับทิศทางการเพิ่มทักษะด้านคลาวด์ให้แรงงานในประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมกับการใช้คลาวด์ที่จะเพิ่มมากขึ้นในประเทศ ตอบรับการเข้ามาเปิดรีเจี้ยนในประเทศไทยของ AWS
Emmanuel อยู่ในตำแหน่งนี้มานาน 3 ปีแล้ว โดยประจำอยู่ที่สิงคโปร์ เขาดูแลด้านการเทรนนิ่งโดยโฟกัสกับชาติอาเซียนโดยเฉพาะ ซึ่งเขาระบุว่าจากการศึกษาเมื่อปี 2021 พบว่ามีแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากถึง 86 ล้านคนต้องได้รับการ reskill หรือก็คือการเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อเปลี่ยนสายงาน เฉพาะในสิงคโปร์ก็มีถึง 6 แสนคนที่ต้อง reskill เพื่อตามให้ทันนวัตกรรมใหม่ๆ โดย AWS ก็ทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ให้กับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กอายุ 12-14 ปี, นักศึกษา ไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่อยู่ในสายงานไอทีอยู่แล้วแต่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานด้านคลาวด์ และผู้ที่อยู่ในสายงานอื่นเลย เช่นการเงิน แต่สนใจเปลี่ยนมาทำงานสายไอที (แม้แต่ตัว Emmanuel เองก็เรียนจบมาทางด้านเคมี แต่ก็ย้ายมาทำงานใน AWS ได้) โดยล่าสุด AWS ได้อบรมแรงงานไปแล้วกว่า 7 แสนคนเฉพาะในอาเซียน
เขาระบุว่า AWS จะลงทุนในประเทศไทย 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.75 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะทำงานร่วมกับภาครัฐ, ภาคเอกชน ไปจนถึงสถาบันการศึกษา โดยเขายกตัวอย่างการร่วมมือระหว่าง AWS กับกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่ง AWS ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าจะอบรมเจ้าหน้าที่รัฐราว 1,200 คนเพื่อให้รัฐบาลไทยเริ่มใช้คลาวด์ได้เร็วขึ้น และเขายังยกตัวอย่างว่าในอินโดนีเซียที่ AWS เปิดรีเจี้ยนไปเมื่อปี 2019 ก็ได้อบรมแรงงานชาวอินโดนีเซียไปแล้วกว่า 3 แสนคน ซึ่ง AWS ก็เล็งจะทำอย่างเดียวกันกับประเทศไทย แต่ยังไม่มีการประกาศเป้าหมายออกมาว่าจะอบรมเป็นจำนวนเท่าไร
นอกจากนี้ยังมีโครงการ AWS Academy ที่มีบทเรียนฟรีเปิดให้อาจารย์และครูเข้ามาดึงเนื้อหาไปใช้ในหลักสูตรได้เลย โดยในประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาจำนวน 15 แห่ง เช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหิดล, เกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมโครงการ AWS Academy แล้ว (รายชื่อสถาบันการศึกษาทั้งหมด)
AWS ยังมีเนื้อหาบทเรียนสำหรับเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง โดยขณะนี้มีวิดีโอกว่า 30 เรื่องที่เป็นภาษาไทย และ AWS เล็งจะเพิ่มเนื้อหาภาษาไทยให้มากขึ้นในอนาคต ซึ่ง Emmanuel ยกตัวอย่างว่า AWS มีวิดีโอบทเรียนกว่า 500 เรื่องที่เป็นภาษาเกาหลีและจีน
เมื่อถูกถามว่า AWS ตั้งเป้าจะเพิ่มทักษะด้านไหนเป็นพิเศษบ้าง Emmanuel ก็ตอบว่าจากการศึกษาโดย AlphaBeta เห็นว่าทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดสูงสุด 5 อย่าง เกี่ยวข้องกับคลาวด์ไปแล้ว 3 อย่าง คือทักษะในการใช้เครื่องมืออย่าง CRM และ Spreadsheet อีกอย่างคือทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และอย่างสุดท้ายคือทักษะการไมเกรตจาก on-premise ไปคลาวด์ ซึ่ง AWS ก็ตั้งเป้าจะเพิ่มทักษะในด้านเหล่านี้ รวมถึงหัวข้อที่ลงลึกไปอีก เช่น AI/ML และการวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ AWS ก็ยังเตรียมการสอบรับรอง (Certification) ไว้ด้วยเพื่อเป็นการวัดผลที่เป็นรูปธรรม รวมถึง AWS ยังมีเนื้อหาสำหรับผู้ทำงานแต่ละสาย เช่น Solution Architect ก็จะมีหลักสูตรที่เหมาะสมไว้ให้ อีกทั้ง AWS ก็ยังมี Cloud Quest ที่เป็นเกมให้ผู้เล่นเข้ามาทำเควสเรียนตามเส้นทางที่สนใจ และในงาน re:Invent ปีนี้ได้เปิดตัว Industry Quest เพิ่มมา โดยเป็นหลักสูตรสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมแรกที่เปิดตัวคือด้านบริการทางการเงิน (FSI – Financial Service Industry)
Emmanuel ระบุว่าในอาเซียนยังมีช่องว่างทางทักษะด้านดิจิทัลอยู่อีกมาก โดยผู้ที่ทำงานสายเทคโนโลยี 85% เคยเข้าร่วมการอบรมในสายงานตนเองในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา แต่แรงงานฝั่งที่ไม่ได้อยู่สายเทคโนโลยีกลับเคยเข้าร่วมอบรมเพียง 45% เท่านั้น แต่หากคนกลุ่มนี้ได้รับการอบรม 90% จะบอกว่ามีโอกาสได้งานมากขึ้น ซึ่ง AWS ก็ต้องการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างด้านทักษะเหล่านี้
นอกจากนี้ AWS ยังดำเนินโครงการ re/Start ในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ โดยนำผู้ว่างงานหรือผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลาจากนอกสายงานเทคโนโลยีเข้ามารับการอบรมทักษะคลาวด์เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พร้อมช่วยหาผู้จ้างงานด้วย ผลคือแรงงานเหล่านี้ได้งานใหม่ถึง 90% เลยทีเดียว
AWS ยังมีแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์อีกตัวที่ได้รับความนิยมสูงคือ Skill Builder โดยมีคอร์สฟรีให้เรียนกว่า 500 หลักสูตร แต่หากต้องการทำแล็บ, เข้าคอร์สเตรียมสอบใบรับรอง, เล่นเกม AWS Industry Quest ที่เพิ่งเปิดตัว และอื่นๆ ต้องสมัครสมาชิกเดือนละ 29 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,000 บาท) หรือปีละ 299 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,500 บาท)
Emmanuel กล่าวว่าปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับการอบรมเพิ่มทักษะในภูมิภาคอาเซียนคืออินเทอร์เน็ตที่อาจจะไม่ทั่วถึงนักในพื้นที่ห่างไกล ซึ่ง AWS ก็ทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาอินเทอร์เน็ตด้วย ส่วนความท้าทายอีกอย่างคือการที่นายจ้างต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง แต่กลับไม่ค่อยลงทุนเพิ่มทักษะให้แรงงานมากเท่าที่ควร AWS จึงอยากเรียกร้องให้ทั้งนายจ้างและภาครัฐทำงานร่วมกันเพื่อลงทุนเสริมสร้างทักษะให้แรงงาน อีกทั้งยังมีความท้าทายในแรงงานที่รู้ว่าตนเองยังขาดทักษะ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ซึ่ง AWS ก็มีหลักสูตรที่ทำมาเป็น role-based หรือก็คือหลักสูตรสำหรับแต่ละสายงานวางเป็นขั้นให้ว่าสายงานนี้ควรเรียนอะไรบ้าง
Emmanuel กล่าวปิดท้ายว่าสำหรับประเทศไทยที่ AWS กำลังจะเปิดรีเจี้ยนและตั้งเป้าลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการเพิ่มทักษะต่างๆ ที่มีในประเทศอื่นจะเข้ามายังประเทศไทยแน่นอน